วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อะไรอยู่ในครัว

ข้าว เป็นอาหารหลักคู่ครัวคนไทย  ไม่มีอะไรก็ขอแค่ให้มีข้าวสารกรอกหม้อ

ลองมารู้จักครัวแบบไทย ๆ กับวิธีการทำให้ข้าว  กลายเป็นอาหารหลากหลาย ในปริศนาคำทาย  ว่าด้วยเรื่องข้าว

กรรมวิธีหุงข้าว

ตะลุ่มจุ่มจู๋  มีหูที่ปาก (หม้อข้าว)

มีปากไม่มีฟัน  กินข้าวทุกวันได้มากกว่าคน (หม้อข้าว)

นั่งอยู่บนกองฟอน  ถูกไฟร้อน  หัวร่อคลั่ก ๆ (หม้อข้าวเดือดบนเตาไฟ)


คุดคู้อยู่ในดิน  เวลาจะกินต้องเอาไม้สอย (ข้าวในหม้อดิน  ต้องเอาทัพพีตักจากหม้อ)

ไอ้แดงแทงไอ้ดำ  ไอ้ขาวร้องไห้  น้ำลายเป็นฟอง (หม้อข้าวบนเตาไฟ  ไอ้แดงแทงไอ้ดำ คือ กองไฟที่อยู่ใต้ก้นหม้อข้าว  ไอ้ขาวคือข้าวที่กำลังเดือด)

หัวร่อคลั่ก ๆ ในคอ  อยู่บนตอไฟลน (หม้อข้าวเดือดบนเตาไฟ)

โตเท่าแขน  แพ่นเข้าไปใต้ตอ  ชักออกมาดำ  ตำเข้าไปแดง  นอนตะแคงน้ำไหล (ใ่ส่ฟืนในเตา  รินน้ำข้าวจากหม้อ)

นางสองนางเดินทางร่วมกัน  พอมาถึงบ้านแยกทางกันเดิน (หุงข้าวแบบเช็ดน้ำ  พอข้าวเดือดก็รินน้ำข้าวออก)

ล่างหินบนหิน  ชอบกินแต่ข้าว เคี้ยวเอา ๆ จนป้อนไม่ทัน (โม่)


ข้าวหลาม  กรรมวิธีหุงข้าวอีกแบบหนึ่ง

กลม ๆ ปานกลึง  กระแทกสามตึง  เรือนโย้เรือนไหว (ข้าวหลาม)

กลม ๆ ดั่งกลึง  จะกินก็ยาก  กระเทือนปากตึง ๆ (ข้า่วหลาม)

ตัดโคน ทอนปลาย  ใส่ข้่าวเผากิน (กระบอกข้าวหลาม)

ฉีกควาก  ปากบาน (ข้าวหลาม)

มะพร้าวข้าวสารคลุก  เข้าไปสุกในไม้ไผ่ (ข้าวหลาม)

หุงข้าวด้วยกระบอก  ไม่ผ่าออกไม่ได้กิน (ข้าวหลาม)

สารพัดขนม  จากข้าวและแป้ง

ลงน้ำนุ่งผ้า  ขึ้นมาล่อนจ้อน (ข้าวต้มมัด  นุ่งผ้าคือห่อด้วยใบตอง)

ลูกอยู่ข้างใน  ใบอยู่ข้างนอก  จะให้แน่นต้องใช้ตอก (ข้าวต้มมัด  ปกติจะมีใส้กล้วยอยู่ข้างใน  ใบกล้วยหรือใบตองห่อข้างนอก  ใช้เส้นตอก คือไม้ไผ่จักเป็นเส้นบาง ๆ แทนเชือกมัด  ก่อนนำไปต้มให้สุก)

สองพี่น้อง  ประคองกอดกัน  กระโจนลงน้ำ (ข้าวต้มมัด)



คว่ำอันหงายอัน  ดันกันหน้าเละ (ขนมครก)

ชื่อเป็นปลา  ตัวเป็นขนม  นอนจมอยู่ในหม้อ (ขนมปลากริม)


ตลิ่งพัง  ตาหรั่งขุด  น้ำไหลไม่หยุด  จระเข้โผล่ (ขนมจีน  วิธีทำคือเจาะกะลาให้เป็นรู  เอาแป้งผสมน้ำใส่ให้ไหลออกตามรูลงกะทะ  พอสุกเส้นขนมจีนจะลอยขึ้นเปรียบเป็นจระเข้โผล่จากน้ำ ต้องจับรวบขึ้นจากน้ำ  ลักษณนามของขนมจีน  จึงเรียกว่า จับ)




ตัวอยู่ในนา  หน้าอยู่ในน้ำ (ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง)

ตัวอยู่ในนา  หน้าอยู่บนยอดไม้ (ข้าวเหนียวมะม่วง)

ตากแดดสด  รดน้ำเหี่ยว (ข้าวตอก  เวลาตากแห้งจะบาน  แต่พอเอาน้ำใส่จะเหี่ยว)


พระรามลงสรง (ลอดช่องน้ำกระทิ  ลอดช่องส่วนมากใส่น้ำใบเตยให้มีสีเขียว  จึงเปรียบเป็นพระราม)


