วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

ธรณีกันแสง

 ธรณีกันแสง

มีหนังอินเดียรุ่นแรก ๆ เรื่องหนึ่ง  ชื่อเป็นภาษาไทยว่า  ธรณีกันแสง  เนื้อเรื่องติดจะเว่อร์ตามสไตล์หนังยุคนั้น  ว่าด้วยเรื่องของครอบครัวชาวนาที่ต้องผจญกับภัยธรรมชาติสารพัดสารพัน  ทั้งนาแล้งนาล่ม  ต้องไปกู้เงินเศรษฐีหน้าเลือดมาต่อทุน  พอทำนาได้  เกี่ยวข้าวเสร็จเจ้าหนี้ก็มาขนข้าวไปจนหมดไม่มีเหลือแม้แต่จะกินเอง  เรียกได้ว่ารันทดสุด ๆ

ใครได้ดูหนังเรื่องนี้  จะต้องเกลียดไอ้เจ้าหนี้หน้าเลือด  สงสารครอบครัวชาวนา  และอาจเกิดความตระหนักกับสภาวะลูกหนี้  ทำให้คิดหลายตลบ  ก่อนจะตัดสินใจก่อหนี้

คนที่มีหนี้สิน  ไม่ว่าจะหนี้เวรหนี้กรรม  หรือหนี้ทรัพย์สินเงินทอง  ถือว่าไม่ได้เป็นไทแก่ตัว  ถึงจะหมดสมัยทาสนานแล้ว  แต่การเป็นหนี้ก็ไม่ต่างจากการเป็นทาส

ไปอ่านกฏหมายตราสามดวงก็จะรู้ว่า  นายทาสก็คือเจ้าหนี้  เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถใช้เงินคืนให้ได้  ก็ต้องเป็นทาสให้เขาใช้แรงงานแทนใช้เงิน  นายทาสจึงเรียกว่า  เจ้าสิน  หรือนายเงิน  ส่วนทาสก็ถูกกำหนดสถานะให้เป็นเหมือนทรัพย์สิน  เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าสินเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  เจ้าสินจะทำอะไร  ร้ายดีอย่างไรก็ได้

ถ้าโชคดี  เจ้าสินมีเมตตาก็ดีไป  แต่ถ้าไปเจอเจ้าสินโหด ๆ ก็ถูกกดขี่ข่มเหงสารพัดสารพัน  ใครก็ไม่อาจยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือได้  จะไปร้องแรกแหกกระเชอขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหน  มูลนิธิอะไร  ก็หมดสิทธิ์  ต้องก้มหน้ารับสภาพไปจนกว่าจะมีปัญญาหาเงินมาไถ่ถอน  หรือจนกว่าจะตาย

ในวรรณคดีไทย  อย่างเรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนที่ขุนไกรพ่อพลายแก้วถูกประหาร  ครอบครัวลูกเมียต้องถูกริบราชบาตรไปเป็นทาสหลวง  นางทองประศรีก็กลัวการตกเป็นทาส  พาลูกหนีหัวซุกหัวซุน  ลำบากอย่างไรก็ขอไปตายเอาดาบหน้า

ส่วนตัวละครที่ชีวิตพลิกผันให้กลายเป็นทาส  เช่น นางอมิตดา  ที่ต้องรับสภาพหนี้แทนพ่อแม่  กลายเป็นภรรยาทาสของชูชกขอทานชราร่างร้าย  ถูกเพื่อนบ้านดูถูกดูหมิ่นต่าง ๆ นานา  หรือนางแก้วกิริยา ลูกสาวเจ้าเมืองสุโขทัยที่ต้องกลายเป็นทาสในเรือนขุนช้าง  เพราะพ่อสร้างหนี้แล้วไม่มีปัญญาใช้  แม้จะไม่รันทดเท่าไหร่  แต่ก็นับเป็นตัวอย่างของคนที่พ่อแม่สร้างหนี้  แล้วลูกต้องมาชดใช้แทน


