วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ล้วนรูปนิรมิตมายา

ล้วนรูปนิรมิตมายา




อินทรชิตบิดเบือนกายิน            เหมือนองค์อมรินทร์
ทรงคชเอราวัณ
ช้างนิิมิตฤทธิแรงแข็งขัน          เผือกผ่องผิวพรรณ
สีสังข์สะอาดโอฬาร์
..........
คำประพันธ์ตอนนี้  อยู่ในบทพากย์เอราวัณ  เป็นตอนที่อินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ  ซึ่งกวีจินตนาการไว้พิสดารพันลึก  ชนิดที่อ่านแล้วต้องสงสัยว่า...คิดไปได้ยังไง

อินทรชิตเป็นลูกชายสุดเลิฟของทศกัณฐ์  เดิมชื่อรณพักตร์  มีฝีมือร้ายกาจขนาดเอาชนะพระอินทร์ได้  เลยได้ชื่อใหม่ว่า อินทรชิต  แปลว่าชนะพระอินทร์

นอกจากฝีมือร้ายกาจแล้ว  อินทรชิตยังมีศรวิเศษ  คือศรนาคบาศ และศรพรหมมาศ  ซึ่งถ้าโดนเข้าจัง ๆ ไม่ว่าใครหน้าไหน  รับรอง  จอดไม่ต้องแจว

อินทรชิตรบกับกองทัพพระรามมาหลายยกก็ยังเอาชนะไม่ได้  เพราะฝีมือลายมือก็พอฟัดพอเหวี่ยงกัน   อินทรชิตเลยใช้อุบาย  แปลงกายเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ  รวมทั้งกองทัพยักษ์ก็เนรมิตให้กลายเป็นกองทัพพระอินทร์  แห่แหนกันมาอีึกทึกครึกโครม


ซึ่งก็ได้ผล  เมื่อพระัลักษมณ์ยกทัพมา  ตั้งใจจะรบกับยักษ์ดันมาเจอกองทัพเทวดาเข้าก็เอ๋อเหรอไปชั่วขณะ  ไม่รู้เหมือนกันว่างงเพราะตื่นตะลึงกับความพิสดารพันลึกของกองทัพนิรมิต  หรืองงว่าอยู่ดีๆ พระอินทร์ซึ่งเป็นเทพ  ดันมาอยู่ฝ่ายมารได้ยังไง

ก็เลยเป็นชั่วขณะที่อินทรชิตได้ที  แผลงศรพรหมมาศ     ถูกพระลักษมณ์เข้าเต็ม ๆ

หลังจากนั้นก็ชุลมุนชุลเก  หนุมานโดดเข้าไปหักคอช้างเอราวัณปลอม  ก็โดนอินทรชิตเอาคันศรฟาดสลบเหมือด  กองทัพฝ่ายพระลักษมณ์ก็แตกกระเจิง

ทางฝ่ายพระรามพอรู้ข่าวก็รีบมาที่สนามรบ  เห็นทั้งพระลักษมณ์  หนุมาน  รวมทั้งขุนทหารพลทหารล้มตายระเนระนาด  เล่นเอาช็อคหมดสติไปอีกคน

ทศกัณฐ์ฉวยโอกาสตอนนี้  บอกนางสีดาว่าพระรามตายแล้ว  แถมพามาให้ดูให้เห็นกับตา

ดีที่ว่านางสีดา  แกมีวิจารณญาณเป็นเลิศ  ไม่ยอมเชื่อง่าย ๆ เลยอธิษฐานว่า  ถ้าพระรามตายจริงก็แล้วไปเถอะ  แต่ถ้ายังไม่ตายขอให้รถทรงลอยขึ้น  แล้วก็เกิดปาฏิหารย์  รถลอยขึ้นจริง ๆ

นางสีดาก็เลยไม่หลงกลทศกัณฐ์

นี่แหละ  เขาถึงว่า สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

ในการศึกสงคราม  การสร้างกลลวง  หาวิธีเอาชนะทุกรูปแบบ  เป็นเรื่องธรรมดา  ไม่เชื่อไปถามขงเบ้ง  หรือ ซุนวูดูก็ได้

