วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

หลงรูป

ว่าไหมว่าตอนนี้ผู้คนหน้าตาดีขึ้น  มีหนุ่มสาวสวยหล่อเดินกันกล่นเกลื่น  ดูจากหน้าจอทีวี  จำแทบไม่ได้ว่าใครเป็นใคร  ทั้งสวยหล่อเริ่ดเลอเพอร์เฟ็ค  ยังแถมหน้าคล้าย ๆ กันเพราะมาจากบล็อกเดียวกันก็เยอะ

พูดถึงคนสวยคนหล่อทำให้คิดถึงตำนานดอกพลับพลึง

ไม้ดอกนี้มีตำนานว่าด้วยคนหลงรูปตัวเอง  เล่าว่ามีชายหนุ่มนามว่า  นาร์ซิสซัส  รูปร่างหน้าตาหล่อเหลาเป็นที่หมายปองของสาว ๆ มากมาย  แต่หนุ่มหล่อมาดเท่คนนี้ก็ไม่สนใจใครเลยสักคน  ทำให้สาวหนึ่งในบรรดาผู้มาหลงรูปหลงรักนาร์ซิสซัสถึงกับสาปแข่งให้นาร์ซิสซัสต้องได้รับกรรมจากการหลงรูปตัวเองนี่แหละ

แล้วเรื่องก็กลายเป็นจริงเป็นจัง  เมื่อวันหนึ่งนาร์ซิสซัสไปนั่งอยู่ริมน้ำที่ใสเหมือนกระจก  แล้วชะโงกมองเห็นหน้าตัวเองหล่อพอ ๆ กับพระเอกหนังเกาหลี  ก็เกิดความรักใคร่หลงใหลรูปเงา  พอเอื้อมมือจะคว้าเงาในน้ำเงาก็หายไป  พอหยุดอยู่นิ่งเงาก็กลับมารวมตัวให้เห็นโฉมหล่อเริ่ดถนัดชัดเจน

นาร์ซิสซัสก็เลยหลงรูปตัวเอง  นั่งเฝ้าดูอยู่ทั้งวันทั้งคืน  จนรากงอกกลายเป็นไม้ริมน้ำนามว่าพลับพลึง


คิดถึงตำนานดอกพลับพลึงแล้วก็หวนมาคิดถึงบรรดาคนที่หลงรูปหลงเงา  ซึ่งตอนนี้มีอยู่มากมายนับแสนนับล้าน  ล้วนพึงพอใจกับการถ่ายภาพเชลฟี่  เอามาตกแต่งให้สวยหรูหล่อเริ่ดด้วยโปรแกรมต่าง ๆ นานา  แล้วก็โพสต์ไปอวดเพื่อนฝูงคนรู้จักและไม่รู้จัก  เพื่อให้ช่วยกันปลื้มเปรมกับรูปลักษณ์สวยห
รูหล่อเริ่ดซึ่งถึงจะจริงบ้างไม่จริงบ้าง  แต่มีคนเอาใจช่วยกันชื่นชมสักหลายคนก็ทำให้พอจะชุ่มชื่นหัวใจไม่ต่างอะไรกับนาร์ซิสซัสที่หลงรูปตัวเอง



ความจริงในวรรณคดีไทยก็มีเรื่องหลงรูปอยู่มากมาย  เพราะวรรณคดียุคเก่าให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก  พระเอกนางเอกจึงต้องสวยหล่อเหนือสิ่งอื่นใด  และก็จะมีคนมาหลงรูปกันเยอะแยะ  อย่างบรรดาหนุ่ม ๆ ที่มาหลงรูปบุษบา  จนถึงกับเกิดศึกชิงนาง  หรือในเรื่องพระอภัยมณีก็มีรายการหลงรูปนางละเวง ส่วนที่สาวหลงหนุ่มก็มีนางผีเสื้อสมุทรที่หลงรูปพระอภัยมณี  หรืออย่างนางสำมนักขาน้องทศกัณฐ์ที่มาหลงใหลพระรามพระลักษณ์จนหึงหวงนางสีดา ท้ายสุดถูกพระลักษณ์ตัดมือตัดตีนกลายเป็นเดชอีด้วน  ต้องเหาะกลับไปหว่านล้อมให้ทศกัณฐ์มาลักพานางสีดา  เกิดเป็นชนวนศึกลงกากันขนานใหญ่

ส่วนที่หลงรูปตัวเองจนได้เรื่องก็คือนางกนกเรขา นางเอกเรื่องกนกนคร เมื่อครั้งเป็นนางฟ้าอนุสยินี  คุณสามีหลงใหลได้ปลื้มว่างามนัก  เที่ยวได้โอ้อวดกับเพื่อนพ้องเทวดานางฟ้าจนเทวดาอื่น ๆ หมั่นไส้ท้าให้มาทำลายตบะฤาษี  แล้วก็ถูกฤาษีสาปให้ลงมาเกิดในโลกมนุษย์ทั้งสองคน  ให้ชดใช้กรรมจนกว่าจะฆ่ากันตายจึงจะพ้นคำสาป

ทั้งหลายทั้งปวงชี้ให้เห็นว่า  เรื่องความสวยหล่อหรือรูปสมบัติ  ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนก็ยังถือเป็นสมบัติที่คนอยากถือครอง  ยิ่งในยุคนี้มีเทคโนโลยี  ทั้งการถ่ายเชลฟี่แล้วแด่งเติมเสริมสวย รวมทั้งที่เกิดมาไม่สวยเท่าไหร่ก็ทำให้สวยหล่อได้ด้วยศัลยกรรม  คนก็เลยหล่อ ๆ สวย ๆ เต็มบ้านเต็มเมืองกันไปหมด

ทำให้คิดถึงคำทำนายว่า  ก่อนโลกจะแตกจะเกิดปรากฏการณ์อะไรต่อมิอะไรพิลึก ๆ มากมายหลายประการ  ที่จำได้อย่างหนึ่งก็คือ  ท่านทำนายว่า  ชายหญิงจะสวยหล่อ  หน้าตาเหมือนกันจนจำไม่ได้ว่าลูกเขาเมียใคร  แถมยังแยกแยะไม่ออกว่าชายหรือหญิง ???

