วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อริยสัจ

อริยสัจ


เมื่อสองพันหกร้อยปีมาแล้ว  เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงศึกษาวิจัย  เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิต  โดยสำรวจแนวทางจากสำนักอาจารย์หลายต่อหลายสำนัก  นำมาวิเคราะห์  สังเคราะห์  รวมทั้งมีการตั้งสมมติฐานและทดสอบด้วยการบำเพ็ญทุกรกิริยา  เมื่อรู้ว่าตั้งสมมุติฐานผิด  ก็หาแนวทางใหม่  จนท้ายที่สุดก็ค้นพบคำตอบ  คือหลักแห่งธรรมชาติ  ธรรมดา  ที่เรียกว่าสัจธรรม

ผลงานวิจัยชิ้นนี้มีค่าความเชื่อมั่นเต็มร้อย  ไม่ใช่เก้าสิบเก้าจุดเก้าเก้า  อย่างงานวิจัยทั่ว ๆ ไปที่ชอบกั๊กไว้เผื่อพลาด  และแม้จะผ่านกาลเวลามาถึงสองพันกว่าปี  ก็ยังไม่มีผลงานวิจัยอื่นใดมาหักล้าง  ไม่เหมือนผลงานวิจัยอีกบานตะเกียงที่ออกมาเผยแพร่กันเอิกเกริก  อีกไม่กี่วันก็มีวิจัยใหม่มาบอกว่าไอ้ที่ว่าไปก่อนหน้านี้  มันไม่ยักกะใช่

ต่างจากหลักของธรรมชาติ  ธรรมดา  ที่เจ้าชายสิทธัตถะค้นคว้าวิจัย  เช่น เรื่อง การเกิด แ่ก่ เจ็บ ตาย  เป็นสิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้  แม้แต่แวมไพร์  หรือคุณยายวรนาถ

ส่วนอริยสัจสี่  ที่ทรงนำมาขยายผลเป็นอันดับแรก  ก็คือแนวทางการวิจัย  ซึ่งว่าด้วยการทำความเข้าใจปัญหา  วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา  หาแนวทางแก้ไข  และลงมือแก้ไขให้สำเร็จ

แนวทางเดียวกันนี้  บรรดานักวิทยาศาสตร์  นักคิด นักประดิษฐ์ ฯลฯ อะไรต่อมิอะไร  ก็ใช้ในการศึกษา  และประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมทั้งหลายแหล่  ส่วนจะเรียกว่า  การวิจัย  หรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็สุดแต่จะเรียกกันไป

ตอนปฏิรูปการศึกษาเมื่อ สิบกว่าปีก่อนโน้น  มีแนวคิดให้ครูทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในชั้นเรียน  เป็นเหตุให้บรรดาคุณครูเกิดวิตกจริตกันไปต่าง ๆ นานา  ถึงขั้นเปลี่ยนเส้นทางชีวิตกันไปเยอะแยะ  ด้วยความคิดว่างานวิจัยนั้นหนักหนาสาหัสเกินกว่าจะแบกร้บไว้ได้

ในตอนนั้น  นักวิจัยมือโปรฯ ต้องพยายามดัดแปลง  ให้ทำวิจัยแผ่นเดียวหน้าตาน่าเอ็นดู  หลอกล่อให้หายกลัว  ก่อนจะค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไปเป็นวิจัยจริงจัง

คุณครูหน้าตาบ้องแบ๊วบางคน  เมื่อถูกเคี่ยวเข็นให้ทำวิจัย  ก็ทำท่าอับจนปัญญา  ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอะไรดี  ทั้ง ๆ ที่ปัญหาก็เจออยู่ทุกวี่ทุกวัน  สมควรไปตัดแว่นตาใหม่เป็นอันดับแรก  เพราะปัญหาสำคัญน่าจะอยู่ตรงสายตาสั้น  จนมองไม่เห็นปัญหาที่อยู่แค่ปลายจมูก

ความจริงอริยสัจ  หรือวิจัย  ก็คือการคิดแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล  และแนวคิดใหญ่ในพุทธศาสนาก็คือ   ทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ  เมื่อเหตุดับ  ทุกสิ่งก็ดับ

การแก้ปัญหาจึงต้องแก้ที่ต้นเหตุ

ชีวิตเป็นทุกข์  ถ้าไม่อยากทุกข์ก็อย่ามีชีวิต  คือไม่ต้องเกิด
ความรักเป็นทุกข์  ไม่อยากทุกข์ก็อย่ารัก  ง่าย ๆ แค่นี้แหละ

