คนไทย ที่เติบโตขึ้นมาในสังคมไทย ๆ กินข้าวเป็นอาหารหลักกันมาแต่เล็กแต่น้อย คงไม่มีใครไม่รู้จัก แม่โพสพ
แม่โพสพ คือเทพธิดาซึ่งเชื่อกันว่าคอยคุ้มครองดูแลรักษาพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยเฉพาะ ข้าว
ตำนานแม่โพสพมีมากมาย หลากหลาย ที่คล้าย ๆ กันก็คือ แม่โพสพเป็นนางฟ้าใจดี คอยคุ้มครองพืชพันธุ์ธัญญาหาร เพื่อให้มนุษย์ไม่อดอยาก
แต่แม่โพสพก็ค่อนข้างอ่อนไหว ขี้ใจน้อยตามประสาผู้หญิง ในตำนานหลายเรื่องจึงกล่าวถึงการที่แม่โพสพน้อยอกน้อยใจที่คนไม่เห็นความสำคัญ แล้วหนีไป ทำให้ผู้คนเพาะปลูกไม่ได้ผล ต้องเที่ยวติดตามงอนง้อขอให้แม่โพสพกลับมา
คนที่ทำอาชีพเกษตรกรรม จึงมีประเพณีเอาอกเอาใจแม่โพสพในหลาย ๆ โอกาส ไม่ว่าจะเป็นก่อนการทำนา เก็บเกี่ยว หรือขนข้าวขึ้นยุ้ง
ความเกรงอกเกรงใจ ให้เกียรติแม่โพสพ ยังปรากฏในความเชื่อต่าง ๆ เช่น ห้ามกินข้าวเหลือ ห้ามทำข้าวหก เพราะแม่โพสพจะเสียใจ เวลากินข้าวก็ห้ามเคาะจานข้าวเล่น เพราะแม่โพสพอาจจะขวัญอ่อน ตกใจ แล้วก็หนีไป ฯลฯ
ก็ไม่แน่ว่าจะเชื่อจริง หรือเป็นกุศโลบาย แต่อย่างน้อย เรื่องแม่โพสพก็สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมไทยๆ ที่ผูกพันใกล้ชิด เป็นมิตรกับธรรมชาติ ที่เด่นชัดมาก ๆ ก็คือ ความกตัญญูรู้คุณต่อธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน สายน้ำ ต้นไม้ ฯลฯ
ต่างจากคนรุ่นใหม่ที่ใช้ธรรมชาติกันแบบไม่บันยะบันยัง จนโลกร้อน ฝนแล้ง เกิดภัยพิบัติกันไปทั่ว
บางประเทศที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก อย่างที่เนปาล ชาวบ้านเขาปลูกข้าวกินเองที่บริเวณหน้าบ้าน เป็นแปลงเล็กนิดเดียว เก็บเกี่ยวแล้วก็เอามานวดกันอยู่ตรงแถว ๆ ประตูบ้าน คงพอเก็บไว้กินในครอบครัว ไม่เหลือเผื่อขาย
ต่างจากเมืองไทยที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เดิมก็อาจแค่ปลูกไว้กิน แต่เมื่อเพาะปลูกอะไรก็เหลือกิน ที่ดินก็มีอยู่เหลือเฟือ จากการปลูกข้าวไว้กินจึงเหลือเผื่อขาย กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ
แล้วเมื่อเป็นเศรษฐกิจ ก็กลายเป็นปัญหา
ชีวิตชาวนาแต่เก่าก่อน จะว่ารันทดก็คงไม่เชิง เพราะวรรณกรรมพื้นบ้านสะท้อนให้เห็นความสุขเรียบง่ายสไตล์ชาวนา เกี่ยวข้าวก็ร้องเพลงเล่น ถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็มาช่วยกันลงแขก ได้ผลิตผลเหลือก็เอามาแบ่งปัน ทำบุญทำทาน
อาชีพทำนาจึงเป็นอาชีพอิสระ ที่สืบทอดกันต่อมาหลายต่อหลายชั่วอายุคน
ชีวิตขมขื่นของชาวนาไทย เพิ่งจะสะท้อนออกมาในยุคหลัง ๆ เมื่อข้าวกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ นายทุนเริ่มเข้าไปหาผลประโยชน์ ชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำนาเท่าไหร่ก็ไม่ร่ำไม่รวย ยิ่งทำมากก็ต้องลงทุนมาก แต่กลับขายได้ไม่มากเท่าที่ลงทุน เพราะตกเรี่ยเสียหายไปเข้ากระเป๋านายทุน
วิถีชีวิตชาวนาไทยที่ "หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน" จึงออกจะรันทด กดดัน จนกลายเป็นคับแค้น เหมือนที่ จิตร ภูมิศักดิ์ กวีเพื่อชีวิต พรรณนาว่า
"เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
ข้าวกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้นะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว นั้นทุกข์ยากลำบากเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดนั้นยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเปิบกิน..."
วิถีชีวิตพอเพียงของคนไทยสมัยก่อน เงินทองไม่ได้มีค่ามากนัก หรืออย่างน้อยก็ไม่ถึงเห็นเงินเป็นพระเจ้าเหมือนอย่างสมัยนี้
ผ้าก็ทอใช้เอง ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ส่วนมากก็ทำขึ้นเอง ยาก็ใช้สมุนไพรใกล้ตัว กับข้าวก็มีผักปลา หาได้รอบบ้าน
เงินทำให้ชีวิตแปรเปลี่ยนไป
ความต้องการเงินและเครื่องอุปโภคบริโภคที่มากขึ้น ทำให้ชีวิตคนยากขึ้น
เห็นการรับจำนำข้าวที่ขาดทุนมโหฬาร มองเห็นกองข้าวที่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานของชาวนามากองสุม ไม่มีที่ระบาย ปล่อยให้ขึ้นรา
ทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเกิดขึ้นด้วยฝีมือนักบริหารระดับที่บริษัทไหนก็ไม่จ้าง ยกเว้นบริษัทประเทศไทย...
ตอนนี้สถานการณ์ข้าวไทยมีแต่ทรุด จากที่เคยเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก ตอนนี้มีคนออกมาเสนอให้ขายเป็นอาหารสัตว์ไป ยังดีกว่ากองให้เสื่อมสภาพ เสียของเปล่า ๆ
อย่าว่าแต่ชาวนาเลยที่เจ็บช้ำ แม่โพสพก็คงน้ำตาตก
คิดว่าตอนนี้ แม่โพสพ ขวัญข้าว คงขวัญหนีดีฝ่อไปแล้วละ
เข้าใจว่าคงหนีไปตั้งหลักแถวเวียตนาม พม่า ฯลฯ อะไรทำนองนั้น
ไม่รู้เหมือนกันว่า แม่โพสพหนีไปคราวนี้จะตามกลับมาได้ง่าย ๆ หรือเปล่า
หรือเข็ดขยาดนโยบายข้าวไทย หนีไปชนิดกู่ไม่กลับแล้วก็ไม่รู้