เรื่องของการเป็นหนี้เป็นสิน  ใช้เงินเกินตัว ไม่ใช่ค่านิยมของสังคมไทยแต่ดั้งเดิม

สังคมไทยมีคำสอนคำเตือนเรื่องการประหยัด  เช่น  เก็บเล็กผสมน้อย  เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน  เบี้ยสามบาทอย่าให้ขาดชายพก  รวมทั้งคำกลอนสอนใจ  เช่น  มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท  อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์  มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง  อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน

และไม่ให้หวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  มองไม่เห็น  เช่น  ชี้นกบนปลายไม้  ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก  ไม่เห็นกระรอกก่งหน้าไม้  สร้างวิมานในอากาศ ฯลฯ

มาถึงยุคนักธุรกิจสมัยใหม่  เกิดค่านิยมใหม่  เรื่องการใช้เงินของอนาคต  คือเงินที่ยังไม่มี  และก็ไม่แน่ว่าจะมี  แต่กู้เอามาใช้่ก่อน  มองโลกด้านบวกๆๆๆ ว่าทุกอย่างจะเป็นอย่างที่ฝัน  ลงทุนแล้วจะได้แต่กำไรๆๆๆ กลายเป็นเศรษฐี  หมดหนี้หมดสิน

และไม่ยอมมองด้านลบแม้แต่เพียงสักแว่บเดียวว่า  มันอาจไม่เป็นอย่างที่คิด  สถานการณ์อาจเปลี่ยนไป  ลงทุนแล้ว  อาจต้นทุนหาย  กำไรหด  ดอกเบี้ยบานเบิก  ไม่มีปัญญาผ่ิอนใช้  แล้วเจ้าหนี้หน้าเลือดจะมาทวงถาม  บังคับขู่เข็ญให้ใช้คืน  ไม่มีก็ต้องดิ้นรนขวนขวายตะเกียกตะกายหา  ทำงานเท่าไหร่ก็กลายเป็นของคนอื่นไปจนหมดจนสิ้น  เหมือนชาวนาน่าสงสารในหนังธรณีกันแสง  ยังไงยังงั้น


ผลการสำรวจสภาพหนี้ของคนไทยปัจจุบันจึงพบว่า  คนไทยมีหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นพรวด พราด  ส่วนการออมมีอยู่น้อยนิด

คนไทยเริ่มเคยชินกับการกู้ยืม  ใช้เงินของอนาคต

ตอนเรียน  กู้กองทุนยืมเงินมาเรียน  นั่นก็พอมีเหตุมีผล

เริ่มทำงาน  เริ่มก่อหนี้  สารพัดบัตรเครดิตยั่วให้ใช้เงินเกินตัว  สถาบันเงินกู้ประชาสัมพันธ์แข่งกันให้กู้

ตามมาด้วยนโยบายรถคันแรก  บ้านหลังแรก  ทั้งแจกทั้งแถม  เร่งเร้าให้ก่อหนี้กันเอิกเกริก

ยังไม่สะใจ  ต้องกู้กันทั้งแผ่นดิน  ระดับชาติก็เลยกู้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง  ด้วยจำนวนเงินมากมายมหาศาล  และระยะผ่อนหนี้ยาวนานถึงครี่งศตวรรษ

ช่วยให้คนไทยกลายเป็นทาสน้ำเงินอย่างทั่วถึง  และยาวนานเกือบตลอดชาติ

ไม่ว่าใครก็ย่อมรู้ว่า  ระบบเงินกู้ไม่ว่าที่ไหน  ยิ่งเงินมาก  ระยะเวลานาน  ดอกเบี้ยยิ่งบานสะพรั่งท่วมทับทวีไม่รู้จักกี่เท่าต่อกี่เท่า

ประเทศใหญ่ ๆ ที่ใช้เงินเกินตัวจนไม่มีใครให้กู้  กำลังจะล้มละลายขายประเทศให้เห็นตัวอย่างกันอยู่ตำตา

ยิ่งคิดก็ยิ่งสะท้อนใจ

อนาคตคนไทยยุคทาสน้ำเงิน  ที่ต้องแบกรับสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว  อาจใกล้เคียงธรณีกันแสงภาคสอง








วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

นิมิตพิสดาร

นิมิตพิสดาร

กรุงเทพเมืองฟ้าอมร  ชักจะร้อนหนักหนาสาหัสขึ้นทุกที

สาเหตุตามที่เขาว่าก็เพราะโลกร้อน  ส่วนสาเหตุที่โลกร้อนก็เพราะคนช่วยกันทำให้ร้อนด้วยวิธีการต่าง ๆ เลยยิ่งนับวันก็จะยิ่งร้อนขึ้นเรื่อย ๆ
และสาเหตุที่คนยังทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ   ก็เพราะความเห็นแก่ตัว  ความต้องการที่ยิ่งนับวันยิ่งทวีขึ้น  ยั้งไม่หยุด  ฉุดไม่อยู่

เมื่อก่อนนี้  ประเทศไทยมีสามฤดู  และฤดูกาลต่าง ๆ ก็น่าจะคงเส้นคงวา  เพราะยังมีถ้อยคำสำนวนไทย ๆ ที่บ่งบอกฤดูกาลที่เปลี่ยนไป เช่น  ลมโยกข้าวเบา  ลมว่าว  ฝนชะช่อมะม่วง  ฝนเดือนหก หรือ เดิือนสิบเอ็ดน้ำนอง  เดือนสิบสองน้ำทรง  พอเดือนอ้ายเดือนยี่  น้ำก็รี่ไหลลง ฯลฯ

มาถึงสมัยนี้ ดินฟ้าแปรปรวน  บางวันมีสามฤดู  ทั้งร้อน  หนาว  ฝน

ยิ่งไปกว่านั้น  ดีกรีความร้อนยิ่งนับวันยิ่งร้อนหฤโหด  จนมีคนบอกว่าอีกหน่อย  เมืองไทยคงจะมีแค่สองฤดู  คือ  ร้อน  กับร้อนชิบ...

ทำให้ย้อนคิดไปถึงเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา  ที่กล่าวถึง "นิมิตพิสดาร"  คือลางบอกเหตุ  ที่จะเกิดขึ้นก่อนสิ้นพุทธศาสนาว่า
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม
มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น
มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด
จะวิบัติทั่วทั้งสากล


นอกจากนั้น "นิมิตพิสดาร" ก็ยังปรากฏให้เห็นในบรรดาผู้คน  ที่ประพฤติวิปริตผิดแผกไปจากที่เคยเป็น  เช่น

คนชัี่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก
จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ
นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าอันน้อยจะถอยจม

สังคมไทยแต่ดั้งเดิม  เป็นสังคมที่ค่อนข้างจะมีระเบียบแบบแผน  ยกย่องให้เกียรติผู้หลักผู้ใหญ่  นับถือคนที่สูงกว่าด้วยชาติวุฒิ  คุณวุฒิ  และวัยวุฒิ  นับถือคนดีมีศีลธรรม  เมื่ออะไร ๆ เป็นไปตามระเบียบแบบแผน  สังคมก็สงบรุ่มเย็น

แต่ถ้าอะไร ๆ มันวิปริตผิดประหลาดไปจากที่ควรจะเป็น  ไม่ว่าจะเป็นทำชั่วแล้วได้ดี  หยาบหยามคนที่ไม่ควรหยาบหยาม  ยกย่องคนที่ไม่ควรยกย่อง  ก็เชื่อกันว่าเป็นอาเพศ  ซึ่งเป็นลางร้าย  สิ่งที่จะติดตามมาก็คือผลร้ายๆ  ซึ่งในเพลงยาวพยากรณ์  กล่าวถึงเหตุร้ายที่จะตามมา  ก็คือ

กรุงประเทศราชธานี
จะเกิดกาลกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล
จะสาละวนทั่วโลกทั้งหญิงชาย
จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์
จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์มากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย
ฝูงคนจะล้มตายกันเป็นเบือ

"กาลกุลี"  หรือ "ยุคมืด" ที่ว่านี้ ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะล่ม  ว่ากันว่ามีปรากฏให้เห็นอยู่เหมือนกัน

แล้วท้ายที่สุด  กรุงศรีิอยุธยา  ซึ่งเคย "...เกษมสุข  แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์"  ก็กลายเป็น "เมืองแพศยาอาธรรม์  นับวันจะเสื่อมสูญเอยฯ " ไปตามคำพยากรณ์