ปัญหาอะไรต่อมิอะไรที่มันอิรุงตุงนัง  ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งเหมือนลิงแก้แห   ก็เพราะไม่เข้าใจปัญหา

เป็นต้นว่า ปัญหาการศึกษาไทยที่ตกต่ำย่ำแย่  ผลสำรวจก็ออกมาขัดเจนว่าเป็นเพราะขาดครู  แถมครูที่มีอยู่ก็ไม่ค่อยเก่ง  สมมติฐานที่ควรทดสอบอันดับแรกก็คือ  เพิ่มครูเก่งเข้าไปในระบบ  แล้วดูซิว่า  การศึกษาจะดีขึ้นไหม

ที่ไหนได้  กลับกลายเป็นเพิ่มเทคโนโลยี  เพิ่มเงิน ฯลฯ ผลก็เห็น ๆ ว่า  ครูเงินเดือนเยอะขึ้นก็ไม่ได้เก่งขึ้น  เทคโนโลยีก็แทนครูไม่ได้  ปัญหาการศึกษาไทยก็ยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นทุกวัน

หรือปัญหาภาคใต้  อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้  ยิ่งนับวันคนก็ยิ่งเกลียดชัง  ตั้งหน้าจะฆ่ากันหนักขึ้นทุกที  ตอนแรกก็เจอผู้ยิ่งใหญ่สายตาสั้น  ประเมินว่า "แค่โจรกระจอก"  ซึ่งก็ผิดเต็มประตู  ต่อมาก็ว่า เรื่องแบ่งแยกดินแดน  ขัดแย้งทางศาสนา ฯลฯ  ไป ๆ มา ๆ ที่แท้ก็ไม่ยังไม่รู้  ก็แก้ด้วยเคอร์ฟิวส์บ้าง  จัดชุดคุ้มกันบ้าง ฯลฯ  แล้วก็ออกข่าวว่า  มาถูกทาง???

ก็ยังไม่รู้เลยว่าปัญหาอยู่ตรงไหน  แล้วจะพูดได้ยังไงว่า  มาถูกทาง

ประเภทตาบอดคลำช้าง  จับตรงส่วนไหนก็ไม่รู้  อนุมานเอาเองว่าช้างทั้งตัวมันเป็นอย่างนั้น
ไอ้ที่ว่ามาุถูกทาง  ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นทางหัว  ทางหาง  หรือทางไหนกันแน่

ปัญหานักการเมืองคอร์รัปชั่นยิ่งแล้วใหญ่  ก็เห็นกันชัด ๆ ว่าใครบ้างที่โกงบ้านกินเมือง  กลับไปแก้ที่เด็ก  อบรมกันยกใหญ่ให้โตไปไม่โกง  ทั้งๆ  ที่เด็กก็ยังไม่โต  ยังไม่ได้โกง

เพราะไม่มีปัญญาไปแก้ปัญหาที่สาเหตุ  ได้แต่ปัดเป๋เฉไฉไปเรื่อยๆ

ประเทศไทยก็เลยติดอันดับประเทศที่คอรัปชั่นมากขึ้นๆ  ยั้งไม่หยุด  ฉุดไม่อยู่

ส่วนปัญหาใหญ่มากของเมืองไทย  ที่หลายคนก็เห็นเหมือนกันว่า  เกิดขึ้นเพราะคนบางคนที่ถ้าไม่เกิดมา  ก็คงไม่มีปัญหา

ถ้าจะแก้กันที่ต้นเหตุ  คงต้องอาศัยไทม์แมชีนย้อนเวลาหาอดีต  ไปหาวิธีไม่ให้เกิด  ซึ่งก็คงยากเพราะจะเป็นการก้าวล่วงอำนาจพระพรหมท่านอีก

ก็คงต้องยอมรับกฏแห่งกรรม  เหตุเกิดแล้ว  ผลก็เกิดตามมาเรื่อยๆ  ไม่รู้จักจบจักสิ้น

ได้แต่รอว่า  เมื่อไหร่คนที่เป็นต้นเหตุจะดับไปเอง  ตามธรรมชาติ  ธรรมดา

ผลร้าย ๆ ทั้งหลายทั้งปวงจะได้พลอยดับไปด้วย




วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

นิยามความรัก

นิยามความรัก



วรรณคดี  เป็นคลังปัญญาของบรรดานักปราชญ์ราชกวี  มีเรื่องราวให้เก็บมาคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ได้บานตะเกียง  เป็นต้นว่า  เรื่องมุมมองความรักที่มีอยู่หลากหลาย

