วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

หลงรูป

ว่าไหมว่าตอนนี้ผู้คนหน้าตาดีขึ้น  มีหนุ่มสาวสวยหล่อเดินกันกล่นเกลื่น  ดูจากหน้าจอทีวี  จำแทบไม่ได้ว่าใครเป็นใคร  ทั้งสวยหล่อเริ่ดเลอเพอร์เฟ็ค  ยังแถมหน้าคล้าย ๆ กันเพราะมาจากบล็อกเดียวกันก็เยอะ

พูดถึงคนสวยคนหล่อทำให้คิดถึงตำนานดอกพลับพลึง

ไม้ดอกนี้มีตำนานว่าด้วยคนหลงรูปตัวเอง  เล่าว่ามีชายหนุ่มนามว่า  นาร์ซิสซัส  รูปร่างหน้าตาหล่อเหลาเป็นที่หมายปองของสาว ๆ มากมาย  แต่หนุ่มหล่อมาดเท่คนนี้ก็ไม่สนใจใครเลยสักคน  ทำให้สาวหนึ่งในบรรดาผู้มาหลงรูปหลงรักนาร์ซิสซัสถึงกับสาปแข่งให้นาร์ซิสซัสต้องได้รับกรรมจากการหลงรูปตัวเองนี่แหละ

แล้วเรื่องก็กลายเป็นจริงเป็นจัง  เมื่อวันหนึ่งนาร์ซิสซัสไปนั่งอยู่ริมน้ำที่ใสเหมือนกระจก  แล้วชะโงกมองเห็นหน้าตัวเองหล่อพอ ๆ กับพระเอกหนังเกาหลี  ก็เกิดความรักใคร่หลงใหลรูปเงา  พอเอื้อมมือจะคว้าเงาในน้ำเงาก็หายไป  พอหยุดอยู่นิ่งเงาก็กลับมารวมตัวให้เห็นโฉมหล่อเริ่ดถนัดชัดเจน

นาร์ซิสซัสก็เลยหลงรูปตัวเอง  นั่งเฝ้าดูอยู่ทั้งวันทั้งคืน  จนรากงอกกลายเป็นไม้ริมน้ำนามว่าพลับพลึง


คิดถึงตำนานดอกพลับพลึงแล้วก็หวนมาคิดถึงบรรดาคนที่หลงรูปหลงเงา  ซึ่งตอนนี้มีอยู่มากมายนับแสนนับล้าน  ล้วนพึงพอใจกับการถ่ายภาพเชลฟี่  เอามาตกแต่งให้สวยหรูหล่อเริ่ดด้วยโปรแกรมต่าง ๆ นานา  แล้วก็โพสต์ไปอวดเพื่อนฝูงคนรู้จักและไม่รู้จัก  เพื่อให้ช่วยกันปลื้มเปรมกับรูปลักษณ์สวยห
รูหล่อเริ่ดซึ่งถึงจะจริงบ้างไม่จริงบ้าง  แต่มีคนเอาใจช่วยกันชื่นชมสักหลายคนก็ทำให้พอจะชุ่มชื่นหัวใจไม่ต่างอะไรกับนาร์ซิสซัสที่หลงรูปตัวเอง



ความจริงในวรรณคดีไทยก็มีเรื่องหลงรูปอยู่มากมาย  เพราะวรรณคดียุคเก่าให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก  พระเอกนางเอกจึงต้องสวยหล่อเหนือสิ่งอื่นใด  และก็จะมีคนมาหลงรูปกันเยอะแยะ  อย่างบรรดาหนุ่ม ๆ ที่มาหลงรูปบุษบา  จนถึงกับเกิดศึกชิงนาง  หรือในเรื่องพระอภัยมณีก็มีรายการหลงรูปนางละเวง ส่วนที่สาวหลงหนุ่มก็มีนางผีเสื้อสมุทรที่หลงรูปพระอภัยมณี  หรืออย่างนางสำมนักขาน้องทศกัณฐ์ที่มาหลงใหลพระรามพระลักษณ์จนหึงหวงนางสีดา ท้ายสุดถูกพระลักษณ์ตัดมือตัดตีนกลายเป็นเดชอีด้วน  ต้องเหาะกลับไปหว่านล้อมให้ทศกัณฐ์มาลักพานางสีดา  เกิดเป็นชนวนศึกลงกากันขนานใหญ่

ส่วนที่หลงรูปตัวเองจนได้เรื่องก็คือนางกนกเรขา นางเอกเรื่องกนกนคร เมื่อครั้งเป็นนางฟ้าอนุสยินี  คุณสามีหลงใหลได้ปลื้มว่างามนัก  เที่ยวได้โอ้อวดกับเพื่อนพ้องเทวดานางฟ้าจนเทวดาอื่น ๆ หมั่นไส้ท้าให้มาทำลายตบะฤาษี  แล้วก็ถูกฤาษีสาปให้ลงมาเกิดในโลกมนุษย์ทั้งสองคน  ให้ชดใช้กรรมจนกว่าจะฆ่ากันตายจึงจะพ้นคำสาป

ทั้งหลายทั้งปวงชี้ให้เห็นว่า  เรื่องความสวยหล่อหรือรูปสมบัติ  ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนก็ยังถือเป็นสมบัติที่คนอยากถือครอง  ยิ่งในยุคนี้มีเทคโนโลยี  ทั้งการถ่ายเชลฟี่แล้วแด่งเติมเสริมสวย รวมทั้งที่เกิดมาไม่สวยเท่าไหร่ก็ทำให้สวยหล่อได้ด้วยศัลยกรรม  คนก็เลยหล่อ ๆ สวย ๆ เต็มบ้านเต็มเมืองกันไปหมด

ทำให้คิดถึงคำทำนายว่า  ก่อนโลกจะแตกจะเกิดปรากฏการณ์อะไรต่อมิอะไรพิลึก ๆ มากมายหลายประการ  ที่จำได้อย่างหนึ่งก็คือ  ท่านทำนายว่า  ชายหญิงจะสวยหล่อ  หน้าตาเหมือนกันจนจำไม่ได้ว่าลูกเขาเมียใคร  แถมยังแยกแยะไม่ออกว่าชายหรือหญิง ???

ตอนนี้ก็ใกล้แล้วนะ

วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นิราศยุคใหม่

นิราศยุคเก่า  มักจะต้องแฝงอารมณ์โศก  เพราะจะต้องจากบ้านเรือน  จากคนรักไปไกลนานหลายวัน  การเดินทางก็มักทุรกันดาร  ตกระกำลำบาก  เลยเศร้าแล้วเศร้าอีก  ระหว่างทางมองเห็นอะไรก็ให้คิดถึงคนรัก  ความหลัง  รำพึงรำพันกันไปตลอดทาง

เปรียบเทียบกับการเดินทางไปไหนต่อไหนในยุคนี้  ที่สะดวกสบาย  ระยะทางที่เคยใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี  อาจเดินทางได้แค่วันเดียว  แถมสื่อเทคโนโลยีก็ช่วยให้คนรักอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว  กดนิดเดียวก็ได้ยินเสียง  มองเห็นหน้ากันได้  คุยกันไปเม้าท์กันมา  แป๊บเดียว  ได้เวลากลับมาเจอกันอีกแล้ว  เรื่องทำนองนิราศก็เลยตกยุคไปโดยปริยาย

ความที่อะไร ๆ มันสะดวกสบาย  คนยุคใหม่จึงมักเดินทางท่องเที่ยวไปไหนต่อไหนกันมากเท่าที่โอกาสจะอำนวย  ตามแหล่งท่องเที่ยว  ไม่ว่าจะเป็นศูํนย์การค้า  แหล่งบันเทิงเริงรมย์  หรือแหล่งท่องเที่่ยวทางธรรมชาติ  จะเห็นนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยไปเยี่ยมเยือนกันคับคั่ง

ไปเยี่ยมแล้วก็ต้องบันทึกความทรงจำ  ซึ่งก็แสนสะดวกสบาย  ง่ายแค่ปลายนิ้ว  กด...แชะ  ก็ได้ทั้งภาพ สีสัน  หรือเอาเสียง  มีความเคลื่อนไหวด้วยก็ยังได้  อยากบอกเล่าเรื่องราวให้ใครฟังก็กดอีกทีสองที  ทั้งหลายทั้งปวงก็เผยแพร่ไปตามใจฝัน  ไม่ต้องอาศัยความเป็นนักเขียน  เป็นกวี  กลั่นกรองเรื่องราวกันเป็นเดือนเป็นปีเหมือนสมัยก่อน ๆ

เจ้าฟ้ากุ้ง  สุนทรภู่ ฯลฯ  เป็นนักถ่ายทอดเรื่องราวที่ตกยุคไปแล้วจริง ๆ

สมัยก่อน  เรื่องการท่องเที่ยวเดินทางไปไกล ๆ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยุ่งยากลำบาก  จนมีสำนวนเปรียบเทียบ  เช่น  "พลัดที่นา  คลาที่อยู่"  คนที่เดินทางไปในต่างถิ่นต่างที่  เปรียบว่าเป็น "เจ้าไม่มีศาล  สมภารไม่มีวัด"  ต้องตกระกำลำบาก  เพราะห่างไกล "บ้านเคยอยู่  อู่เคยนอน"

ที่มาแนวแปลก  ก็อย่างในนิทานเวตาล  ที่เชียร์ให้เดินทางท่องเที่ยวไปดีกว่า  อย่างข้อความที่พราหมณ์หนุ่มยกมาประชันกัน  บอกว่า

"จงจรเที่ยว    เทียวบทไป
พงพนไพร     ไศละลำเนา
ดุ่มบทเดิน      เพลินจิตเรา
แบ่งทุขะเบา   เชาวนะไว"

มิหนำซ้ำ  ยังกล่าวอีกว่า

"ชายหาญชาญเที่ยวเทียวไป      ทุกแคว้นแดนไพร     และอาจประสบพบสุข
ชายใดอยู่เหย้าเนาทุกข์              ไม่ด้นซนซุก             ก็เชื่อว่าชั่วมัวเมา"
ถึงขนาดว่า  ใครไม่เที่ยวไปถือว่าชั่ว  เอายังงั้นเลย....

ทั้งนี้ทั้งนั้น  เพราะคติพราหมณ์มีเรื่องการออกบวช  ละทิ้งบ้านเรือนเมื่อถึงวัยอันควร  ซึ่งก็คือ  เมื่อมองเห็นเส้นผมเปลี่ยนเป็นสีเทา  และเห็นบุตรของบุตรแห่งตน  นั่นก็คือย่างเข้าวัยชราแล้ว  ก็ควรละทิ้งการครองเรือน  ออกเดินทางแสวงหาความหลุดพ้น

จึงมีเรื่องราวของมหาฤาษีหลายตน  ทั้งที่เคยเป็นกษัตริย์และเศรษฐี  แต่ออกบวช  หรือไม่ก็ออกไปตั้งสำนักสั่งสอนศิษย์เมื่อถึงวัยชรา

การท่องเที่ยวของพราหมณ์กับการท่องเที่ยวสมัยนี้จึงนับว่าเป็นคนละเรื่อง

เคยได้ยินไกด์คนหนึ่งบอกกับนักท่องเที่ยวว่า  "ใครไม่มีบุญไม่ได้มา"  คำว่า "มีบุญ" ของเขา  หมายถึง  มีเงิน  และมีโอกาส  คือมีคนพาไป  ซึ่งก็จริง

สมัยนี้  คนมีบุญเยอะ  การท่องเที่ยวจึงเป็นไปได้  ง่ายกว่าสมัยสุนทรภู่อย่างเทียบกันไม่ติด
และนิราศสไตล์สุนทรภู่ก็ตกยุคไปแล้วจริง ๆ อย่าว่าแต่คนจะเขียนเลย  อ่านยังไม่ค่อยจะอ่านกันแล้ว

สู้ไลน์  ไอจี  เฟสบุ็ค  ไม่ได้  ทันใจดี