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา  หลายคนเคยอ่านเคยได้ยิน  แต่มักไม่ค่อยเก็บมาคิดอะไรมาก  นอกจากจดจำบางคำบางตอนเอาไว้ค่อนขอดคนเล่น  เช่น  "กระเบื้องเฟื่องฟูลอย" เพราะเป็นสิ่งที่ชักจะเห็นกันอยู่บ่อย ๆ

ความจริง  ตำราพยากรณ์  หรือตำราหมอดู  หลายต่อหลายตำรามาจากการเก็บสถิติ  ไม่ว่าจะเป็นโหงวเฮ้ง    ฮวงจุ้ย  ตำรานรลักษณ์ ฯลฯ  เหมือนที่ชาวบ้านก็สังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติ  จนสามารถพยากรณ์ได้ว่า  ถ้ามีปรากฏการณ์อย่างนี้อย่างนั้น  ต่อไปจะเป็นอย่างไร  เช่น  ฟ้าแดง  ก็จะเกิดพายุใหญ่  มดขนไข่ฝนจะตก ฯลฯ อะไรทำนองนั้น

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา  แม้จะระบุว่าเป็นการพยากรณ์พระพุทธศาสนา  แต่รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุอาเพศต่าง ๆ ก่อนจะสิ้นพระศาสนา  ก็เข้าเค้ากับความเชื่อเรื่องโชคลาง  เหตุอาเพศ  ที่กล่าวถึงไว้ในตำราอื่น ๆ

ซึ่งถ้าจะว่าไป  ของมันก็เห็น ๆ กันอยู่

ถ้าดินฟ้าอากาศมันวิปริต  พืชพันธุ์ธัญญาหารก็ย่อมเสียหาย

ถ้าผู้คนทำอะไรที่ผิดทำนองคลองธรรม  ประเภทของดีว่าเน่า  ขี้เต่าว่าหอม  กลับผิดให้เป็นถูก ฯลฯ บ้านเมืองก็ย่อมเดือดร้อน

ไม่ว่าจะกรุงศรีฯ หรือกรุงไหน ๆ  จะศักราชห้าพัน  หรือสองพันห้าร้อย
ก็คงไม่พ้น "กาลกุลี" หรือ "ยุคมืด" ตามคำพยากรณ์













วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

ฟังเขาว่า....

ฟังเขาว่า...

สำนวนไทยที่ว่า "ฟังหูไว้หู" หรือ  "พกหินดีกว่าพกนุ่น" นับว่ายังไม่ล้าสมัย  เพราะทุกวันนี้  เรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์เกินจริงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา  มีเพียงสินค้าบางประเภทเท่านั้น  ก็ยังควบคุม  ห้ามโฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริง  แต่ส่วนใหญ่แล้วต้องยอมรับว่า  เกินไปมากกกก...

เช่นเดียวกับการยกย่องยกยอปอปั้นกันสุดฤทธิ์สุดเดช  ก็กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาอีกเหมือนกัน

ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ  จะคิดอะไรยังไง ก็สุดแต่วิจารณญาณของแต่ละคน

มีวรรณคดีเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นมุมกลับของการโฆษณา  คือแทนที่คนฟังจะพลอยหลงใหลได้ปลื้ม  กลับหมั่นไส้เอาเสียอีก  ก็คือเรื่อง กนกนคร

เรื่องกนกนคร  กล่าวถึงพญากมลมิตร ตัวเอกของเรื่อง  ซึ่งเป็นเทวดาขี้โม้  หลงใหลได้ปลื้มศรีภรรยา  คือนางอนุสยินี  เที่ยวคุยฟุ้งให้ใครต่อใครฟังว่า  ภรรยาของตนนั้นสวยเลิศเลอเพอร์เฟ็ค  จนบรรดาเทวดานางฟ้าทั้งหลายพากันหมั่นไส้  แกล้งยุให้ไปยั่วฤาษีให้ตบะแตก