อย่างเรื่องเวนิสวาณิช  ตอนที่พระเอกนางเอกพบกัน  ก็มีคำถามถึงนิยามความรักผ่านเสียงดนตรีว่า
"ความเอยความรัก                    
เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน
เริ่มเพาะเหมาะกลางหว่างหัวใจ
หรือเริ่มในสมองตรองจงดี"
แล้วนักดนตรีก็ช่วยเฉลยเสร็จสรรพว่า
"เกิดเมื่อเห็นน้องน้อยอย่างสงสัย
ตาประสบตารักสมัครไซร้"      
 
ก็คือ รักแรกพบ  สบตาปุ๊บก็ปิ๊งทันที  อันนี้เขาตอนแทนพระเอกนางเอกตอนนั้น  คนอื่นไม่เกี่ยว

ส่วนพระอภัยมณี  ผ่านรักมาหลายครั้ง  ทั้งนางผีเสื้อสมุทร  นางเงือก  นางสุวรรณมาลี  แถมด้วยนางวาลี  แต่ก็ยังฝากรักกับนางละเวงเสียหวานเวอร์
"ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร    
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้หล้าสุุธาธาร        
ขอพบพานพิสวาททุกชาติไป"

หรือนางมัทนา  อีตอนกำลังสวีท ก็เปรียบเทียบความรักว่า
"อ้าอรุณแอร่มระเรื่องรุจี            ประดุจมโนภิรมย์รตี...
ณ แรกรัก"

นี่ก็เห็นความรักสวยงาม  สว่างไสว  ราวกับพระอาทิตย์แรกขึ้น  หวานเวอร์เหมือนกัน

ตรงข้ามกับฤาษีกาละทรรศิน  ซึ่งมองความรักของมัทนากับท้าวชัยเสน  อย่างคนที่เห็นโลกจนทะลุปรุโปร่ง  ก็เลยเปรียบเทียบความรักว่า
"ความรักเหมือนโรคา                บันดาลตาให้มืดมน
ไม่ยินและไม่ยล                         อุปสรรคะใดใด
ความรักเหมือนโคถึก                กำลังคึกผิขังไว้
ก็โลดออกจากคอกไป               บ ยอมอยู่ ณ ที่ขัง
ถึงหากจะขังไว้                          ก็ดึงไปด้วยกำลัง
ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง                         บ หวนคิดถึงเจ็บกาย"

คือเปรียบความรักทำให้ตาบอด  ยังแถมพิษวัวบ้าอีกต่างหาก

ทำนองเดียวกับรักของจินตะหรา ในเรื่องอิเหนา ที่เผลอใจไปรักคนมีเจ้าของ  พออิเหนากลับไปดาหา  ก็เลยต้องรำพึงรำพันว่า
"โอ้ว่าอนิจจาความรัก      
เพิ่งประจักษ์ดังสายน้ำไหล
มีแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป
ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา"


ส่วนขุนแผน  ยอดนักรักมืออาชีพ  ที่สมัยหนุ่ม ๆ ใช้ทุกวิถีทางเพื่อแย่งชิงความรัก   เมื่อผ่านทุกข์ผ่านสุข  สมหวังผิดหวัง  มาเป็นคุณพ่อ  ประสบการณ์ก็สอนให้สุขุมคัมภีรภาพขึ้น  เมื่อเห็นลูกชายบ้ารักเหมือนสมัยตัวเองยังหนุ่ม  ก็ยังเตือนพลายงาม  ว่า
"ลูกเอ๋ยเจ้าไม่เคยรู้รสร้าย      
เมื่อความรักกลับกลายแล้วหน่ายหนี
อันเจ็บปวดยวดยิ่งทุกสิ่งมี      
ไม่เท่าที่เจ็บช้ำระกำรัก"
นับว่าขุนแผนนี่  แก่ใช้ได้  ไม่ได้แก่เพราะกินข้าว  เฒ่าเพราะอยู่นาน  อย่างน้อยความคิดก็พัฒนาขึ้นเยอะ

ส่วนในเรื่องเงาะป่า  ซมพลา  ฮะเนา  ลำหับ  รักสามเส้าที่ตัวละครทั้งสามต้องจบชีวิตสังเวยความรัก  ก็สะท้อนมุมมองความรักแบบปลงอนิจจังไว้ว่า

