วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แม่ศรีเรือน



คนไทยแต่ไหนแต่ไร  มีเอกลักษณ์เรื่องการสรรกินโดดเด่นเป็นพิเศษ  จนมีคำกล่าวล้อเลียนว่า "การกินการอยู่ใครไม่สู้พ่อ  การพายการถ่อพ่อไม่สู้
ใคร"

ผู้หญิงต้องมีเสน่ห์ปลายจวัก  ที่ว่ากันว่าจะทำให้ "ผัวรักจนตาย"

ส่วนผู้ชายที่โชคดีมีภรรยาเป็นแม่ศรีเรือน  ว่ากินดีอยู่ดี  ชนิด "ก้นถึงฟาก  ปากถึงข้าว" คือนั่งลงปุ๊บก็ได้กินปั๊บ

คุณสมบัติแม่ศรีเรือน  เรือนสามน้ำสี่  ได้แก่  เรือนกาย  เรือนผม  เรือนบ้าน  ต้องสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ  ส่วนน้ำสี่  ก็ได้แก่  น้ำมือ  หมายถึงฝีมือปรุงอาหาร   น้ำคำ  คือพูดหวานขานเพราะ  น้ำท่า  คือน้ำดื่มที่ต้องมีไว้พร้อมเสมอ  และน้ำใจเอื้อเฟื้อ  ดูแลห่วงใยคนรอบข้าง

เรื่องของน้ำมือ  ถือว่าเป็นคุณสมบัติเด่น  ใตรจะหาภรรยาหาสะใภ้  ก็ดูกันตรงฝีมือหุงหาอาหาร  ระดับแค่ชาวบ้าน  ก็ยังกล่าวไว้  เช่นในเพลงพื้นบ้านเล่าถึงกระบวนการปรุงอาหารบ้านๆ ว่า

"จะหุงบ้าวไว้เผื่อ  จะต้มมะเขือไว้ท่า  ทำขนมจีนสักสองกระป๋อง  ทำลอดช่องสักสองกะลา..."

นางอมิตดาลูกสาวพราหมณ์ตกยาก  ภรรยาสาวน้อยของชูชกก็มีฝีมือในการหุงหาอาหารหลากหลาย  ตอนที่ชูชกจะเดินทางไปขอสองกุมาร  นางอมิตดาก็ตระเตรียมเสบียงไว้พรักพร้อม  ซึ่งกวีแต่ละถิ่นแต่ละภาคก็บรรยายเสบียงของนางอมิตดาไว้ต่างๆ ทั้งของสดของแห้ง  อะไรกินก่อนก็จัดวางไว้ข้างบน  อันไหนจะเก็บไว้กินทีหลังก็เอาไว้ข้างล่าง

ส่วนระดับชาววังไม่ต้องพูดถึง  อ่านกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานก็รู้ว่าประดิษฐ์ประดอยกันขนาดไหน

แม้แต่นางจันทร์ แม่ของสังข์ทอง  ที่เป็นชาววังตกยากก็ช่างประดิษฐ์ประดอยจนเป็นนิสัย  ตอนที่ระเหเร่ร่อนไปเป็นนางวิเสท  หรือคนครัวอยุ่ในวัง  สงสัยว่าพระสังข์คือลูกชายที่พลัดพรากจากกันไป  ก็อุตสาหะแกะสลักชิ้นฟักเป็นเรื่องราว  ตามที่ว่า "ชิ้นหนึ่งทรงครรภ์กัลยา  คลอดลูกออกมาเป็นหอยสังข์..." แกะเป็นเรื่องเล่าประวัติตั้งแต่พลัดพรากจนเที่ยวติดตามหา  ทำเป็นแกงจืดไปถวาย  พระสังข์เห็นชิ้นฟักแกะสลักก็เลยรู้ว่าเป็นมารดา  เรียกได้ว่าฝีมือแกะสลัก...สุดยอดดด  ขนาดต้มเป็นแกงจืดแล้วยังไม่เละ...