ซึ่งผลก็ปรากฏว่า  ฤาษีตบะไม่แตก  แต่พญากมลมิตร  กับนางอนุสยินี  ถูกสาปให้ลงมาเกิดเป็นมนุษย์  ชดใช้ความอหังการ์เสียหนักหนาสาหัส

ทั้งนี้ทั้งนั้น  ก็เพราะความขี้โอ่ขี้อวดของคุณสามีสุดที่รัก  กับคุณภรรยาสุดเลิฟ

สังคมไทยแต่ดั้งเดิม  ไม่นิยมคนขี้โอ่ขี้อวด  อย่างในสุภาษิตโคลงโลกนิติก็เปรียบเทียบคนโอ้อวดว่า เหมือนแมลงป่อง "ชูแต่หางเองอ้า  อวดอ้างฤทธี"

ส่วนสุภาษิตพระร่วง  ไม่ได้กล่าวถึงคนขี้โม้  แต่ก็มีคำสอนสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับการยกย่องยกยอเอาไว้  ทำนองว่าให้เป็นไปตามฐานานุรูป  คือ
"ยอครูยอต่อหน้า ยอข้าเมื่อแล้วกิจ ยอมิตรเมื่อลับหลัง"

อรรถาธิบายได้ว่า  ถ้าจะยกย่องครู  ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงแค่ครู  แต่รวมความไปถึงบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายก็ควรยกกันต่อหน้านั่นแหละ  เพราะมีแต่ได้กับได้ ผู้ใหญ่ก็ย่อมปลื้ม เกิดความเมตตา  ประเภท "เป็นผู้น้อยค่อยก้มประนมกร  ชเลียร์ไว้ก่อนจะสบายเมือ่ปลายมือ"  อะไรทำนองนั้น

ส่วนข้าคือคนรับใช้  ถ้าอยากชม  ต้องรอให้ทำงานเสร็จ  มีผลงานปรากฏเสียก่อน  เพราะถ้าชมตั้งแต่งานยังไม่เสร็จ  อาจเหลิงได้ใจ แถมงานออกมาไม่เอาไหน น่าเสียดายคำชม

สำหรับเพื่อนเกลอเพื่อนกันนั้น การยอต้องมีเทคนิคกันนิดหน่อย  ยอต่อหน้าอาจหาว่าแกล้งพูดเล่น แต่ถ้าชมลับหลังแล้วเสียงสะท้อนมาจากปากคนอื่นว่าเราชมเขายังงั้นยังงี้ เป็นปลื้มกว่ากันเยอะ

ที่สำคัญคือ  การชมลูกเมีย  คนสนิทชิดใกล้  ยิ่งต้องระมัดระวัง  สุภาษิตพระร่วงสอนว่า
"ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ เยียวสระเทินจะอดสู"

แปลว่า ลูกเมียตัวเองน่ะ จะปลื้มซะขนาดไหนก็เก็บไว้ปลื้มกันเอง อย่าเที่ยวไปสรรเสริญเยินยอยกย่องให้ใครเขาฟังว่าดียังงั้นเก่งอย่างนี้ สวยเหลิอเชื่อ ฉลาดเหลือรับประทาน เพราะคนขี้อิจฉา ขี้หมั่นไส้ก็มีอยู่มากมาย  เขาฟังแล้วอาจไม่ปลื้มด้วย  แถมอิจฉา  หมั่นไส้  เหมือนในเรื่องกนกนครนั่นแหละ

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ   มีการอธิบายแถมไว้ว่า  "เยียวสระเทินจะอดสู" แสดงให้เห็นความรอบคอบ มองการณ์ไกลไปโน่น  ก็คนยังไม่ตาย อะไรๆมันก็ไม่แน่ วันนี้ดูว่าดีเลิศประเสริฐศรี พรุ่งนี้มะรืนนี้อาจไปทำอะไรที่ตรงข้าม ประเภทฉลาดอยู่ดีๆ เผลออีกทีโง่เหลือเชื่อ ทีนี้ก็หน้าแตกเย็บไม่ติด คนก็คงจะสมน้ำมะหน้ากันไปทั่ว