"ดูดู๋ความรักนักหนาหนอ        
มาลวงล่อคนพาให้อาสัญ
ถึงสามศพสยบเรียงเคียงกัน  
ล้วนทาสรักทั้งนั้นอนาถใจ

นางเอกที่ค่อนข้างจะเป็นนักปรัชญา  และให้นิยามความรักไว้อย่างกิ๊บเก๋เท่กว่าใคร  ได้แก่ วาสิฏฐี  ที่เปรียบเทียบความรักแท้ว่า  รักของเจ้าหล่อนเปรียบได้กับสีดำเหมือนสีศอพระศิวะ  นั่นก็คือ  ความรักแท้ต้องอดทนต่อความทุกข์ยากเพื่อให้คนที่รักมีความสุข  เหมือนพระศิวะที่ยอมดื่มพิษเพื่อรักษาโลกไว้

เพิ่มคำอธิบายภาพ
แสดงให้เห็นว่า  ยายวาสิฏฐีนี่  รักแบบเผื่อใจ  ไม่ประมาท  ท้ายสุดเมื่อรักพลิกล็อค  แกก็เลยรับได้  ตรงข้ามกับกามนิตที่ขนาดฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าตั้งค่อนคืนก็ยังไม่ทะลุ  เพราะใจติดข้องอยู่กับความรักแบบโลก ๆ ต้องต่อให้อีกชาติหนึ่ง  ถึงมองเห็นสัจธรรม

ส่วนเรื่องรักที่ยิ่งใหญ่กว่าแบบหนุ่ม ๆ สาว ๆ รักกัน  เลิกกัน  ก็มีอยู่ในวรรณคดีหลายเรื่องหลายเล่ม  เป็นต้นว่า  พระราชนิพนธ์ของ ร.๖  ซึ่งพยายามปลุกใจให้รักชาติ  ที่คุ้น ๆ กันก็เช่น




"รักชาติยอมสละแม้     ชีวี
รักเกียรติจงเจตน์พลี    ชีพได้"

หรือ
"ชาติใดไร้รักสมัครสมาน          
จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล
แม้นชาติย่อยยับอับจน              
บุคคลจะสุขอยู่อย่างไร"

ส่วนพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ  ก็นิยามความรักที่ยิ่งใหญ่กว่าความรักของหนุ่มสาวไว้ในบทประพันธ์เรื่องเจ้าหญิงแสนหวีว่า



"ความรักอันใด            แม้รักเท่าไหน             ก็ไม่ยั่งยืน
เช่นรักคู่รัก                   แม้รักดังกลืน              ยังอาจขมขื่น              ขึ้นได้ภายหลัง
แต่ความรักชาติ           รักแสนพิสวาท           รักจนสุดกำลัง
ก่อเกิดมานะ                ยอมสละชีวัง              รักจนกระทั่ง                หมดเลือดเนื้อเรา
ชีวิตร่างกาย                เราไม่เสียดาย            ตายแล้วก็เผา
ทุกสิ่งยอมพลาด         เว้นแต่ชาติของเรา     ไม่ให้ใครเข้า               เหยียบย่ำทำลาย"

ความรักเป็นอารมณ์พื้่นฐานของมนุษย์  และก็เหมือนอย่างทฤษฎีของซิกมัน  ฟรอยด์  ที่ว่า  ความรัก  เป็นแรงขับที่ทำให้คนทำอะไรได้หลายต่อหลายอย่าง  ทั้งร้ายและดี

ชาติเราเป็นชาติอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้  ก็เพราะบรรพบุรุษของเรามีหัวใจรัก  และยอมเสียสละเพื่อปกป้องสิ่งที่รักไว้นี่แหละ

ไม่รู้เหมือนกันว่าลูกหลานไทย  จะยังมีหัวใจแบบนี้มากน้อยแค่ไหน



















วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รักมีระดับ

รักมีระดับ


๑๔ กุมภาพันธ์  วันแห่งความรัก  ราคาดอกกุหลาบพุ่งกระฉูด  ช็อกโกแลตขายดิบขายดี  เขตบางรักพลอยโด่งดัง ไม่เว้นแม้แต่โรงแรม  โรงเรียน  ชาวบ้านร้านตลาด ฯลฯ ก็พลอยมีกิจกรรมแจกจ่ายความรักกันให้เอิกเกริก

ก็ไม่รู้ว่าจะมีสักกี่คน  สนใจที่มาของวันแห่งความรัก  และรู้จักตำนานเซนต์วาเลนไทน์