อย่าว่าแต่ในสงครามเลย  ที่ไหน  เมื่อไหร่  ไม่ว่ายุคสมัยไหน  เรื่องของเล่ห์กลมายา  การหลอกลวงเยอะแยะ  ไม่เชื่อไปถามซาตานอีกคน

ที่สำคัญก็คือ  กาลเวลา  การศึกษา ฯลฯ  ไม่ได้ทำให้คนฉลาดขึ้น  ตรงข้าม  กลับยิ่งหลงมัวเมากับรูปนิรมิตมายามากขึ้นทุกวัน  เรียกว่า  ไม่ได้เศษเสี้ยวนางสีดา

เราจึงเห็นโฆษณาเกินจริงชนิดเหลือเชื่อ  แต่ก็ยังมีคนเชื่อ

เห็นดาราสวยหล่อมากมาย  ที่หลายส่วนเกิดจากฝีมือนิรมิตของบรรดาคุณหมอ และข่างเสริมสวย  แต่ผู้คนก็แห่ห้อมล้อมหน้าหลัง  ชื่นชมปลื้มเปรมกับรูปมายา

และเห็นการหลอกลวงชนิดที่ไม่อายปากอายใจ  เรียกว่า แข่งกันลวง  แข่งกันหลอก  ไปทุกระดับ จนถึงระดับชาติ

พอถูกจับได้คาหนังคาเขา  ก็อ้างว่าเป็นโกหกขาว...

ไม่รู้ว่าช้าเกินไปหรือเปล่า  ที่หลักสูตรการเรียนการสอนของเรา  เพิ่งนำเรื่องการรับสารอย่างมีวิจารณญาณมาให้เรียนกัน  หลังจากปล่อยให้คนรับสารแบบไร้วิจารณญาณกันมาเนิ่นนาน...  นานจนน่ากลัวว่าจะสายเกินแก้

ก็เหมือนกองทัพพระลักษมณ์หลงภาพนิรมิตนั่นแหละ  หลงจนมองไม่เห็นศรพรหมมาศในมือมาร...













วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อิเหนา เผาเมือง

อิเหนา เผาเมือง


 อิเหนาเป็นพระเอกวรรณคดี  ที่ค่อนข้างจะห่างไกลจากพระเอกในอุดมคติ  ภาพลักษณ์ของอิเหนากระเดียดไปทางผู้ร้ายเสียมากกว่า   จนสมัยหนึ่งเกือบถูกถอดออกจากหนังสือเรียน  เพราะอิเหนานั้น ทั้งเห็นแก่ตัว  ขาดความรับผิดชอบ  และทำอะไรๆ เลวร้ายเป็นตัวอย่างที่ไม่น่าเอาอย่าง

นั่นก็เป็นเพราะนักอ่านยังไม่ใช่นักคิด  ถ้าอ่านแบบนักคิดก็จะเห็นว่าที่จริงพฤติกรรมของตัวละครก็สะท้อนให้เห็นธาตุแท้ของมนุษย์ที่น่าศึกษา


นักจิตวิทยาวิเคราะห์ว่า อิเหนาสะท้อนตัวตนคนธรรมดา  ที่มีปมเด่นล้นเหลือ จนถึงขั้นหลงตัวก็เพราะเกิดมาพรั่งพร้อม  ทั้งเฉลียวฉลาด ชาติตระกูลดี  รูปร่างหน้าตาหล่อเหลาฯลฯ  แถมยังถูกเลี้ยงดูมาแบบทูนหัวทูนเกล้า  มีบริวารแวดล้อมคอยส่งเสริม  ไม่ว่าทำอะไรก็ไม่เคยมีใครห้ามปราม  ก็เลยหลงตัว  ยึุดตัวเองเป็นศูนย์กลาง  ไม่ได้คิดถึงคนอื่น

ความเอาแต่ใจตัวของอิเหนามีอยู่ชัดเจนตลอดเรื่อง  ตั้งแต่ท้าวกุเรปันให้หมั้นกับบุษบาก็วีนแตก แหกคอก  ไม่ยอมรับรู้รับฟังเหตุผล  หนีออกจากบ้าน...เอ๊ย ออกจากวังเหมือนเด็กมีปัญหา  แล้วก็ไปคว้าจินตะหราลูกสาวเจ้าเมืองเล็ก ๆ มา  ซึ่งก็กลายเป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกในตอนหลัง

ส่วนเรื่องที่ผู้ใหญ่หมั้นหมายให้ตามประเพณี  ก็ปล่อยให้ผู้ใหญ่กุมขมัย  หาทางแก้กันไปเอง  ท้าวดาหาต้องขายผ้าเอาหน้ารอด  ด้วยการประกาศบิ๊กเซล  ส่งรูปบุษบาไปโฆษณาทั่วทิศ  ใครมาก่อนได้ก่อน  ทำให้บุษบากลายเป็นขนมหวานให้วิหยาสะกำ  กับจรกาทำสงครามแย่งชิงกันวุ่นวาย

โดยที่ตัวอิเหนาคนสร้างปัญหาทำไม่รู้ไม่ชี้  จนท้าวกุเรปันเหลืออด  ต้องยื่นคำขาด โดยการส่งจดหมายไปให้

ข้อความในจดหมายของท้าวกุเรปันนั้น  กระตุกต่อมสำนึกของอิเหนาได้ไม่เบาเลยทีเดียว  โดยเฉพาะตอนท้ายที่ว่า


ซึ่งครั้งนี้เกิดเหตุเภทภัย    ก็เพราะใครทำความไว้งามพักตร์
ครั้งหนึ่งก็ให้เสียวาจา       อายชาวดาหาอาณาจักร
ครั้งนี้เร่งคิดดูจงนัก           จะซ้ำให้เสียศักดิ์ก็ตามที
แม้นมิยกพลไกรไปช่วย    ถึงเราม้วยก็อย่ามาดูผี
อย่าดูทั้งเปลวอัคคี            แต่นี้ขาดกันจนบรรลัย

เจอไม้แข็ง  ถึงขนาดตัดพ่อตัดลูก  ตายก็ไม่ต้องเผาผี   อิเหนาก็คงกลัวไม่ได้มรดกอยู่เหมือนกัน  ก็เลยจำใจยกทัพไปช่วยรบ


แล้วก็เลยได้พบบุษบาคู่หมั้นที่ตัวเองสลัดทิ้ง  พอเห็นบุษบาเข้าอิเหนาก็เกิดเสียดายขึ้นมา  แล้วพอเกิดอยากได้ขึ้นมาใครจะหวงห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง  ตามประสาเด็กนิสัยเสีย

อิเหนาก็เลยพยายามทุกวิถีทางที่จะเอาให้ได้  ทั้งพาลหาเรื่องจรกา  ใส่ร้ายป้ายสีสารพัด  ท้ายที่สุดถึงขนาดวางแผนเผาเมืองลักพาบุษบาไปซ่อน  แล้วก็ปั้นหน้าบริสุทธิ์ใสซื่อกลับมาแก้สงสัยในเมือง  จนใคร ๆ ก็หลงเชื่อ  หรืออาจไม่เชื่อแต่จับไม่ได้คาหนังคาเขา  ไม่มีหลักฐานชัดแจ้ง  ก็ต้องยกประโยชน์ให้จำเลย

เรื่องนี้คนทำอะไรไม่ได้  แต่เทวดาเหลืออด  องค์ปะตาระกาหราต้องลงมือเองด้วยการให้พายุพัดนางบุษบาลอยหายไป  แล้วให้อิเหนามะงุมมะงาหราตามหาเสียกลายเป็นวรรณคดีเรื่องยาวเหยียด

ไม่ค่อยแน่ใจว่าใครบางคนที่เป็นนักวางแผนในบ้านเรา  เคยอ่านวรรณคดีเรื่องนี้หรือเปล่า  แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็ดูเหมือนเลียนแบบ  ไม่ว่าจะเป็นการเผาเมืองให้ชาวบ้านร้านถิ่นเดือดร้อน  เพื่อจะฉวยโอกาสแย่งชิงสิ่งที่ต้องการ  หรือทำตีหน้าไม่รู้ไม่ชี้มาแก้สงสัยต่างๆ นานา  ถึงจะรู้ว่ามีคนไม่เชื่อตั้งมากมาย  แต่เมื่อไม่มีหลักฐานใครก็ทำอะไรไม่ได้