ท่านจึงสอนไว้ว่าถ้าอยากจะสรรเสริญก็อดใจรอเอาไว้ให้ตายเสียก่อน ให้ชัวร์ๆว่าไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าๆโง่ๆ หรือเลวๆ แล้วค่อยสรรเสริญรวบยอด ถึงจะสายไปหน่อย แต่ก็เชื่อถือได้ คนฟังก็คงไม่คิดจะริษยา หรือหมั่นไส้อะไรแล้ว

มาถึงสมัยนี้  อะไร ๆ เปลี่ยนไปเยอะ

นักจิตวิทยาออกมาบอกว่า  ให้ขยันชมกันหน่อย  จะได้มีกำลังใจ  จะดีจริงไม่ดีจริงก็อย่าไปคิดอะไรมาก  แค่คำชมไม่ได้ซื้อหามาแต่ไหน  หรือประเภทรางวี่รางวัล  พอให้กันได้ก็ให้กันไปให้ทั่ว ๆ ใครมีอะไรต้องอวดต้องโชว์  จะเก็บไว้แบบ "คนไม่เห็น  เทวดาน่าจะเห็น"  เอาเข้าจริง  คนก็ไม่เห็น  ส่วนเทวดาเห็นหรือเปล่าก็ไม่รู้

ก็เลยกลายเป็นว่า  ไม่ว่าใคร  ที่ไหน ก็เลยโอ่อวดประกวดประชัน  เรียกได้ว่าเป็นยุคของคนอวดดี  ใครมีดีต้องอวดให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก

ทำอะไรสักนิดสักหน่อย  ก็ต้องป่าวประกาศให้ประชาชาติได้รับรู้  มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานกันเอิกเกริกทุกวงการ ตั้งแต่ระดับประเทศมาจนถึงรถเข็นขายเกี๊ยวบะหมี่ ก็ต้องโฆษณาสรรพคุณเอาไว้ก่อน จริงไม่จริงค่อยพิสูจน์กันทีหลัง

คนรับสารสมัยนี้จึงต้องรู้จักใช้กระชอนกรอง  เลือกว่าอะไรจริงไม่จริง  เชื่อได้มากน้อยแค่ไหน

ไม่อย่างนั้น  อาจจะหลงใหลได้ปลื้ม  ว่าเมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนา  เรามีรัฐบาลที่รักประชาชนมากมายเหลือเชื่อ  มีบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์  อีกหน่อยประเทศเราจะไม่มีคนจนอีกต่อไปแล้ว  แต่จะเหลือคนดีสักกี่คนไม่แน่ใจ  ไม่ว่าสินค้าอะไร  สถานที่ไหน ๆ อะไร ๆ ก็ดูดีไปหมด

รวมทั้งการศึกษาไทย  ก็ช่างก้าวหน้าสถาพร  แต่ละสถาบันก็ยกป้ายประกาศศักดา ล้วนแต่ดีเด่น  ยอดเยี่ยมไร้เทียมทาน  น่าส่งลูกหลานไปเรียนมันเสียทุกแห่ง  เรียนจบออกมาจะได้ดีเกินกว่าจะเป็นคน...  อะไรทำนองนั้น

ก็คงไม่ต้องทำตัวเป็นคนขี้หมั่นไส้ใครต่อใคร  เหมือนบรรดาเทวดาในกนกนคร
เอาเป็นว่า  ถึงตอนนี้  คงต้องใช้วิชาคณิตศาสตร์ให้มาก ๆ หน่อย  ฟังเขาว่า  ก็หารสักห้าสิบ

เหลือแค่ไหน  ก็คงแค่นั้นแหละ









วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

ลวกๆ

ลวกๆ


การปรุงอาหารให้สุกเร็ว ๆ ง่าย ๆ มีคำใช้อยู่สองคำ  คือ ลวก กับ สุกเอาเผากิน  หมายถึงทำให้พอกินไ้ด้  อาหารจะสุก ๆ ดิบ ๆ รสชาติเป็นยังไง  ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก

ทั้งสองคำนี้กลายมาเป็นสำนวนที่หมายถึง  การกระทำแบบเอาง่ายเข้าว่า  ผลที่ออกมาจะมีคุณภาพต่ำเตี้ยแค่ไหนไม่ต้องคำนึงถึง