หัวแหลมท้ายแหลม  ล่องลอยในมหาสมุทร  มนุษย์ชมว่าอร่อย (ลอดช่อง)


มะลิลอยฟ้า  จรกาลงสรง (ข้าวเหนียวถั่วดำ  ข้าวเหนียวสีขาวเหมือนมะลิ  ส่วนถั่วดำ เปรียบว่าดำเหมือนจรกา)

ขึ้นต้นกินได้  ลงท้ายใช้จุด (ขนมเทียน)

ชื่อเหมือนของใช้  จุดไฟสว่าง (ขนมเทียน)

คนก็ไม่ใช่  สัตว์ก็ไม่ใช่  แต่มีไส้อยู่ตรงกลาง (ขนมใส่ใส้)


มีงาตั้งพัน  แทงฟันไม่เข้า (ข้าวเกรียบงา)

มีสองหน้า  มีงาเต็มตัว (ข้าวเกรียบงา)



ไม่ใช่ช้าง  ไม่ใช่ม้า  มีงารอบตัว (ข้าวเกรียบงา)

หุบเท่้าจาน  บานเท่ากระด้ง (ข้าวเกรียบว่าว)

หลายหลากมากชั้น  หวานมันกินดี (ขนมชั้น)

ปริศนาคำทาย  ที่มีคำเฉลยหลายอย่าง

สุกในดินกินได้  สุกในไม้กินอร่อย (ข้าวสวย,ข้าวหลาม  ข้าวสวยสุกในหม้อดิน  ส่วนข้าวหลามสุกในไม้ไผ่)


สุกกินไ้ด้  ไหม้กินดี  สุกสองทีกินอร่อย (ข้าว  ข้าวตัง  นางเล็ด   ข้าวสวยที่เหลือก้นหม้อ  นำมาทำเป็นแผ่นตากแห้ง  เป็นข้าวตัง  นำข้าวตังมาทอด  โรยน้ำตาลเคี่ยวกลายเป็นขนมนางเล็ด  คำว่า เล็ด  ก็คือเมล็ด)

สุกแคะ สุกขัง สุกคารัง สุกคารู (ขนมครก  ขนมถ้วย  ขนมรังผึ้ง  ข้าวหลาม  เป็นปริศนาที่บรรยายกรรมวิธีทำขนมในภาชนะที่ต่างกัน  ขนมครกเวลาสุกต้องแคะจากเต้า  ขนมถ้วยต้องนึ่งในรังถึง หรือ ซึ้ง  ขนมรังผึ้ง  ใช้พิมพ์รูปร่างเหมือนรังผึ้ง  ส่วนข้าวหลามอยู่ในรูไม้ไผ่)

กรรมวิธีปรุงอาหารแบบไทย ๆ คุ้นตาคนไทยในอดีต  จนนำมาเป็นปริศนา  พอเฉลยก็ร้อง อ๋อ...

แต่ปัจจุบัน  ไม่แน่ใจว่าจะมีคนไทยสักกี่คนเคยทำ  หรือแม้แต่  เคยรู้  เคยเห็น  ขนาดเฉลยแล้วก็อาจจะยังงง ๆ เพราะวิถีชีวิตคนไทยวันนี้  คุ้นเคยกับอาหารสำเร็จรูปในห่อ ในซอง  ฯลฯ วางเรียงรายอยู่ในร้าน

ก็เก็บมาเล่า  สืบสานภูมิปัญญาไทยกันไว้สักนิด  ให้รู้ว่า  เมื่อสมัยที่ยังไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า  เตาไมโครเวฟ ฯลฯ ชาวบ้านเขาก็มีปัญญาทำอะไรต่อมิอะไรได้เยอะแยะ


และเตือนใจว่า  ให้ยังไง ๆ คนไทยก็คงยังต้องกินข้าวอยู่ดี  เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าปัญหาเรื่องข้าว  เป็นเรื่องเล็ก  หรือไม่ใช่เรื่องของเรา

เรื่องข้าวนี่  เรื่องของเราเต็ ๆ เลยเชียวละ  จะบอกให้
















วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปริศนา...น่าคิด


อะไรเอ่ย....

การเล่นทาย  อะไรเอ่ย...หรือปริศนาคำทาย  เป็นการฝึกสมองทดลองปัญญา  ช่วยพัฒนาสมอง

ปริศนาคำทายในอดีต  สะท้อนเรื่องราววิถึชีวิตของคนในสังคม  ผ่านภูมิปัญญาทางภาษา  หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยปรากฏในปริศนาคำทาย  กลายเป็นเรื่องไกลตัวเมื่อยุคสมัยเปลี่่ยนไป

ข้าว และวิถีชีวิตชาวนาไทย  ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นเด่นชัดในปริศนาคำทาย

มารู้จักปริศนาคำทายที่สะท้อนเรื่องราวของข้าว  และวิถีชีวิตชาวนาในอดีตกัน

รูปลักษณ์ของข้าว

ต้นเท่าก้อย  ใบย้อยถึงดิน  เก็บเม็ดมากิน  หวาน ๆ มันๆ  (ต้น และเมล็ดข้าว)