ตอนนี้ก็ใกล้แล้วนะ

วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นิราศยุคใหม่

นิราศยุคเก่า  มักจะต้องแฝงอารมณ์โศก  เพราะจะต้องจากบ้านเรือน  จากคนรักไปไกลนานหลายวัน  การเดินทางก็มักทุรกันดาร  ตกระกำลำบาก  เลยเศร้าแล้วเศร้าอีก  ระหว่างทางมองเห็นอะไรก็ให้คิดถึงคนรัก  ความหลัง  รำพึงรำพันกันไปตลอดทาง

เปรียบเทียบกับการเดินทางไปไหนต่อไหนในยุคนี้  ที่สะดวกสบาย  ระยะทางที่เคยใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี  อาจเดินทางได้แค่วันเดียว  แถมสื่อเทคโนโลยีก็ช่วยให้คนรักอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว  กดนิดเดียวก็ได้ยินเสียง  มองเห็นหน้ากันได้  คุยกันไปเม้าท์กันมา  แป๊บเดียว  ได้เวลากลับมาเจอกันอีกแล้ว  เรื่องทำนองนิราศก็เลยตกยุคไปโดยปริยาย

ความที่อะไร ๆ มันสะดวกสบาย  คนยุคใหม่จึงมักเดินทางท่องเที่ยวไปไหนต่อไหนกันมากเท่าที่โอกาสจะอำนวย  ตามแหล่งท่องเที่ยว  ไม่ว่าจะเป็นศูํนย์การค้า  แหล่งบันเทิงเริงรมย์  หรือแหล่งท่องเที่่ยวทางธรรมชาติ  จะเห็นนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยไปเยี่ยมเยือนกันคับคั่ง

ไปเยี่ยมแล้วก็ต้องบันทึกความทรงจำ  ซึ่งก็แสนสะดวกสบาย  ง่ายแค่ปลายนิ้ว  กด...แชะ  ก็ได้ทั้งภาพ สีสัน  หรือเอาเสียง  มีความเคลื่อนไหวด้วยก็ยังได้  อยากบอกเล่าเรื่องราวให้ใครฟังก็กดอีกทีสองที  ทั้งหลายทั้งปวงก็เผยแพร่ไปตามใจฝัน  ไม่ต้องอาศัยความเป็นนักเขียน  เป็นกวี  กลั่นกรองเรื่องราวกันเป็นเดือนเป็นปีเหมือนสมัยก่อน ๆ

เจ้าฟ้ากุ้ง  สุนทรภู่ ฯลฯ  เป็นนักถ่ายทอดเรื่องราวที่ตกยุคไปแล้วจริง ๆ

สมัยก่อน  เรื่องการท่องเที่ยวเดินทางไปไกล ๆ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยุ่งยากลำบาก  จนมีสำนวนเปรียบเทียบ  เช่น  "พลัดที่นา  คลาที่อยู่"  คนที่เดินทางไปในต่างถิ่นต่างที่  เปรียบว่าเป็น "เจ้าไม่มีศาล  สมภารไม่มีวัด"  ต้องตกระกำลำบาก  เพราะห่างไกล "บ้านเคยอยู่  อู่เคยนอน"

ที่มาแนวแปลก  ก็อย่างในนิทานเวตาล  ที่เชียร์ให้เดินทางท่องเที่ยวไปดีกว่า  อย่างข้อความที่พราหมณ์หนุ่มยกมาประชันกัน  บอกว่า

"จงจรเที่ยว    เทียวบทไป
พงพนไพร     ไศละลำเนา
ดุ่มบทเดิน      เพลินจิตเรา
แบ่งทุขะเบา   เชาวนะไว"

มิหนำซ้ำ  ยังกล่าวอีกว่า

"ชายหาญชาญเที่ยวเทียวไป      ทุกแคว้นแดนไพร     และอาจประสบพบสุข
ชายใดอยู่เหย้าเนาทุกข์              ไม่ด้นซนซุก             ก็เชื่อว่าชั่วมัวเมา"
ถึงขนาดว่า  ใครไม่เที่ยวไปถือว่าชั่ว  เอายังงั้นเลย....

ทั้งนี้ทั้งนั้น  เพราะคติพราหมณ์มีเรื่องการออกบวช  ละทิ้งบ้านเรือนเมื่อถึงวัยอันควร  ซึ่งก็คือ  เมื่อมองเห็นเส้นผมเปลี่ยนเป็นสีเทา  และเห็นบุตรของบุตรแห่งตน  นั่นก็คือย่างเข้าวัยชราแล้ว  ก็ควรละทิ้งการครองเรือน  ออกเดินทางแสวงหาความหลุดพ้น

จึงมีเรื่องราวของมหาฤาษีหลายตน  ทั้งที่เคยเป็นกษัตริย์และเศรษฐี  แต่ออกบวช  หรือไม่ก็ออกไปตั้งสำนักสั่งสอนศิษย์เมื่อถึงวัยชรา

การท่องเที่ยวของพราหมณ์กับการท่องเที่ยวสมัยนี้จึงนับว่าเป็นคนละเรื่อง

เคยได้ยินไกด์คนหนึ่งบอกกับนักท่องเที่ยวว่า  "ใครไม่มีบุญไม่ได้มา"  คำว่า "มีบุญ" ของเขา  หมายถึง  มีเงิน  และมีโอกาส  คือมีคนพาไป  ซึ่งก็จริง