ต่างจากการ อบ,รม หรือ เคี่ยว  ซึ่งเป็นวิธีการปรุงอาหารที่ประณีต  ต้องใช้เวลาทำให้อาหารสุกทั่วอย่างช้า ๆ เพื่อให้อาหารมีรสชาติดี  นุ่มนวล  มีกลิ่้นหอม

สองสามคำหลังนี้  มักนำมาใช้กับการศึกษา  เรียกว่า  การศึกษาอบรม

เมื่อสมัยที่การศึกษายังไม่เป็นระบบ  คนมักส่งลูกหลานไปเป็นลูกศิษย์วัด  หรือไปอยู่ประจำในสำนักอาจารย์ ที่มีความรู้  ความประพฤติดี  เพื่อให้ได้แบบอย่างที่ดี  ได้เรียนรู้  ได้รับการอบ,รม,เคี่ยว  จนซึมซับรับแบบอย่างอาจารย์  เป็นที่มาของการเรียกศิษย์  ว่า ลูกศิษย์  คือเลี้ยงดูอบรมเหมือนลูก  ส่วนครูก็กลายเป็น แม่พิมพ์  หรือต้นแบบ

ไม่ว่าครูผู้ชาย หรือผู้หญิง  ก็เป็นแม่แบบ  แม่พิมพ์  ไม่มีคำว่าพ่อพิมพ์เหมือนอย่างที่วิปริตผิดเพี้ยนกันไป

คนที่ผ่านการ อบ,รม และ เคี่ยว มาเป็นอย่างดี  กิริยาวาจา  ท่าที  จะสะท้อนให้เห็นตัวตนว่าได้รับการศึกษาอบรมมาดี

ส่วนแบบลวก ๆ  สุก ๆ ดิบ ๆ ที่เห็น ๆ กันอยู่ทุกวันนี้  ก็สะท้อนเหมือนกัน  สะท้อนว่า  ถึงแม้จะได้รับการศึกษา  แต่ก็น่าจะหย่อนการอบรม

กระแสอาเซียนที่กำลังโหมกระหน่ำ  และการปรับเปลี่ยนวิธีการศึกษาอบรมแต่เก่าก่อน  มาเป็นการรีบเร่งให้ความรู้แบบอุตสาหกรรมการศึกษา  ให้ความรู้แบบลวก ๆ  สุกเอาเผากิน  ดูลุกลี้ลุกลน

ไม่สนใจสร้างแม่พิมพ์ดี ๆ ให้เด็ก  กลับยกย่องเชิดชู  ลุงกู, ครูตู้,ครูคอมฯ เป็นปรมาจารย์

 แถมยังลดเวลาที่ครูคน ๆ จะ อบ,รม, เคี่่ยว ลูกศิษย์ให้น้อยลงไปเรื่อย ๆ

ไม่ต้องใช้โพลอะไรสำรวจ  ก็เห็นแนวโน้มอนาคตเด็กไทย  ศิษย์ครูตู้,ครูคอมฯ

เร่งรีบ  เร่งด่วน  สุก ๆ ดิบๆ
คุณภาพใกล้เคียงอาหารฟาสต์ฟู้ดเข้าไปทุกที

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

บ่วง

บ่วง...



ระยะนี้มีละครประเภทเจ้ากรรมนายเวร  บ่วงนั่น  บ่วงนี่  ติดตามจองล้างจองผลาญข้ามชาติข้ามภพมานำเสนอกันหลายต่อหลายเรื่อง  ล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นว่า คนเราที่เกิดมารักกัน  เกลีียดกัน  ฆ่ากัน ฯลฯ  ก็ล้วนแล้วแต่มีกรรมสัมพันธ์กันมา  แรงกรรมจึงเป็นแรงดึงดูดให้ต้องกลับมาพบกัน  เพื่อเรียกร้องชดใช้กันไม่รู้จบ

มีนิยายจีนเรื่องหนึ่ง  เล่าถึงลูกหนี้เศรษฐีซึ่งไม่มีปัญญาหาเงินมาใช้หนี้  ก็เลยอ้อนวอนขอไปใช้หนี้เอาชาติหน้า

คนหนึ่งก็สัญญาว่า  จะไปเกิดเป็นม้าให้ใช้่ลากรถลากเกวียน  อีกคนหนึ่งก็สัญญาว่าจะไปเกิดเป็นวัวควายให้ใช้ทำไร่ไถนา

มีอยู่คนหนึ่งที่สัญญาว่า  จะไปเกิดเป็นพ่อ  ซึ่งทำให้เศรษฐียัวะสุดๆ

แต่เจ้าลูกหนี้ก็อรรถาธิบายให้คลายโกรธว่า  การเป็นพ่อนั่นแหละ  เป็นการใช้หนี้อย่างหนักสุด  เพราะสารพัดที่จะต้องทำเพื่อลูก  ตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลก  ยอมอดให้ลูกอิ่ม ยอมเหนื่อยให้ลูกสบาย ฯลฯ เหนื่อยยิ่งกว่าเป็นวัวควายม้าลาเป็นไหนๆ

แนวคิดนี้  เป็นแนวคิดในพุทธศาสนา  ซึ่งเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด  เหมือนในชาดก  พระพุทธเจ้าก็เสวยพระชาติเป็นอะไรต่อมิอะไรนับพันชาติ  แต่ละชาติก็มีคนที่ไปเกิดร่วมชาติหน้าเดิม ๆ ทั้งคู่บุญคู่กรรม  คนอุปถัมภ์  คนตามล้างตามเช็ด  อย่างพระนางยโสธราพิมพา  ก็ตามไปเกิดเป็นคู่กันทุกชาติ  ส่วนพระเทวทัต  ก็ตามเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันมาจนถึงชาติสุดท้าย

ความเชื่อกฏแห่งกรรม  อย่างน้อยก็ช่วยยับยั้งคนไม่ให้ทำชั่วมากนัก  เพราะกลัวกรรมจะตามทัน

ในโอวาทสี่  เมื่อสี่เหลี่ยวฝานนอนหลับฝันว่าไปเจอยมบาล  ได้เห็นว่าตนทำความชั่วไว้มากมาย  ทำดีแค่นิดเดียว  แต่เมื่อยมบาลนำความดีความชั่วมาชั่ง  ปรากฏว่ากรรมดีกลับมีน้ำหนักมากกว่าความชั่ว

ยมบาลได้อธิบายว่า  เพราะสี่เหลี่ยวฝานเป็นข้าราชการ  ได้ทำความดีเพื่อช่วยเหลือผู้คน  แม้กรรมดีนั้นจะมีแค่นิดเดียว  แต่มีผลต่อคนหมู่มาก  จึงได้บุญมาก

ก็เลยคิดถึงคนที่ทำกรรมไว้กับคนมากมาย  เป็นต้นว่าบรรดาข้าราชการทั้งประจำและการเมือง  ที่ตั้งหน้าตั้งตาทุจริตคิดมิชอบ  โกงกินกันสะบั้นหั่นแหลกทุกวันนี้  โดยไม่คำนึงว่าเงินเหล่านั้นเป็นเงินของแผ่นดินที่มาจากภาษีอากรของประชาชน

กรรมที่กระทำต่อคนหมู่มาก  น่าจะให้ผลกรรมหนัก

ว่าที่จริงในไตรภูมิพระร่วง พรรณนาเรื่องบุพกรรม  ว่าทำกรรมอะไรจะต้องตกนรกขุมไหน  ใครได้อ่านก็จะรู้ว่า  มีขุมนรกรองรับคนที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง  กดขี่ข่มเหงประชาชน  ยุยงคนให้เกลียดชังแตกแยก  ฯลฯ อยู่หลายขุม  มีโทษทัณฑ์ทรมานพิลึกพิลั่น  เตรียมรับคนพวกนี้ไว้พร้อมสรรพ

แต่เห็นจำนวนคนที่อหังการทำบาปทำกรรมกันขนานใหญ่ทุกวันนี้แล้วออกเป็นห่วง

น่ากลัวขุมนรกจะกลายเป็นชุมชนแออัดเสียก็ไม่รู้