ความจริงคนเขียนวรรณคดี  เขาก็ไม่ได้เขียนให้อิหนาเป็นพระเอกอะไรนักหนา  ตรงกันข้าม  ยังชี้ให้เห็นว่าการกระทำของอิเหนาล้วนแต่สร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้าง  ไม่ว่าพ่อแม่ลุงป้าน้าอา  ผู้หญิงที่อิเหนาคิดเอาว่ารัก  แต่ความจริงคืออยากได้  และอยากเอาชนะ  รวมไปถึงประชาชนพลเมืองทีอยู่ดี ๆ ก็พลอยรับเคราะห์ไปด้วย

อิเหนาฉบับดั้งเดิม  ไม่มีใครทำอะไรได้เพราะเป็นลูกหลานเทวดา  ต้องอาศัยเทวดาฟ้าดินลงโทษ

อิเหนาเวอร์ชั่นนี้  ปมเด่นปมโด่งไม่ได้น้อยกว่าเวอร์ชั่นแรก  ทั้งเก่ง ทั้งฉลาด  เจ้าเล่ห์แสนกลไม่น้อยไปกว่ากัน  ข้าทาสบริวารก็มากมาย คอยห้อมล้อมเสนอสนองกันสุดฤทธิ์สุดเดช

ตอนนี้  เผาเมืองก็แล้ว  แก้สงสัยไปน้ำขุ่น ๆ ก็แล้ว

ว่าที่จริง  ฟ้าดินก็ลงโทษให้ต้องออกไปมะงุมมะงาหรา  หาทางกลับบ้านไม่ได้ไปแล้ว

แต่ก็ดูทีท่าว่าจะยังไม่ค่อยรู้สึกตัว

คงต้องรอดูกันว่า  องค์ปะตาระกาหรา  จะจัดการกับพระเอกนิสัยผู้ร้ายคนนี้ยังไง











วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หนุมานทหารกล้า

หนุมานทหารกล้า




คงไม่มีใครไม่รู้จักหนุมาน  ทหารเอกพระราม
บทบาทของพระรามในรามเกียรติ์  ว่าที่จริงเกือบจะโดดเด่นกว่าพระเอกของเรื่องด้วยซ้ำไป  เนื่องจากพระเอกของเรื่อง คือพระราม  เป็นเทพอวตาร  บทบาทก็เลยออกจะนิ่งๆ ไว้ท่าที  ส่วนหนุมาน ถึงจะมีเชื้อสายเผ่าพงศ์วงศ์เทวดา  แต่มารดาถูกสาปใ้ห้ออกลูกเป็นลิง  ก็เลยเป็นลิงเต็มร้อย

บุคลิกภาพของหนุมาน  ถึงจะเป็นลิงชั้นพิเศษ มีขนเพชร เขี้้ยวแก้ว อะไรก็แล้วแต่  แต่ก็ยังคงเป็นลิง  หลุกหลิกล่อกแล่กอยู่ไม่สุขตามประสาลิง

ความจริงรามเกียรติ์์มีหลายสำนวน  เผยแพร่อยู่ในหลายชาติ  แต่ละชาติก็สร้างหนุมานตามรสนิยมของตัว  เป็นต้นว่า อินเดียถือว่าหนุมานเป็นเทพที่คอยช่วยพระนารายณ์  มาดของเขาก็สุขุมคัมภีรภาพกว่าหนุมานของไทยเยอะ


แต่หนุมานไทย  สร้างขึ้นตามรสนิยมคนไทยที่นิยมคนกล้า ใจถึง  แถมด้วยมาดพระเอกที่ฉลาดแกมโกง  แถมเจ้าชู้อีกต่างหาก หนุมานไทยก็เลยเป็นอย่างที่เราเห็นๆ กัน


หนุมานนับว่าเป็นคนรับใช้ในฝันของคนชอบเป็นนายทั้งหลาย  เนื่องจาก ไม่ว่างานอะไร  ก็ขันอาสาไปได้ทุกเรื่อง  แล้วส่วนมากก็ทำสำเร็จ  แถมยังเกินที่สั่งไปเสียอีก  จนเกิดเป็นสำนวน "เหาะเกินลงกา"