สมัยนี้  คนมีบุญเยอะ  การท่องเที่ยวจึงเป็นไปได้  ง่ายกว่าสมัยสุนทรภู่อย่างเทียบกันไม่ติด
และนิราศสไตล์สุนทรภู่ก็ตกยุคไปแล้วจริง ๆ อย่าว่าแต่คนจะเขียนเลย  อ่านยังไม่ค่อยจะอ่านกันแล้ว

สู้ไลน์  ไอจี  เฟสบุ็ค  ไม่ได้  ทันใจดี






วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หูทิพย์ ตาทิพย์

หูทิพย์  ตาทิพย์  เป็นคุณสมบัติพิเศษของบุคคลพิเศษ  ที่สามารถเห็นหรือได้ยินทะลุมิติ  ไม่ว่าใครจะพูดจะทำอะไรที่ไหนก็รู้เห็นได้ชัดเจน  บุคคลที่จะมีคุณสมบัติพิเศษแบบนี้  ก็มีแต่เทวดา  เป็นต้นว่า  พระอินทร์  หรือไม่ก็อริยบุคคลที่ได้บำเพ็ญเพียร  จนบรรลุได้ฌาณขั้นสูง ๆ

 พระอินทร์นั้น  ว่ากันว่ามีสมบัติทิพย์มากมาย  หนึ่งในสมบัติทิพย์นั้นก็คือทิพยอาสน์หรือแท่น  ที่ปกติจะนุ่มละไม  แต่ถ้าเกิดเหตุเภทภัย  มีคนดีต้องได้รับเคราะห์กรรมถูกกลั่นแกล้งต่าง ๆ แท่นของพระอินทร์จะ "กระด้างดังศิลา"  แล้วพระอินทร์ผู้มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขเหมือน กทม. ก็จะส่องทิพยเนตร  คือตาทิพย์สแกนหาสาเหตุว่ามีใครกำลังเดือดเนื้อร้อนใจอยู่ที่ไหน  เหมือนอย่างตอนที่พระสังข์ตกยากเป็นเจ้าเงาะ  ถูกพ่อตาคือท้าวสามลกลั่นแกล้งให้ไปอยู่ปลายนา  ทิพยอาสน์ก็กระด้างจนพระอินทร์ต้องส่องทิพยเนตรมาดู  แล้วก็เลยต้องดำเนินการแปลงกายยกทัพมาท้าท้าวสามลตีคลีเอาบ้านเมือง  เพื่อให้พระสังข์ถอดเงาะ  และยังได้สำแดงฝีมือตีคลีช่วยบ้านเมือง

อีกเรื่องหนึ่งที่เล่าถึงเรื่องตาทิพย์ของพระอินทร์  ก็คือมหาเวสสันดร  ตอนที่พระเวสสันดรบำเพ็ญทาน  บริจาคเสียจนหมดเนื้อหมดตัว  แม้แต่สองกุมารก็ยกให้ไปเป็นข้าชูชก  เหลืออยู่แต่พระมัทรี  พระอินทร์ก็แจ้งเหตุด้วยตาทิพย์  จนนิ่งนอนใจไม่ได้  ต้องแปลงเป็นพราหมณ์ชรามาขอพระมัทรีตัดหน้าคนอื่น ๆ เสียก่อน  แล้วก็ทำทีว่าไม่สะดวกจะพาไปด้วย  ต้องฝากพระเวสสันดรไว้  เพื่อป้องกันไม่ให้พระเวสสันดรเอาพระมัทรีไปยกให้ใครเรื่อยเปื่อยไปอีก

บรรดาฤาษีทั้งหลายที่บำเพ็ญฌาณขั้นสูง ๆ ก็ว่ากันว่ามีหูทิพย์ตาทิพย์  อยากรู้อะไรก็รู้ได้  อย่างเช่นตอนที่นางอนุสยินี  นางฟ้าแสนสวยในเรื่องกนกนครรับพนันขันต่อมายั่วยวนทำลายตบะฤาษี  พระฤาษีลืมตาขึ้นมาปุ๊บ  ไม่ต้องถามไถ่ให้มากความ  ใช้ฌาณสำรวจรู้ได้ทันทีว่าเป็นใคร  มาด้วยเจตนาอะไร

หรืออย่างพระฤาษีที่เกาะแก้วพิสดาร  อาจารย์ของสุดสาคร  นั่นก็หูทิพย์ตาทิพย์  เล็งญาณก็รู้แจ้งตั้งแต่เรื่องนางผีเสื้อสมุทรเกิดมาจากไหน  มีฤทธิ์เพราะอะไร  รวมทั้งวิธีกำจัดนางผีเสื้อก็รู้แจ้งแทงตลอด  รวมทั้งตอนที่สุดสาครถูกชูชกผลักตกเหว  พระฤาษีก็รู้ได้ด้วยฌาน  จึงมาช่วยสุดสาครไว้ได้

คนอีกประเภทหนึ่งที่เปรียบได้กับหูทิพย์ตาทิพย์  แต่ออกจะไปในทางที่ไม่ดีสักเท่าไหร่  ก็คือพวกที่สำนวนเปรียบเทียบว่า "หูผี  จมูกมด"  คือมีคุณสมบัติด้านสอดรู้สอดเห็น  ไม่ใช่เพราะฌาน  แต่เป็นความสามารถพิเศษเฉพาะตัว  คนประเภทนี้แหละที่มีคำเตือนให้ระวังให้จงหนัก   เพราะเที่ยวรู้ความลับของคนอื่น  แถมยังเอาไปเที่ยวโพนทะนา