ตำนานวันแห่งความรัก  ไม่ยักใช่เรื่องรักหวานของหนุ่มหล่อสาวสวย  แต่กลับกลายเป็นเรื่องรักของนักบวชกับสาวตาบอด  มิหนำซ้ำเรื่องโรแมนติกที่ว่านี้  เกิดขึ้นในคุก

ตามตำนานกล่าวว่า  นักบวชชื่อวาเลนตินัส  ถูกทรราชย์โรมันจับมาขังคุก  ส่วนความผิดนั้น  บางที่ก็ว่าเพราะขัดคำสั่งที่ห้ามนักบวชประกอบพิธีแต่งงาน  เนื่องจากคนแต่งงานแล้วมักจะห่วงครอบครัว  ไม่ยอมไปรบ  ส่วนบางแห่งก็ว่าเพราะเที่ยวเผยแพร่ศาสนาคริสต์  ซึ่งโรมันไม่ปลื้ม

สรุปว่าวาเลนตินัสก็ถูกจับมาขังไว้  แล้วระหว่างนั้นก็เผอิญได้สนิทชิดเชื้อกับหญิงสาวตาบอดลูกผู้คุม   ซ้ำร้ายท้ายสุด  เรื่องนี้ก็จบแบบเศร้า  คือวาเลนตินัสถูกประหาร

ตอนที่โรแมนติกสุด ๆ เห็นจะเป็นตอนก่อนตาย  คือวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์  วาเลนตินัสได้ฝากดอกไม้กับการ์ดไว้ให้สาวเจ้า  มีข้อความว่า "From  your Valentine"

ตรงนี้แหละ  ที่ทำให้กุหลาบกับการ์ดหวาน ๆ ขายดิบขายดี  ส่วนช็อคโกแลต  รวมทั้งขนมหวานสารพัดสารพัน  นัยว่าไม่เกี่ยวแต่อยากให้เกี่ยว  ก็เลยอ้างเอาความหวานมาเป็นจุดขาย  แถมทำเป็นรูปหัวใจอีกต่างหาก  ก็เลยเหมารวม ๆ กันไปได้

เรื่องวันวาเลนไทน์  สะท้อนมุมมองความรัก  ให้เห็นว่า  ความรักไม่เกี่ยวกับรูปกายภายนอก  เนื่องจากฝ่ายสาวก็ตาบอด  ไม่เคยเห็นว่านักบวชหนุ่มหล่อหรืออัปลักษณ์สักขนาดไหน  ส่วนวาเลนตินัสก็รักสาวเจ้าทั้ง ๆ ที่พิกลพิการ  ตาบอดนั่นแหละ

มันก็เลยซึ้งตรงนี้

ความรักเป็นหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์และสัตว์  และว่าตามทฤษฎีของซิกมัน  ฟรอยด์  ความรักก็เป็นแรงขับให้คนทำอะไรต่อมิอะไรได้สารพัด  ทั้งร้ายทั้งดี


ความรักขั้นต่ำเตี้ยที่สุดที่บรรดาเดรัจฉานก็มี  คือรักตัวเอง  สูงขึ้นมาอีกนิดก็รักพวกพ้อง  มากขึ้นอีกหน่อยก็เผื่อแผ่ความรักให้กับคนรอบข้าง  ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานของปุถุชนคนธรรมดา

แต่ถ้าจะให้สูงขึ้นกว่ามาตรฐานก็คือ  ต้องรักแม้แต่ศัตรู  ตามคติของศาสนาคริสต์

ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งความรักและให้อภัย  เป็นศาสนาที่สอนให้รักแม้แต่ศัตรู  ซึ่งแค่คิดก็ยากแล้ว  เพราะคนบางคนมันก็น่าเกลียดน่าชัง  ร้ายยังกับตัวโกงในละครน้ำเน่า  ใครจะไปรักลง

ยิ่งถ้าจะให้ทำตามคำสอนที่ว่า ถ้าเขาตบแก้มซ้ายให้เอียงแก้มขวาให้ตบอีกที..ละก็  เมินเสียเถอะ  มีแต่แค่เงื้อก็เจอสวน..

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงเป็นเพราะศาสนาคริสต์เกิดขึ้นท่ามกลางความเกลียดชัง  เพราะเป็นช่วงที่ทรราชย์โรมันกำลังบ้าอำนาจและใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงชาวบ้านชาวเมือง  สร้างความเกลียดชังฝังใจไปทั่ว  ก็เลยต้องพยายามลดความเกลียดในหัวใจคนลง  ถ้าสั่งสมแต่ความเกลียดๆๆ  ก็คงบ้าตายกันไปหมด

ส่วนศาสนาพุทธ ไม่ได้เกิดขึ้นท่ามกลางความเกลียด  แต่เป็นความรังเกียจเดียดฉันท์  เพราะเกิดในสังคมซึ่งมีการแบ่งแยกชนชั้นกันอย่างเด่นชัด คนเกิดมาอย่างไรก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น  คนวรรณะสูงก็ถือเนื้อถือตัว  คนวรรณะต่ำก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน  หมดโอกาสคิดทำอะไรให้ชีวิตดีขึ้น

แนวคิดของศาสนาพุทธจึงเน้นเรื่องลดช่องว่าง  สอนว่าสิ่งที่แบ่งแยกคนไม่ใช่ชาติกำเนิด  แต่เป็นการกระทำ หรือกรรม

แถมยังไม่เชียร์ให้รัก  แต่กลับสอนว่า "ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์"  เมื่อไม่อยากทุกข์ก็อย่ารัก

คำสอนในศาสนาพุทธจึังไม่มีรักหวานแหวว  มีแต่เมตตา  กรุณา มุทิตา  กตัญญู  กตเวทิตา

มองเผินๆ ก็เหมือนรัก  แต่เป็นรักที่มีความปรารถนาดี  และที่สำคัญคือ ไม่ยึดมั่นเป็นเจ้าของเจ้าของ  ซึ่งถ้าจะว่าไป  ก็สูงกว่ามาตรฐานปุถุชนคนธรรมดาอีกนั่นแหละ

ลองสังเกตดูให้ดี  เมื่อก่อนนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท  ให้คนไทย "รักสามัคคี"

เวลาผ๋านไป  คนไทยก็ยังไม่ค่อยรักกัน  แถมตีกันเละ  สาเหตุก็เนื่องจากอิทธิพลของความรักระดับเตี้ย  คือ  รักตัว รักพวกพ้อง

ตอนหลัง ๆ พระบรมราโชวาทก็เลยลดระดับลงมา  กลายเป็นว่าให้ "มีเมตตา"  แปลว่า  รักไม่ลงก็ไม่เป็นไร  แค่อย่าเกลียดกันก็พอ

คิดว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยก็อยากสนองพระราชดำรัส  แต่ก็...ยังทำใจยากอยู่ดี

อบ่างเรื่องคนทำผิดคิดร้ายสารพัด  แล้วจะขอนิรโทษกรรมเอาดื้อๆ

ต้องเหนือระดับปุถุชนแล้วละ  ถึงจะเมตตาให้อภัยกันง่าย ๆ

ส่วนระดับปุถุชนคนธรรมดา  มีแต่ภาวนาอยากให้กรรมตามทันเร็วๆ











วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คุรุเทพ

คุรุเทพ

ในบรรดาเทวดาที่คนไทยรู้จักมักคุ้น  นอกเหนือจากพระพรหม  พระอิศวร  พระนารายณ์  และพระิอินทร์แล้ว  ความจริงยังมีเทพอีกหลายองค์  ซึ่งแต่ละองค์ก็มีเอกลักษณ์  และมีบทบาทไม่ใช่น้อย

เป็นต้นว่า พระพฤหัสบดี  ซึ่งถือว่าเป็น คุรุเทพ หรือครูของเทวดา

เป็นที่มาของการที่เราไหว้ครูในวันพฤหัส

และเป็นสาเหตุที่กระทรวงศึกษาธิการ  เอารูปพระพฤหัสมาเป็นสัญลักษณ์ของคุรุสภา

พระพฤหัสบดีนี้  ตามตำนานว่า  พระอิศวรสร้างขึ้นจากฤาษี ๑๙ ตน  พระพฤหัสจึงมีลักษณะเป็นผู้มีความรู้   เฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง  สุขุมคัมภีรภาพ  มีเมตตากรุณา  ก็ระดับพระฤาษียกกำลัง ๑๙ น่ะแหละ  ธรรมดาเสียเมื่อไหร่

ดาวพฤหัสเป็นดาวใหญ่ที่สุดในบรรดาดาวนพเคราะห์  ในตำราหมอดู ดาวดวงนี้โดดเด่นเป็นพิเศษ  มีพลังอำนาจมากว่าดาวดวงอื่น ๆ แถมเป็นพลังในทางดี