เป็นต้นว่า  ใช้ไปสืบข่าวนางสีดาก็ไปแถมเผากรุงลงกาเสียด้วย  ใช้ไปหาที่ตั้งเืมืองใหม่ก็เอาหางไปกวาดเสียราบเรียบเตียนโล่ง  แถมปักเขตจับจองเสร็จสรรพ


ที่ว่าหนุมานเป็นคนรับใช้ในฝัน  ก็คือการทำงานแบบอาสาเจ้าจนตัวตาย  อาสานายจงพอแรง เพราะไม่ว่าเรื่องอะไร  หนุมานทำแบบสุด ๆ ไม่คิดถึงชีวิต  ไม่ว่าศึกไหน  สู้กับใคร หนุมานเป็นต้องออกหน้าทุกครั้ง  แถมยังโชว์ฟอร์มได้ประทับใจ  ชนิดที่ถ้านายไม่ปลื้มก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว

แม้แต่ตอนเผด็จศึกทศกัณฐ์ก็เพราะฝีมือหนุมานทหารเอกคนนี้แหละ

หลังจ่ากรบรับขับเคี่ยวกันมานาน  ไพร่พลล้มตายกํนจนเกือบหมดทั้งสองฝ่ายก็ยังเอาแพ้ชนะกันไม่ได้  หนุมานก็เลยแกล้งทำทีเปลี่ยนใจไปสวามิภักดิ์กับทศกัณฐ์  แล้วก็ออกอุบายขโมยกล่องดวงใจทศกัณฐ์มา  ครั้นมาถึงสนามรบก็หักหลังทศกัณฐ์ด้วยการขยี้กล่องดวงใจทศกัณฐ์เสีย  พระรามถึงได้แผลงศรฆ่าทศกัณฐ์ได้สำเร็จ

พระรามก็สมเป็นนายใหญ่  เมื่อคนรับใช้แบบยอมตายถวายชีวิต  ก็ตอบแทนอย่างถึงใจด้วยการยกเมืองให้ครึี่งหนึ่ง

หนุมานก็เลยได้นั่งเมือง  โก้เสียไม่มี...

แต่นิสัยหนุมานที่เป็นลิงขนานแท้  เหมาะกับการเป็นคนใช้ไปตลอดชีวิต  ทำให้นั่งเมืองได้ไม่เป็นสุข  ให้ร้อนรุ่มกลุ้มใจ  ที่สำคัญก็คือทนสายตาดูหมิ่นของบรรดาข้าราชการประจำทั้งหลายไม่ได้  ในที่สุดก็เลยถวายส่วนแบ่งคืนให้พระรามไป

เมื่อหนุมานไม่อยากครองอโยธยา  พระรามก็หาที่สร้างเมืองใหม่ให้  โดยแผลงศรไปตกที่ลพบุรีโน่น  แล้วก็สร้างเมืองให้หนุมาน

แต่หนุมานก็ครองเมืองลพบุรีได้ไม่นาน  เพราะนิสัยดั้งเดิมที่เป็นลิง ในดีเอ็นเอ  พอเผลอตัว  นิสัยลิงก็แสดงออก  จนสนมกำนัลเก็บเอาไปเมาท์กันสนุกปาก

หนุมานทนเป็นขี้ปากไม่ได้  ก็เลยหนีไปบวช  อยู่ป่าตามประสาลิง

ทุกวันนี้เราเห็นคนอาสานายสุดชีวิตแบบหนุมาน  ที่เหาะเกินลงกาก็บ่อย  แล้วก็ถูกใจนายใหญ่ได้ปูนบำเหน็จกันเิอิกเกริก  ไม่ถึงกับนั่งเมืองก็เกือบๆ ไป

ต่างกันตรงที  หนุมานมีความละอาย
ไปนั่งเมืองเทียบกับพระรามก็ออกอาการเขิน  ทนสายตามหาชนไม่ได้

ไปทำอะไรผิด ๆ ถูก ๆ ปล่อยไก่ให้คนเขาหัวเราะเยาะ  ก็อับอาย  ไม่กล้าทำหน้าทนไม่รู้ไม่ชี้

หนุมานได้รับยกย่องเป็นเทพ ก็คงเพราะคุณธรรมตรงนี้

ส่วนหนุมานบ้านเรา  ไม่มีความละอาย
ไม่ว่าใครจะมองอย่างไร  นินทาสักขนาดไหน  ก็ไม่สะดุ้งสะเทือน

คงไม่อาจเทียบชั้นหนุมานได้  อย่างมากก็แค่...มาร









วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แรงเงา??