คำพังเพยเตือนใจให้ระมัดระวังที่ดูเหมือนเข้าคู่กับคนประเภทหูผีจมูกมดก็คือ  เตือนตัวเองให้ระมัดระวังให้จงหนัก  เพราะ "หน้าต่างมีหู  ประตูมีตา"  แปลว่า  ไม่ว่าจะพูดจะทำอะไร  ถ้าไม่ระมัดระวังก็มีโอกาสรั่วไหลไปถึงบุคคลที่สามได้ทั้งนั้น

มาถึงยุคเทคโนโลยี  โลกไร้พรมแดน  ข่าวสารยิ่งแพร่สะพัดรวดเร็ว  มีเทคโนโลยีที่ช่วยตอบสนองคนสอดรู้สอดเห็น   ให้ได้สอดรู้เรื่องของชาวบ้านได้มากมายอย่างน่าอัศจรรย์  จึงได้มีคลิปลับ  เทปลับที่รั่วไหลหลุดลอดออกมาให้เห็นกันไม่เว้นแต่ละวัน  คนในสังคมก็เลยมีหูทิพย์ตาทิพย์ได้ง่ายดาย  เที่ยวได้รู้เรื่องลับของใครต่อใครไปทั่ว  ส่วนคนประเภทหูผีจมูกมด  ก็เห็นจะหนีไม่พ้นบรรดานักเล่าข่าว  กระจิบกระจอกข่าวที่เที่ยวขุดคุ้ยเรื่องมาตีแผ่ให้โลกประจักษ์  ตามแนวทฤษฏีที่ว่า "ความลับไม่มีในโลก"  หรือสโลแกนเก๋ ๆ ที่ว่า "เรารู้  คุณรู้  โลกรู้..."  กลายเป็นดีไป   ทั้ง ๆ  ที่คนประเภทนี้  สมัยก่อนเรียกว่า "ฆ้องปากแตก"

เพิ่มคำอธิบายภาพ
สำนวนสำหรับคนรับสาร  จึงน่าจะเป็น "ฟังหู  ไว้หู"  "พกหินดีกว่าพกนุ่น"  จัดเรื่องราวข่าวสารที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเราไว้ในลำดับที่ "รู้ไว้ใช่ว่า  ใส่บ่าแบกหาม"  แล้วก็  "ชั่วช่างชี  ดีช่างสงฆ์"

ไม่ต้องไป  "อิน"  "ฟิน" ทุกเรื่อง  จนกลายเป็นทาสทางความคิดของบรรดานักเล่าข่าว

สรุปท้ายก็คือ "โปรดใช้วิจารณญาณในการฟังและชม" นั่นแหละ

บรรดาเทพ  และฤาษี ที่มีหูทิพย์ตาทิพย์  อยากรู้อะไรก็รู้ได้หมด แต่ยังดำรงมั่นอยู่ในธรรมได้ก็เพราะ  "มีวิจารณญาณ "  นี่แหละ


วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แม่ศรีเรือน



คนไทยแต่ไหนแต่ไร  มีเอกลักษณ์เรื่องการสรรกินโดดเด่นเป็นพิเศษ  จนมีคำกล่าวล้อเลียนว่า "การกินการอยู่ใครไม่สู้พ่อ  การพายการถ่อพ่อไม่สู้
ใคร"

ผู้หญิงต้องมีเสน่ห์ปลายจวัก  ที่ว่ากันว่าจะทำให้ "ผัวรักจนตาย"

ส่วนผู้ชายที่โชคดีมีภรรยาเป็นแม่ศรีเรือน  ว่ากินดีอยู่ดี  ชนิด "ก้นถึงฟาก  ปากถึงข้าว" คือนั่งลงปุ๊บก็ได้กินปั๊บ

คุณสมบัติแม่ศรีเรือน  เรือนสามน้ำสี่  ได้แก่  เรือนกาย  เรือนผม  เรือนบ้าน  ต้องสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ  ส่วนน้ำสี่  ก็ได้แก่  น้ำมือ  หมายถึงฝีมือปรุงอาหาร   น้ำคำ  คือพูดหวานขานเพราะ  น้ำท่า  คือน้ำดื่มที่ต้องมีไว้พร้อมเสมอ  และน้ำใจเอื้อเฟื้อ  ดูแลห่วงใยคนรอบข้าง

เรื่องของน้ำมือ  ถือว่าเป็นคุณสมบัติเด่น  ใตรจะหาภรรยาหาสะใภ้  ก็ดูกันตรงฝีมือหุงหาอาหาร  ระดับแค่ชาวบ้าน  ก็ยังกล่าวไว้  เช่นในเพลงพื้นบ้านเล่าถึงกระบวนการปรุงอาหารบ้านๆ ว่า

"จะหุงบ้าวไว้เผื่อ  จะต้มมะเขือไว้ท่า  ทำขนมจีนสักสองกระป๋อง  ทำลอดช่องสักสองกะลา..."

นางอมิตดาลูกสาวพราหมณ์ตกยาก  ภรรยาสาวน้อยของชูชกก็มีฝีมือในการหุงหาอาหารหลากหลาย  ตอนที่ชูชกจะเดินทางไปขอสองกุมาร  นางอมิตดาก็ตระเตรียมเสบียงไว้พรักพร้อม  ซึ่งกวีแต่ละถิ่นแต่ละภาคก็บรรยายเสบียงของนางอมิตดาไว้ต่างๆ ทั้งของสดของแห้ง  อะไรกินก่อนก็จัดวางไว้ข้างบน  อันไหนจะเก็บไว้กินทีหลังก็เอาไว้ข้างล่าง

ส่วนระดับชาววังไม่ต้องพูดถึง  อ่านกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานก็รู้ว่าประดิษฐ์ประดอยกันขนาดไหน

แม้แต่นางจันทร์ แม่ของสังข์ทอง  ที่เป็นชาววังตกยากก็ช่างประดิษฐ์ประดอยจนเป็นนิสัย  ตอนที่ระเหเร่ร่อนไปเป็นนางวิเสท  หรือคนครัวอยุ่ในวัง  สงสัยว่าพระสังข์คือลูกชายที่พลัดพรากจากกันไป  ก็อุตสาหะแกะสลักชิ้นฟักเป็นเรื่องราว  ตามที่ว่า "ชิ้นหนึ่งทรงครรภ์กัลยา  คลอดลูกออกมาเป็นหอยสังข์..." แกะเป็นเรื่องเล่าประวัติตั้งแต่พลัดพรากจนเที่ยวติดตามหา  ทำเป็นแกงจืดไปถวาย  พระสังข์เห็นชิ้นฟักแกะสลักก็เลยรู้ว่าเป็นมารดา  เรียกได้ว่าฝีมือแกะสลัก...สุดยอดดด  ขนาดต้มเป็นแกงจืดแล้วยังไม่เละ...


ส่วนที่เน้นรสชาติ  และไม่ได้เก่งคนเดียว  แต่เก่งทั้งตำบล  เห็นจะไม่พ้น "แม่ครัวหัวป่าก์" ซึ่งบรรดาแม่ครัวชาวบ้านทำอาหารถวายรัชกาลที่ ๕ สมัยเสด็จประพาสต้น  ฝีมือต้มแกงแต่ละอย่างล้วนเลิศรส  เป็นที่เล่าลือ  จนภายหลัง  ท่านผู้หญิงเปลี่่ยน  ภาสกรวงศ์  ได้รวบรวมมาพิมพ์เป็นตำราอาหารตำรับแม่ครัวหัวป่าก์  ถ้าเป็นสมัยนี้ก็กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมไปแล้ว

ยุคสมัยเปลี่ยน  ผู้คนก็เปลี่ยน  คนที่ตำบลหัวป่าก์  ไม่รู้ยังทำอาหารอร่อยอยู่หรือเปล่า

แต่ความคิดความนิยมเกี่ยวกับแม่ศรีเรือน  เสน่ห์ปลายจวัก  หายหกตกหล่นไปจากสังคมไทยแทบไม่มีเหลือ  แม่ศรีเรือนหายไป  กลายเป็น "เม่สีเรือน" คือนอนเป็นงานหลัก  คนมีเสน่ห์ปลายจวักกลายเป็นเชฟทั้งชายหญิงที่ร่ำเรียนกันเป็นการเป็นงาน  ประดับประดาข้าวปลาอาหารเป็นงานศิลป์  พร้อมที่จะผลักดันครัวไทยไปครัวโลก

รสนิยมของคนกิน  เปลี่ยนจากการ "ลงครัว" ไปเร่ร่อนเที่ยวชิมอาหารรสเลิศที่โน่นที่นี่  พร้อมกับอัพภาพขึ้นเฟส  อวดเพื่อนฝูงว่าได้ไปกินอาหารอร่อยหรูหรา  ฝีมือคนอื่นทั้งน้านนน..


เรือนสามน้ำสี่  ปัจจุบัน  เรือนกาย  เรือนผม  ดูจะโดดเด่น  ส่วนเรือนบ้านเดาเอาว่าคงไม่ค่อยเวลาดูแลสักเท่าไหร่  ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องทุ่นแรงเยอะแยะแล้วก็เถอะ

ส่วนน้ำสี่  ดูท่าจะแห้งขอด  ทั้งน้ำมือ  น้ำคำ  น้ำท่า  ส่วนน้ำใจไม่รู้ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน

สรุปว่าแม่ศรีเรือนก็กลายเป็นประวัติศาสตร์  ยุคสมัยเปลี่ยน  อะไรๆ ก็เปลี่ยน...


  

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สู่อาเซียน

ตื่นเต้นระทึกขวัญกันไม่น้อยสำหรับการเตรียมตัวเตรียมใจ  เตรียมรับการเปิดประตูสู่อาเซียน  ทำเอาคนขวัญอ่อนเริ่มกินไม่ได้นอนไม่หลับ  นึกไม่ออกบอกไม่ถูกว่าถึงเวลาเปิดประตูกันจริง ๆ แล้วจะเป็นยังไง  ไทยจะตั้งรับอย่างไร  สับสนวุ่นวายกันไปทุกวงการ

ลองตั้งสติคิดทบทวนย้อนกลับไปสู่อดีตกาล  ไทย  พม่า  ลาว  เขมร ฯลฯ มีถิ่นฐานใกล้ชิดติดกัน  อยู่ร่วมกันฉันมิตรบ้างศัตรูบ้าง  ก็ถ่ายทอดวัฒนธรรมกันไปมานับเป็นพันปี  จนภาษาไทยมีทั้งคำศัพท์ที่มาจากเขมร  พม่า  ชวา  มลายู ฯลฯ เยอะแยะ  แถมยังไปไกลถึงอินเดีย  จีน ฯลฯ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ยาลี  สันสกฤต  ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อภาษามาตั้งแต่ไหนแต่ไร  ก็ว่ากันว่าพวกพราหมณ์นำมาจากอินเดียโน่น  ราชาศัพท์ทั้งหลายทั้งปวง  ก็เป็นอิทธิพลของเขมรเสียตั้งครึ่งตั้งค่อน


ลองสแกนไปทางวรรณกรรม  ก็อีกนั่นแหละ  ต้นตำรับร้อยกรองประเภทฉันท์ก็มาจากอินเดียอีก  คำศัพท์ที่อ่านยากอ่านเย็นจนคนรุ่นนี้ตัดญาติขาดมิตรไม่ยอมทำความรู้จัก  ย้อนประวัติไปก็มาจากอินเดีย  เขมร  เสียเป็นส่วนใหญ่  ถ้าลำพังภาษาไทยแท้ก็มีแต่คำโดด  ด้วนๆ ห้วน ๆ ไม่วิจิตรบรรจงเหมือนที่ไปขอหยิบขอยืมเขามาหรอก  ใช้ไปใช้มาก็กลายเป็นภาษาไทยไปตั้งนมนานแล้ว  ถือเป็นความงอกงามทางภาษาเสียด้วยซ้ำ


วรรณคดีเรื่องใหญ่ ๆ ก็ของพี่ไทยแท้เสียเมื่อไหร่  รามเกียรติ์น่ะ  อินเตียล้วนๆ ราชาธิราชก็มาจากมอญ  พม่า  สามก๊กก็จีนเต็ม ๆ  ส่วนอิเหนาก็ของชวา  หรืออินโดนีเซียโน่น  ส่วนที่เป็นของไทยแท้ ๆ อย่างขุนช้างขุนแผน  ก็ยังมีหลายตอนที่เชื่อมโยงบ้านใกล้เรือนเคียง  อย่างลาวทองภรรยาขุนแผน  หรือสร้อยฟ้าภรรยาพลายงาม  ก็ล้วนมาจากเชียงใหม่  ถูกกล่าวขานดูถูกดูหมิ่นว่าเป็นลาวเป็นกาวดูต่ำต้อยน้อยหน้าจนกลายเป็นปัญหาใหญ่  แม้แต่พลายชุมพลปลอมตัวยกทัพมารบกับพี่ชายพลายงามก็ปลอมเป็นมอญ


หันมาทางดนตรี  บรรดาเพลงไทยเดิมที่ว่าเป็นมรดกไทยแท้ๆ แต่มีชื่อขึ้นต้นว่า  ลาว  เขมร  แขก  มอญ  จีน ฯลฯ มีอยู่เป็นกระตั้ก  เวลาบรรเลงก็มีสำเนียงออกไปทางชาติโน้นชาตินี้  เรียกว่าออก ๑๒ ภาษา  รวมทั้งเครื่องดนตรีไทย  ที่ชื่อเสียงฟ้องอยู่ชัดว่าเอามาจากชาติอื่น  ทั้งฆ้องมอญ  ปี่ชวา กลองแขก ฯลฯ

รวมทั้งชื่อหย่อมย่านบ้านเมืองในไทย  ก็มีทั้งบ้านมอญ  บ้านญวน  ข้านแขก ฯลฯ


ทั้งหลายทั้งปวงสะท้อนให้เห็นว่า  ถึงไม่เปิดประตูสู่อาเซียน  คนอาเซียนก็ไปมาหาสู่  แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาแล้ว  จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตื่นตระหนกตกใจอะไรไปมากมาย

โดยเฉพาะครูสอนภาษาไทย  ก็ไม่ต้องแตกตื่นโกอินเตอร์  สอนภาษาไทยบูรณาการอาเซียนให้วุ่นวาย

เอาพอสถานประมาณ  พิจารณาเรื่องราวอาเซียนที่สอดแทรกในภาษาไทย  กํบใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือเรียนรู้สู่อาเซียนให้กว้างขวางออกไปได้ก็เหลือกินเหลือใช้  อย่าได้ไปอุตริคาดหวังจะสอนภาษาไทยไปอาเซียน  หรือจะสอนภาษาอาเซียนมาไทย  จะสับสนวุ่นวายขายปลาชุ่อน  หลงทางกู่ไม่กลับ

เปิดประตูสู่อาเซียน  ก็แค่เปิดตา  เปิดใจ  ให้กว้างออกไปอีกหน่อย  แล้วก็จะได้เห็นโลกกว้างขึ้นอีกนิด

ยึดหลัก  ยึดรากความเป็นไทยเอาไว้ให้แน่นหนาสักหน่อยก็แล้วกัน
อย่าปล่อยให้ใครเขากลืนหายไปหมด

เอาอย่างบรรพบุรุษของไทย  ที่ฉลาดรับทุกอย่างมาเป็นของไทยอย่างเนียน ๆ แล้วท้ายที่สุดก็เป็นฝ่ายกลืนได้เรียบร้อย  เป็นมรดกวัฒนธรรมไทยไปหมดแล้ว...จริง ๆ






วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

ท้าวมหาสงกรานต์


ใกล้เทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย  จะมีการประกาศปฏิทินสงกรานต์  นางสงกรานต์คนเก่าจะส่งหน้าที่ให้คนใหม่รับช่วงต่อ  คนก็มักจะคอยสังเกตรูปลักษณะของนางสงกรานต์แต่ละปีว่าชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร  แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างไร  จะประทับบนหลังพาหนะอะไร  นั่งมาหรือนอนมา ฯลฯ แล้วก็เอาทำนายทายทักกันว่าในปีหน้าฟ้าใหม่ที่จะมาถึงจะเกิดเหตุดีร้ายอะไรยังไง

ความจริงบรรดานางสงกรานต์ทั้งหลายไม่ใช่ตัวเอกตัวจริงในประเพณีสงกรานต์  เพราะตัวเอกที่เป็นเรื่องเป็นราวให้เกิดประเพณีสงกรานต์นั้นคือ  ท้าวกบิลพรหม  พระบิดาของนางทั้งเจ็ด