ดวงชะตาใครที่มีดาวพฤหัสให้คุณ  ก็นับว่าเกิดมาดี  จะทำอะไรก็ไม่ต้องออกแรงมาก  ผู้คนก็มักเชื่อถือ  ยกย่อง  เกรงอกเกรงใจ
และด้วยเหตุที่แต่ดั้งเิดิมเป็นฤาษี  ก็เลยออกจะสมถะ  ไม่ชอบพะบู๊กับใคร  เรียกได้ว่าเป็นฝ่ายธรรมะ

คนที่มีดาวพฤหัสเด่่นมักจะมีลักษณะเหมือนพระพฤหัส  คือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่  สุภาพ  สุขุม  มีความรู้ความคิด  มีคุณธรรมประจำใจ  คือมาดคุณครูในอุดมคตินั่นแหละ  

พระพฤหัสไม่ให้โทษกับใคร  มีแต่คุ้มครอง  และที่สำคัญก็คือคุ้มครองได้เสียด้วย  ไม่ว่าจะเป็นดาวอังคารจอมบู๊  ดาวเสาร์ทุกข์โทษ  หรือราหูจอมอันธพาล ถ้าบังเอิญกำลังอาละวาด  มาเจอพระพฤหัสเข้า  ปรากฏว่า พระพฤหัส "เอาอยูํ่" ที่ว่าร้ายก็ลดลงไปกว่าครึ่ง

ในสังคมเอเซีย  ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย จีน หรือไทย  ก็ล้วนแล้วแต่ยกย่องครู  บรรดาปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้า  ขงจื๊อ เหล่าจื๊อ  ล้วนแล้วแต่ดำเนินชีวิตอย่างครู  มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมือง

ว่ากันว่าคนที่บังเอิญมาเรียนครู  ทำอาชีพครู  ส่วนมากจะมีดาวพฤหัสให้คุณ  ส่วนที่เป็นครูประเภทไำม่ค่อยปราดเปรื่อง  ไม่ค่อยสุขุมคัมภีรภาพ  ไม่ค่อยเอาไหน  แบบที่เห็น ๆ กัน  อาจเป็นเพราะถุกอิิทธิพลของดาวร้าย  ดาวโจรมาบ่อนเบียน  ทำให้ได้ครึ่งเสียค่อน  เลยเป็นครูแค่บางส่วน

บนสวรรค์นั้น  สถานภาพของคุรุเทพไม่ใช่กระจอก  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเพราะเทวดาส่วนใหญ่มักมีคุณธรรม  รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่  ก็เลยเคารพคนที่ควรเคารพตามมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าเทศน์ไว้  ไม่เหมือนบนโลกมนุษย์ทุกวันนี้ที่ไม่สนใจมงคลสูตร  แต่ไปนิยมอัปมงคลสูตรแทน

สถานภาพคุณครู  ผู้ดำเนินรอยตามคุรุเทพจึงดูเสื่อมถอยหม่นหมองยังไงชอบกล

พระพฤหัสไม่ชอบพะบู๊ก็จริง  แต่ก็ไม่ใช่แหย  เพราะพระพฤหัสมีธรรมเป็นอำนาจ  และเป็นอำนาจที่สยบดาวร้ายได้เสียด้วย

ก็ได้แต่หวังว่า  ด้วยอิทธิพลของดวงดาว  จะบันดาลให้บรรดาคุณครูทั้งหลายยึดมั่นในคุณธรรม  ดำเนินรอยตามคุรุเทวะ  ช่วยกันใช้พลังบวกสยบบรรดาดาวร้าย  ช่วยสร้างสรรค์สังคมกันหน่อย

อย่าปล่อยให้ดาวเสาร์ดาวราหูมาแผลงฤทธิ์มากนัก
เสียสถาบันพระพฤหัสหมด



วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

หัวใบ้ท้ายบอด

หัวใบ้ท้ายบอด


หัวใบ้ท้ายบอดเป็นการเล่นแข่งเรือแบบชาวบ้าน  เพื่อความสนุกสนาน

กติกาก็คือ คนที่พายหัวต้องใช้ผ้าผูกปาก  คือห้ามพูดห้ามบอกทาง  ส่วนคนพายท้ายที่ต้องเป็นคนกำหนดทิศทางต้องเอาผ้าผูกตา  ไม่ให้เห็นทาง

เรือที่คนพายหัวใบ้ท้ายบอด  จึงสะเปะสะปะไร้ทิศทาง  ถ้าเป็นการแข่งหลายลำก็ชนกันเละ  ไม่ก็ชนตลิ่ง  ชนสะพาน ฯลฯ

ส่วนมากไม่ได้แข่งกันว่าใครจะไปถึงเส้นชัย
แข่งกันแค่ว่า  ใครจะล่มก่อนล่มหลังเท่านั้นแหละ

คล้าย ๆ กับการกำหนดนโยบายอะไรต่อมิอะไรเวลานี้
คนที่กำหนดนโยบายไม่รู้ทิศทาง  ไม่ได้มองเป้าหมาย  เอาแค่ถูกใจมวลชน  อยากได้อะไร จัดให้..
ส่วนจะนำพาไปสู่อะไร ? ไม่รู้...

