วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

ท้าวมหาสงกรานต์


ใกล้เทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย  จะมีการประกาศปฏิทินสงกรานต์  นางสงกรานต์คนเก่าจะส่งหน้าที่ให้คนใหม่รับช่วงต่อ  คนก็มักจะคอยสังเกตรูปลักษณะของนางสงกรานต์แต่ละปีว่าชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร  แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างไร  จะประทับบนหลังพาหนะอะไร  นั่งมาหรือนอนมา ฯลฯ แล้วก็เอาทำนายทายทักกันว่าในปีหน้าฟ้าใหม่ที่จะมาถึงจะเกิดเหตุดีร้ายอะไรยังไง

ความจริงบรรดานางสงกรานต์ทั้งหลายไม่ใช่ตัวเอกตัวจริงในประเพณีสงกรานต์  เพราะตัวเอกที่เป็นเรื่องเป็นราวให้เกิดประเพณีสงกรานต์นั้นคือ  ท้าวกบิลพรหม  พระบิดาของนางทั้งเจ็ด


มีเรื่องเล่าไว้ในตำนานว่า  ในสมัยนั้นมีเด็กน้อยที่ไม่ธรรมดาชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร  เป็นเด็กอัจฉริยะ  เฉลียวฉลาดปราดเปรื่องจนเป็นที่ร่ำลือ  ใกล้เคียงกับอิกคิวซัง  ท้าวกบิลพรหมได้ยินกิติศัพท์ก็เลยอยากลองปัญญา  โดยพนันกันว่า  ใครแพ้จะต้องตัดศีรษะตัวเอง  โดยท้าวกบิลพรหมตั้งคำถามทำนองเดียวกับท่านโชกุนในอิกคิวซังว่า  ศรีหรือสิริมงคลของมนุษย์อยู่ที่ไหน


ธรรมบาลกุมาร  ความจริงก็ไม่เจ๋งเท่าไหร่  เพราะคิดไม่ออก  แต่เผอิญเป็นเด็กอินเตอร์  รอบรู้หลายภาษา  ขณะที่ไปนั่งคิดอยู่ใต้ต้นไม้  ได้ยินนกสองตัวคุยกันเป็นภาษานกว่า  วันนี้อิ่มแน่เพราะธรรมบาลต้องตัดหัวให้ท้าวกบิลพรหม  แล้วนกเจ้าปัญญาก็เฉลยปัญหาให้เสร็จสรรพว่า  ศรีของมนุษย์ในแต่ละวันนั้นไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน  คือตอนเช้าอยู่่ที่หน้า  คนจึงเอาน้ำลูบหน้า  กลางวันอยู่ที่อกก็ต้องเอาน้ำลูบอก แต่ตอนเย็นไพล่ไปอยู่ที่เท้่า  จึงต้องเอาน้ำล้างเท้า

ธรรมบาลกุมารก็เลยฉกฉวยคำเฉลยของนกช่างพูดไปตอบคำถาม  ท้าวกบิลพรหมเมื่อแพ้ก็รักษาสัจจะ  ตัดเศียรให้ตามสัญญา  ไม่มีการบิดพลิ้วเกี่ยงให้ศาลโน้นศาลนี้ตีความ  ไม่ต้องให้ใครต้องเหน็ดเหนื่อยมาทวงสัญญา  เพียงแต่สั่งเสียธิดาทั้งเจ็ดให้ช่วยเก็บรักษาเศียรให้เป็นที่เป็นทาง  เพราะเศียรของพระพรหมนั้น  ถ้าตกลงบนดิน  แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ  โยนขึ้นฟ้าก็จะแห้งแล้ง  ฝนฟ้าไม่ตก  หรือถ้าทิ้งลงน้ำ  น้ำท่าก็จะแห้งเหือดพอ ๆ กับแม่น้ำโขง ชาวบ้านชาวเมืองจะเดือดร้อน

ธิดาทั้งเจ็ดของท้าวมหาพรหมจึงเอาพานมารองรับเศียรของพระบิดาไปเก็บรักษาไว้ที่ภูเขาแห่งหนึ่ง  เมื่อครบรอบวันที่ท้าวกบิลพรหมตัดศีรษะ  ก็จะผลัดเปลี่ยนกันรับหน้าที่นำเศียรออกมาทำบุญ  กลายเป็นประเพณีแห่นางสงกรานต์

คนไทยถือวันสงกรานต์เป็นวันกตัญญู  วันครอบครัว  ก็เพราะเหตุนี้

เรื่องราวของท้าวกบิลพรหม  น่าจะเป็นตัวอย่างของผู้ปกครองที่ดี  ทั้งเรื่องรักษาสัจจะ  แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ  และทั้งความรับผิดชอบที่แม้จะตัดเศียรก็ยังห่วงว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น

คิดถึงท้าวกบิลพรหมแล้วอดเปรียบเทียบกับนักบริหารบ้านเราไม่ได้

แตกต่างห่างไกลกันลิบลับ  ทั้งสองเรื่องแหละ