มีเรื่องเล่าไว้ในตำนานว่า  ในสมัยนั้นมีเด็กน้อยที่ไม่ธรรมดาชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร  เป็นเด็กอัจฉริยะ  เฉลียวฉลาดปราดเปรื่องจนเป็นที่ร่ำลือ  ใกล้เคียงกับอิกคิวซัง  ท้าวกบิลพรหมได้ยินกิติศัพท์ก็เลยอยากลองปัญญา  โดยพนันกันว่า  ใครแพ้จะต้องตัดศีรษะตัวเอง  โดยท้าวกบิลพรหมตั้งคำถามทำนองเดียวกับท่านโชกุนในอิกคิวซังว่า  ศรีหรือสิริมงคลของมนุษย์อยู่ที่ไหน


ธรรมบาลกุมาร  ความจริงก็ไม่เจ๋งเท่าไหร่  เพราะคิดไม่ออก  แต่เผอิญเป็นเด็กอินเตอร์  รอบรู้หลายภาษา  ขณะที่ไปนั่งคิดอยู่ใต้ต้นไม้  ได้ยินนกสองตัวคุยกันเป็นภาษานกว่า  วันนี้อิ่มแน่เพราะธรรมบาลต้องตัดหัวให้ท้าวกบิลพรหม  แล้วนกเจ้าปัญญาก็เฉลยปัญหาให้เสร็จสรรพว่า  ศรีของมนุษย์ในแต่ละวันนั้นไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน  คือตอนเช้าอยู่่ที่หน้า  คนจึงเอาน้ำลูบหน้า  กลางวันอยู่ที่อกก็ต้องเอาน้ำลูบอก แต่ตอนเย็นไพล่ไปอยู่ที่เท้่า  จึงต้องเอาน้ำล้างเท้า

ธรรมบาลกุมารก็เลยฉกฉวยคำเฉลยของนกช่างพูดไปตอบคำถาม  ท้าวกบิลพรหมเมื่อแพ้ก็รักษาสัจจะ  ตัดเศียรให้ตามสัญญา  ไม่มีการบิดพลิ้วเกี่ยงให้ศาลโน้นศาลนี้ตีความ  ไม่ต้องให้ใครต้องเหน็ดเหนื่อยมาทวงสัญญา  เพียงแต่สั่งเสียธิดาทั้งเจ็ดให้ช่วยเก็บรักษาเศียรให้เป็นที่เป็นทาง  เพราะเศียรของพระพรหมนั้น  ถ้าตกลงบนดิน  แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ  โยนขึ้นฟ้าก็จะแห้งแล้ง  ฝนฟ้าไม่ตก  หรือถ้าทิ้งลงน้ำ  น้ำท่าก็จะแห้งเหือดพอ ๆ กับแม่น้ำโขง ชาวบ้านชาวเมืองจะเดือดร้อน

ธิดาทั้งเจ็ดของท้าวมหาพรหมจึงเอาพานมารองรับเศียรของพระบิดาไปเก็บรักษาไว้ที่ภูเขาแห่งหนึ่ง  เมื่อครบรอบวันที่ท้าวกบิลพรหมตัดศีรษะ  ก็จะผลัดเปลี่ยนกันรับหน้าที่นำเศียรออกมาทำบุญ  กลายเป็นประเพณีแห่นางสงกรานต์

คนไทยถือวันสงกรานต์เป็นวันกตัญญู  วันครอบครัว  ก็เพราะเหตุนี้

เรื่องราวของท้าวกบิลพรหม  น่าจะเป็นตัวอย่างของผู้ปกครองที่ดี  ทั้งเรื่องรักษาสัจจะ  แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ  และทั้งความรับผิดชอบที่แม้จะตัดเศียรก็ยังห่วงว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น

คิดถึงท้าวกบิลพรหมแล้วอดเปรียบเทียบกับนักบริหารบ้านเราไม่ได้

แตกต่างห่างไกลกันลิบลับ  ทั้งสองเรื่องแหละ







วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ลอยกระทง...อย่าหลงทาง

เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง พอเดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง..

นี่ว่าด้วยพฤติกรรมของน้ำกับวิถีชีวิตชาวไทยมาแต่โบร่ำโบราณ ไม่เกี่ยวกับน้องน้ำที่เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในปัจจุบัน

เพราะน้ำนองมาตั้งแต่เดือนสิบเอ็ด และมาทรงคือยังเต็มเปี่ยมในเดือนสิบสอง ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ท้องฟ้าแจ่มใส มองเห็นดวงจันทร์ส่องสว่าง วันเพ็ญเดือนสิบสองจึงเข้ากั๊นเข้ากันกับประเพณีลอยกระทงเหมือนในเนื้อเพลงรำวง  ที่บรรยายว่า "วันเพ็ญเดือนสิบสอง  น้ำก็นองเต็มตลิ่ง..."




ส่วนความเชื่อเรื่องลอยกระทง  ถ้าไปถามแม่นางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์  สนมเอกพญาลิไท  ซึ่งเป็นลูกสาวพราหมณ์ สมาร์ทเลดี้สมัยสุโขทัยโน่น  เธอก็ว่ามาจากประเพณีพราหมณ์เพราะพราหมณ์เขามีการลอยประทีปลงแม่น้ำคงคา คือฝากแม่คงคาไปบูชาพระอิศวร ก็เพราะพระคงคาเธอไหลผ่านเส้นเกศาพระอิศวรลงมาสู่โลกเพื่อชำระล้างบาปให้มนุษย์นี่แหละ

ประทีปที่ลอยส่วนมากก็แค่วัสดุอะไรก็ได้ที่สามารถใส่น้ำมันลงไปได้นิดหน่อยพอให้จุดไฟได้ ของพราหมณ์เขาใช้เปรียง คือไขมันโคเป็นเชื้อเพลิง  เรียกว่าพิธีจองเปรียง


รวมทั้งการลอยประทีปหรือลอยโคมขึ้นไปบนท้องฟ้า ไปเปิดตำราเก่าก่อนก็คือจุดประสงค์เดียวกัน ต่างกันที่เทคนิค  คือแทนที่จะฝากแม่คงคา  ก็ส่งทางตรงถึงพระอิศวรไปเลย

ส่วนเรื่องที่นิยมทำกระทงเป็นรูปดอกบัวนั้น นางนพมาศเธออรรถาธิบายว่า เป็นไอเดียของเธอเองล้วนๆ เกิดจากแรงบันดาลใจที่เห็นดอกบัวบานรับแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน แต่จะหุบกลีบในเวลากลางคืน เธอก็เลยคิดประดิษฐ์ดอกบัวให้บานรับแสงจันทร์ในเวลากลางคืนขึ้นมา ซึ่งพระสวามีก็เป็นปลื้ม. รับสั่งออกสื่อให้ใครต่อใครดูเป็นตัวอย่าง   ทำให้เกิดกระแสฟีเวอร์ประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวมาตั้งแต่ครั้งกระนั้น



แล้ววันเวลาก็ผ่านไป ประเพณีลอยกระทงที่น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยก็แพร่หลายสืบทอดกันมาเรื่อยๆ
 แต่ความเชื่อความคิดเริ่มบิดเบี้ยวไปจากเดิม ก็เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาพราหมณ์ แต่ก็อยากลอยกระทงง่ะ..มีปัญหาอะไรหรือเปล่า

ก็เลยแปลงเสียนิดเสียหน่อยพอให้ดูเข้าทีเข้าท่าพอรับได้ เป็นต้นว่า

๑.  เป็นการขอบคุณพระแม่คงคาที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิต รวมทั้งขอขมาที่ได้ทำอะไรไม่ดี ทิ้งของโสโครกลงไปในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งหลังจากขอขมาแล้วก็ยังทิ้งกันต่อไป เลยต้องขอโทษกันทุกปี

๒.  เป็นการลอยเคราะห์ ลอยโศก ลอยสิ่งไม่ดี ฝากสายน้ำไป ความเชื่ออันนี้ว่าที่จริงก็สืบเนื่องมาจากพราหมณ์ที่เชื่อว่าแม่คงคาจะชำระบาปผิดทั้งหลายทั้งปวง เกิดเป็นประเพณีที่มีการรดน้ำ ลอยน้ำฯลฯ อีกหลายๆประเพณี คนที่เชื่อแบบนี้ เวลาลอยกระทงก็มักจะตัดเล็บ ตัดผม หรือใส่เศษสตางค์ลงไปในกระทง ทำนองว่าให้ทาน ใครมาเก็บกระทงไปก็ได้เศษเงิน แถมด้วยรับเคราะห์ที่แบ่งไปให้ด้วย ดูเป็นการทำบุญแฝงเจตนายังไงๆอยู่เหมือนกันนะ

๓.  เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ฝั่งแม่น้ำนัมทา ที่ในพุทธประวัติว่าพระพุทธเจ้าเคยประดิษฐานรอยพระบาท คือเหยียบไว้ เมื่อไม่สามารถเดินทางไปไหว้พระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมทาได้ก็เลยสมมติเอาแล้วกัน นี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่า ในกระทงก็เลยมีการใส่ดอกไม้ และปักธูปสามดอกเหมือนบูชาพระ ทั้งๆที่ลอยกระทงหรือลอยประทีปต้นตำรับเขามีแค่ไฟหรือเทียน ธูปไม่เกี่ยว

ความคิดความเชื่อเรื่องการเสดาะเคราะห์  ล้างบาป ฯลฯ มีอยู่ในหลายศาสนาเหมือนกัน  ที่บูชาเทพเจ้าหรือพระเจ้า  ส่วนมากก็จะสวดมนตร์อ้อนวอนขอให้ยกโทษ  บ้างก็มีการทรมานกายเป็นการลงโทษตัวเอง  หรือฆ่าคนหรือสัตว์อื่น  ทำนองว่าไถ่โทษแทนตัว


นอกจากนั้น  ก็มีอีกสองวิธีที่ออกจะเป็นที่นิยม  คือถ้าไม่ล้างน้ำ  ลอยน้ำ  รดน้ำ ฯลฯ ก็ใช้ไฟเผา  ที่พราหมณ์เรียกว่า  บูชากูณฑ์  คือบูชาไฟ  นั่นแหละ

ถ้าล้างน้ำก็เบาหน่อย  แค่ล้างสิ่งสกปรกผิดบาป  ทำให้สะอาดขึ้น  แต่ถ้าเผาไฟ  ก็คือตัดหมด  ตัดทั้งกิเลสตัณหา  ทั้งตัวตน  เหมือนไปเกิดใหม่  เริ่มต้นใหม่กันอีกที  ทำนองเซ็ตซีโร่  ประพณีเผาศพ  เผาตัวตาย  ในอินเดีย  ก็มาจากความคิดนี้

แต่ในพุทธศาสนา  เป็นคนละความคิด   ความผิดบาปไม่มีอะไรล้างได้  และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม  คือทำอย่างไรก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น

น้ำก็ล้างไม่ได้  ไฟก็เผาไม่หมด  หรือแม้แต่อำนาจล้นเหลือ  เงินล้นฟ้า  ก็ล้างกรรมที่ทำไว้ไม่ได้

กรรมย่อมติดตามไปทุกหนแห่ง  เหมือนเงาที่ติดตามตัวไป  หนีไปไหนก็ไม่พ้น  ต่อให้หนีไปจนสุดโลก  หรือไปเกิดใหม่  กรรมก็ยังตามข้ามภพชาติ

เล่นเกม  พอเซ็ตซีโร่ได้  แต่เรื่องกรรม  ท่านว่า...ไม่สามารถ