ส่วนคนที่พอจะรู้ก็ปิดปาก  เล่นบทใบ้ไม่ทักไม่ท้วง จะไปทางไหนก็ไป  ล่มเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

เราจึงได้เห็นนโยบายไร้ทิศทาง  ไม่ว่าจะเป็นรถคันแรก  รับจำนำข้าว  เพิ่มค่าแรง ฯลฯ  ล้วนได้ใจมวลชน  ส่วนปัญหาอะไรจะตามมา  คนให้นโยบายไม่เกี่ยว  ใครเจอปัญหาก็แก้ปัญหากันไปก็แล้วกัน

รวมทั้งนโยบายการศึกษา  ที่ว่าด้วยเรื่องทรงผม มาจนถึงประชานิยมเอาใจคุณหนู  ไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเรียน  ไม่อยากทำการบ้านก็ไม่ต้องทำ

ส่วนโจทย์ปัญหาของการศึกษาไทยที่ว่าผลการเรียนของเด็กต่ำเตี้ย  เด็กเรียนจบประถมอ่านหนังสือไม่ออก  จบมัธยมเขียนหนังสืออ่านไม่รู้เรื่อง  ไปจนถึงระดับอุดมศึกษาทำงานอะไรก็ไม่เป็น  ปรากฏว่าตอนนี้ยังไม่มีทิศทางนโยบายอะไร  เพราะเผอิญมองไม่เห็นทาง

ก็เลยกลายเป็นนโยบาย "เรียนสนุก  ลุกนั่งสบาย  ครูสอนตลก  เด็กสอบตกมากมาย" เอาใจมวลชนไว้ก่อน

คิดถึงพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๖  ที่ว่า
"หนทางสู่เกียรติศักดิ์    จักประดับด้วยดอกไม้
หอมอวลยวนจิตไซร้     ไป่มี"

ผลการศึกษาเขาค้นพบมาตั้งนานแล้วว่าที่การเรียนของเด็กไทยตกต่ำย่ำแย่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะไอคิวต่ำเตี้ยกว่าเขาอื่น  แต่เพราะขาดความมุ่งมั่น  ขยันน้อย  ไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน  ในขณะที่เด็กประเทศอื่นเขามุ่งมั่นกว่า  เขาก็เลยนำหน้าไปลิ่ว ๆ

วิสัยทัศน์การศึกษายุคนี้   ก็คือมุ่งเตรียมคนให้มีศักยภาพสำหรับอนาคต เพื่อก้าวสู่ตลาดแรงงาน จึงเน้นให้โรงเรียนเป็นโรงฝึกงาน ฝึกให้เด็กมีความรู้  ทำงานให้เป็นเสียตั้งแต่ตอนเรียน  จะได้เป็นการสร้างนิสัยและพื้นฐานตั้งแต่ต้น

มาเจอนโยบายเรียนน้อย  ไม่ต้องทำงาน  ก็เหมือนคนคัดท้ายพาหลงทิศ

มีตลาดแรงงานที่ไหนบ้าง อยากได้คนที่ความรู้ก็น้อยนิด ความชำนาญก็ไม่มี แถมยังขาดความมานะ อดทน  แค่ทรงผมสวยอย่างเดียวคงไม่พอหรอกนะ

ถ้าจะอ้างเรื่องเครียด ไปถามคนทำงานทุกวันนี้ มีงานอะไรที่ไม่เครียด

ยิ่งที่ทำงานที่มีผู้บริหารบ้าๆบอๆ ยิ่งเครียดเข้าไปใหญ่

ไม่ฝึกบริหารความเครียดเสียตั้งแต่ตอนเรียน ไปทำงานจริงมีหวังสติแตก

ก็ขนาดผู้ใหญ่ ผ่านการเรียน การทำงานมานักต่อนักแล้ว
มาเห็นการบริหารแบบหัวใบ้ท้ายบอดตอนนี้ ยังเครียดเลย