แรงเงา??


ยั้้งไม่หยุด  ฉุดไม่อยู่ !!!
จะอะไรเสียอีกละ่  ก็เรตติ้้งละครหลังข่่าวน่ะซี

สมัยดอกส้มสีทองก็ส่งเรยาในบทเมียน้อยตัวร้ายให้ดังระเบิดระเบ้อ


พอมาถึงมุนินทร์ในแรงเงา  ก็กลายเป็นประเด็นร้อน ให้บรรดาผู้ห่วงใยสังคมออกมาแสดงความห่วงใยกันยกใหญ่

แต่ก็ยั้งไม่หยุด  ฉุดไม่อยู่  ก็ชาวบ้านเขาชอบของเขาอย่างนั้น ใครจะไปว่าอะไรได้  เหมือนการเมืองไทย  เขาเลือกของเขามาอย่างนั้น  ไม่อยากดูก็อย่าไปทนดู  ไม่ได้มีใครว่าอะไรสักหน่อย

ดูละครสมัยนี้้แล้วคิดถึงหลักการใช้ภาษา  ในการเขียนบทละครแต่ก่อนเก่า  เขาจะสอนว่าให้คำนึงถึงพื้นฐานตัวละคร  ถ้าระดับไฮโซ  คุณหญิงคุณนาย  คนมีการศึกษา  ภาษาก็ต้องระดับหนึ่ง  ถ้าเป็นชนชั้นล่าง  คนพาลสันดานต่ำ  ภาษาก็ต้องอีกระดับหนึ่ง

ตามสำนวนไทยที่ว่า "สำเนียงส่อภาษา  กิริยาส่อสกุล"

ที่ไหนได้  เดี๋ยวนี้กลับกลายเป็นว่า ตัวละครไม่ว่าระดับไหน  ได้รับการศึกษามาแค่ไหน  ก็ล้วนแต่ด่าทอกันไฟแลบ  ไม่พอใจก็กระโดดเข้าตบตีกันเป็นโกลาหล


เหมือนพระราชนิพนธ์ ร.๖ ที่ว่า  "ความรู้อาจเรียนทันกันหมด  เว้นแต่ชั่วดีกระด้าง ห่อนแก้ ฤาไหว"

สะท้อนให้เห็นผลของการศึกษา  ซึ่งสมัยก่อนเขาเรียกว่า  ได้รับการศึกษาอบรม  แต่ปัจจุบัน อบรมมันหายไป  เหลือแต่การศึกษา  ได้ปริญญากันเป็นว่าเล่น  แต่เรื่องกิริยามารยาท  ทำตกหายไปตอนไหนไม่รู้


ว่าที่ำจริง  เรื่องของผู้หญิงด่าทอ  ตบตีแย่งชิงสามี  ก็คงมีกันมาตั้งแต่สมัยไหน ๆ สำนวนไทยก็ยังมีว่า  "เสียทองเท่าหัวไม่ยอมเสียผัวให้ใคร" ทั้งนี้ทั้งนั้น  อาจไม่ใช่เพราะความรัก  แต่เป็นเพราะนิสัยชอบเอาชนะ  ประเภท "ฆ่าได้  หยามไม่ได้"

ไม่ได้รักอะไรนักหนาหรอก  แต่มันเสียหน้า เสียฟอร์ม

วรรณคดีที่สะท้อนเรื่องพวกนี้ก็มีอยู่หลายเรื่อง  แต่ที่โดดเด่นชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง พระอภัยมณี

ว่ากันว่า  สุนทรภู่เขียนเรื่องนี้จากชีวิตจริง  บรรดานางเอกทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็นนางผีเสื้อสมุทร  นางเงือก นางสุวรรณมาลี  นางละเวง  ก็ล้่วนจำลองมาจากบรรดานางๆๆ ทั้งหลายในชีวิตของกวีเอกท่านนี้