ส่วนที่เน้นรสชาติ  และไม่ได้เก่งคนเดียว  แต่เก่งทั้งตำบล  เห็นจะไม่พ้น "แม่ครัวหัวป่าก์" ซึ่งบรรดาแม่ครัวชาวบ้านทำอาหารถวายรัชกาลที่ ๕ สมัยเสด็จประพาสต้น  ฝีมือต้มแกงแต่ละอย่างล้วนเลิศรส  เป็นที่เล่าลือ  จนภายหลัง  ท่านผู้หญิงเปลี่่ยน  ภาสกรวงศ์  ได้รวบรวมมาพิมพ์เป็นตำราอาหารตำรับแม่ครัวหัวป่าก์  ถ้าเป็นสมัยนี้ก็กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมไปแล้ว

ยุคสมัยเปลี่ยน  ผู้คนก็เปลี่ยน  คนที่ตำบลหัวป่าก์  ไม่รู้ยังทำอาหารอร่อยอยู่หรือเปล่า

แต่ความคิดความนิยมเกี่ยวกับแม่ศรีเรือน  เสน่ห์ปลายจวัก  หายหกตกหล่นไปจากสังคมไทยแทบไม่มีเหลือ  แม่ศรีเรือนหายไป  กลายเป็น "เม่สีเรือน" คือนอนเป็นงานหลัก  คนมีเสน่ห์ปลายจวักกลายเป็นเชฟทั้งชายหญิงที่ร่ำเรียนกันเป็นการเป็นงาน  ประดับประดาข้าวปลาอาหารเป็นงานศิลป์  พร้อมที่จะผลักดันครัวไทยไปครัวโลก

รสนิยมของคนกิน  เปลี่ยนจากการ "ลงครัว" ไปเร่ร่อนเที่ยวชิมอาหารรสเลิศที่โน่นที่นี่  พร้อมกับอัพภาพขึ้นเฟส  อวดเพื่อนฝูงว่าได้ไปกินอาหารอร่อยหรูหรา  ฝีมือคนอื่นทั้งน้านนน..


เรือนสามน้ำสี่  ปัจจุบัน  เรือนกาย  เรือนผม  ดูจะโดดเด่น  ส่วนเรือนบ้านเดาเอาว่าคงไม่ค่อยเวลาดูแลสักเท่าไหร่  ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องทุ่นแรงเยอะแยะแล้วก็เถอะ

ส่วนน้ำสี่  ดูท่าจะแห้งขอด  ทั้งน้ำมือ  น้ำคำ  น้ำท่า  ส่วนน้ำใจไม่รู้ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน

สรุปว่าแม่ศรีเรือนก็กลายเป็นประวัติศาสตร์  ยุคสมัยเปลี่ยน  อะไรๆ ก็เปลี่ยน...


  

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สู่อาเซียน

ตื่นเต้นระทึกขวัญกันไม่น้อยสำหรับการเตรียมตัวเตรียมใจ  เตรียมรับการเปิดประตูสู่อาเซียน  ทำเอาคนขวัญอ่อนเริ่มกินไม่ได้นอนไม่หลับ  นึกไม่ออกบอกไม่ถูกว่าถึงเวลาเปิดประตูกันจริง ๆ แล้วจะเป็นยังไง  ไทยจะตั้งรับอย่างไร  สับสนวุ่นวายกันไปทุกวงการ

ลองตั้งสติคิดทบทวนย้อนกลับไปสู่อดีตกาล  ไทย  พม่า  ลาว  เขมร ฯลฯ มีถิ่นฐานใกล้ชิดติดกัน  อยู่ร่วมกันฉันมิตรบ้างศัตรูบ้าง  ก็ถ่ายทอดวัฒนธรรมกันไปมานับเป็นพันปี  จนภาษาไทยมีทั้งคำศัพท์ที่มาจากเขมร  พม่า  ชวา  มลายู ฯลฯ เยอะแยะ  แถมยังไปไกลถึงอินเดีย  จีน ฯลฯ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ยาลี  สันสกฤต  ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อภาษามาตั้งแต่ไหนแต่ไร  ก็ว่ากันว่าพวกพราหมณ์นำมาจากอินเดียโน่น  ราชาศัพท์ทั้งหลายทั้งปวง  ก็เป็นอิทธิพลของเขมรเสียตั้งครึ่งตั้งค่อน


ลองสแกนไปทางวรรณกรรม  ก็อีกนั่นแหละ  ต้นตำรับร้อยกรองประเภทฉันท์ก็มาจากอินเดียอีก  คำศัพท์ที่อ่านยากอ่านเย็นจนคนรุ่นนี้ตัดญาติขาดมิตรไม่ยอมทำความรู้จัก  ย้อนประวัติไปก็มาจากอินเดีย  เขมร  เสียเป็นส่วนใหญ่  ถ้าลำพังภาษาไทยแท้ก็มีแต่คำโดด  ด้วนๆ ห้วน ๆ ไม่วิจิตรบรรจงเหมือนที่ไปขอหยิบขอยืมเขามาหรอก  ใช้ไปใช้มาก็กลายเป็นภาษาไทยไปตั้งนมนานแล้ว  ถือเป็นความงอกงามทางภาษาเสียด้วยซ้ำ


วรรณคดีเรื่องใหญ่ ๆ ก็ของพี่ไทยแท้เสียเมื่อไหร่  รามเกียรติ์น่ะ  อินเตียล้วนๆ ราชาธิราชก็มาจากมอญ  พม่า  สามก๊กก็จีนเต็ม ๆ  ส่วนอิเหนาก็ของชวา  หรืออินโดนีเซียโน่น  ส่วนที่เป็นของไทยแท้ ๆ อย่างขุนช้างขุนแผน  ก็ยังมีหลายตอนที่เชื่อมโยงบ้านใกล้เรือนเคียง  อย่างลาวทองภรรยาขุนแผน  หรือสร้อยฟ้าภรรยาพลายงาม  ก็ล้วนมาจากเชียงใหม่  ถูกกล่าวขานดูถูกดูหมิ่นว่าเป็นลาวเป็นกาวดูต่ำต้อยน้อยหน้าจนกลายเป็นปัญหาใหญ่  แม้แต่พลายชุมพลปลอมตัวยกทัพมารบกับพี่ชายพลายงามก็ปลอมเป็นมอญ


หันมาทางดนตรี  บรรดาเพลงไทยเดิมที่ว่าเป็นมรดกไทยแท้ๆ แต่มีชื่อขึ้นต้นว่า  ลาว  เขมร  แขก  มอญ  จีน ฯลฯ มีอยู่เป็นกระตั้ก  เวลาบรรเลงก็มีสำเนียงออกไปทางชาติโน้นชาตินี้  เรียกว่าออก ๑๒ ภาษา  รวมทั้งเครื่องดนตรีไทย  ที่ชื่อเสียงฟ้องอยู่ชัดว่าเอามาจากชาติอื่น  ทั้งฆ้องมอญ  ปี่ชวา กลองแขก ฯลฯ

รวมทั้งชื่อหย่อมย่านบ้านเมืองในไทย  ก็มีทั้งบ้านมอญ  บ้านญวน  ข้านแขก ฯลฯ


ทั้งหลายทั้งปวงสะท้อนให้เห็นว่า  ถึงไม่เปิดประตูสู่อาเซียน  คนอาเซียนก็ไปมาหาสู่  แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาแล้ว  จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตื่นตระหนกตกใจอะไรไปมากมาย

โดยเฉพาะครูสอนภาษาไทย  ก็ไม่ต้องแตกตื่นโกอินเตอร์  สอนภาษาไทยบูรณาการอาเซียนให้วุ่นวาย

เอาพอสถานประมาณ  พิจารณาเรื่องราวอาเซียนที่สอดแทรกในภาษาไทย  กํบใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือเรียนรู้สู่อาเซียนให้กว้างขวางออกไปได้ก็เหลือกินเหลือใช้  อย่าได้ไปอุตริคาดหวังจะสอนภาษาไทยไปอาเซียน  หรือจะสอนภาษาอาเซียนมาไทย  จะสับสนวุ่นวายขายปลาชุ่อน  หลงทางกู่ไม่กลับ

เปิดประตูสู่อาเซียน  ก็แค่เปิดตา  เปิดใจ  ให้กว้างออกไปอีกหน่อย  แล้วก็จะได้เห็นโลกกว้างขึ้นอีกนิด

ยึดหลัก  ยึดรากความเป็นไทยเอาไว้ให้แน่นหนาสักหน่อยก็แล้วกัน
อย่าปล่อยให้ใครเขากลืนหายไปหมด

เอาอย่างบรรพบุรุษของไทย  ที่ฉลาดรับทุกอย่างมาเป็นของไทยอย่างเนียน ๆ แล้วท้ายที่สุดก็เป็นฝ่ายกลืนได้เรียบร้อย  เป็นมรดกวัฒนธรรมไทยไปหมดแล้ว...จริง ๆ