หน้าแล้งอยู่ถ้ำ  หน้าน้ำอยู่ทุ่ง  (หน้าแล้งข้าวอยู่ในยุ้ง  หน้าฝนข้าวอยู่ในนา)



สภาพท้องนา  และวิธีการทำนา  ความร่วมมือร่วมแรงของคน กับควาย

คันอะไร  ไม่ต้องเกา  (คันนา)

แปดตีนเดินหน้า  สิบห้าลบรอย (ควายสองตัวลากคราดในนา  รอยคราดลบรอยตีนควาย)

แม่น้อยลูกมาก  พาลูกตกยาก  ลุยน้ำลุยโคลน  (ควายลากคราดในนา  ลูกคือฟันคราด)

สิบตีนยันธรณี  สามหางยาวรี  สี่เขาชี้ฟ้า  (คน กับควายสองตัวไถนา  สิบตีนคือตีนควายสองตัวกับตีนคน  สามหางคือหางควาย  กับหางไถ  สี่เขาก็คือเขาควาย)

เหวีียงหางฟาด  ขี้ราดเต็มทุ่ง (คนไถนา  คนเหวี่ยงหางไถ พลิกดินตามหลังรอยไถเหมือนกองอุจจาระ)

สามเศียร สิบบาทา  โยกย้ายไปมา  ขู่เคี่ยวคำราม (คนไถนา  หัวคนกับหัวควายสองตัวรวมเป็นสาม  เท้าคนกับเท้าควายรวมเป็นสิบ )

ไอ้ใบ้เดินหน้า  ไอ้บ้าตามหลัง  ไอ้ไม่รู้อยู่กลาง (คนไถนา  ไอ้ใบ้คือควาย  ไอ้บ้าคือคน  ไอ้ไม่รู้คือไถ)

จับหางขี้ไหล (คนไถนา  จังหางไถพลิกดินในนา)

ลิงหลังโกง  มาลงกลางนา  ไม่เดินหน้า  แต่เดินถอยหลัง (คนดำนา)

ตาแก่หลังโกง  เดินโทงๆ กินข้าวหมดทุ่ง (เคียวเกี่ยวข้าว  โค้งเหมือนหลังคนแก่)

ยายแก่หลังขด  กินหญ้าหมดทุ่ง (เคียวเกี่ยวข้าว)

ยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม (หุ่นไล่กา)

อ้วนเป็นกระปุก  ลุกไม่ขึ้น ( กองฟาง)

อ้วนกระปุ๊กลุก  มีกระดูกซี่เดียว (กองฟาง  มีไม้ปักเป็นหลักตรงกลาง)


กรรมวิธี  และเครื่องไม้เครื่องมือจากภูมิปัญญาไทย

ยิ่งถากยิ่งกว้าง  (ลานนวดข้าว)

กลมเหมือนพระจันทร์  ดันพุงสาว ๆ (ผู้หญิงฝัดข้าว)

กลมแบนสองแขนดันพุง (กระด้งฝัดข้าว)

วิ่งจี๋ ๆ ขี้ใส่กระจาด (เครื่องสีข้าว)

นั่งขัดสมาธิ  ขี้ราดเต็มตูด (เครื่องสีข้าว)



รูอะไรไม่ใหญ่ไม่เล็ก  ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็ก  ชอบตำหนักหนา (ครกตำข้าว)

นกยางหลา่ยร้อย  มีรอยตีนเดียว (สากตำข้าว )

เจ้าขาวนอนในปลัก  คนไม่ผลักไม่ลุกขึ้น (ข้าวในครกตำข้าว)


สังคมเกษตรกรรมในอดีตที่สะท้อนอยู่ในปริศนาเหล่านี้  คงไม่อาจย้อนกลับคืนมาให้เห็นกันได้อีก  นอกจากบันทึกไว้ในความทรงจำ  ว่า  กาลครั้งหนึ่ง...นานมาแล้ว  เขาทำนากันอย่างนี้แหละ

หลายสิ่งเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ทุกวันนี้ ควาย  หุ่นไล่กา  หมดบทบาทในท้องนา หรือแม้แต่ชาวนาไทย  ก็เปลี่ยนไปเยอะ  ประเภทหลังสู้ฟ้า  หน้าสู้ดิน  ขี่ควายร้องเพลงกลางทุ่ง  คงเหลืออยู่แต่ในหนังละครย้อนยุค

สมัยก่อน  ไม่มีเรื่องการรับจำนำข้าว  การรมยาฆ่าแมลง  และการแข่งขันกันอุตลุดในตลาดโลก  เรื่องเหล่านี้เป็นปริศนาของคนยุคนี้

ปริศนายุคก่อน  มีคำเฉลยที่เข้าทีเข้าท่า  พอเฉลย  คนก็ร้อง  อ๋อ...

แต่ปริศนาเกี่ยวกับข้าวสมัยนี้  ไม่มีคำเฉลย  หรือไม่ก็  เฉลยแล้ว  คนอาจร้อง..ไอ๊หยา...