คู่เอกในเรื่องพระอภัยมณี  ได้แก่สุวรรณมาลี ราชธิดากรุงผลึก  กับนางละเวงที่โชคชะตาฟ้าลิขิตให้ครองอำนาจ  เป็นราชินีเมืองลังกา

นางละเวงได้ครองเมืองเพราะบังเอิญพ่อและพี่ชายเสียชีวิตในสงคราม  ก็สงครามชิงนางสุวรรณมาลีนั่นแหละ  สร้างรอยแค้นที่ต้องมาทวงคืน

และด้วยความเป็นสาวสวย  เรื่องอะไรจะไปลงมือเองให้เหนื่อย  นางละเวงก็เลยใช้เสน่ห์หญิง  ให้ช่างวาดรูปแถมทำเสน่ห์ใส่  ส่งไปประชาสัมพันธ์ให้บรรดากษัตริย์ทั้งหนุ่มทั้งแก่ไปรบแทน  ใครรบชนะก็จะแต่งงานด้วย  เห็น ๆ ว่าแผนนี้มีแต่ได้กับได้

ผลก็คือ เจ้าละมาน  กษัตริย์ที่หลงรักนางละเวง  อาสาไปรบกับกรุงผลึกจนตัวตาย วิญญาณยังหลอนเข้าสิงรูป  ทำให้พระอภัยเห็นรูปเข้าก็หลงเป็นบ้าไปอีกคน

แล้วในที่สุดนางละเวงโฉมงามก็ใช้เสน่ห์ล่อเอาพระอภัยมณี แถมยังให้หลานสาวใช้เสน่ห์ทำนองเดียวกัน  ล่อศรีสุวรรณ กับสินสมุทร  ให้หลงหัวทิ่มหัวตำ  ทิ้งบ้านเมืองไปอยู่กับฝ่ายเมืองลังกากันหมด

ซึ่งสร้างแรงแค้นให้สุวรรณมาลี  ในฐานะผู้สูญเสียอำนาจ เอ๊ย..สูญเสียสามี  จำต้องรับบทผู้นำหญิง  นำทัพไปอาละวาด  ทั้งปะทะคารม  ปะทะฝีมือ เรียกว่าสะใจคนอ่านสมัยโน้นไม่น้อยไปกว่าละครหลังข่าวสมัยนี้  รบรากันตั้งแต่สมัยยังสาว  ยาวนานไปจนถึงรุ่นลูก

ว่ากันว่าเรื่องนี้เรตติ้งสูงลิบ  มีคนติดตามอ่านกันเพียบ  คนเขียนถึงได้ต้องดึงเรื่องเขียนไปได้ถึงสามแผ่นดิน

บทบาทนางละเวง  ในฐานะผู้นำหญิงที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจแบบจับพลัดจับผลู  แล้วก็โลดเต้นไปตามบทด้วยแรงผีผลัก  คือแรงแค้นแทนวิญญาณพี่ชายนายอุศเรน  บวกกับกุนซือระดับเซียนคือบาทหลวงที่คอยยุยงส่งเสริมแถมวางแผนให้สารพัด  ดูๆ ไปก็คล้ายกับใครบางคนในวันนี้

โดดเข้ามาเล่นแล้วก็ต้องตีบทให้แตก  เล่นให้สมบท สุดฝีมือ  ไม่ต้องสนใจเสียงนกเสียงกา...


ตอนจบเรื่องพระอภัยมณี  หลังจากที่ทำสงครามกันยับเยินไปทั้งสองฝ่าย  หล่อเลี้ยงความแค้นตั้งแต่รุ่นแม่ยันรุ่นลูก  ท้ายที่สุดคนแต่งหาทางจบโดยให้พระฤาษีมากล่อมจนปรองดองกันได้

เรื่องพระอภัยมณีจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง  เพราะคนแต่งบวชเป็นพระมานาน  ก็เลยให้ตัวละครมองเห็นสัจธรรม

แต่คนเขียนบทวันนี้  กระเดียดไปทางมาร!!!  ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะจบยังไง...