วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

ชนชั้น

มีคำศัพท์เกี่ยวกับชนชั้นหลายคำ  ที่ตอนนี้ได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ  ลองมาดูกันว่า  ความหมายจริง ๆ ของคำเหล่านี้  คืออะไร  ประมาณไหนกันแน่

ไท  ความหมายคือ  ผู้เป็นใหญ่  ใหญ่จริงไม่จริงไม่รู้  แต่อย่างน้อยก็เป็นใหญ่  หรือเป็นอิสระในตัวเองไม่ตกอยู่ใต้อำนาจใคร  ว่ากันว่า  ชื่อประเทศไทย  ก็มาจากความหมายของไท  คือเป็นใหญ่  หรือเป็นอิสระนี่แหละ

ทาส  ความหมายตรงข้ามกับ ไท  คือหมายถึงผู้ที่ยอมตนให้ตกอยู่ในอำนาจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  เช่น ทาสการพนัน,ทาสยาเสพติด,ทาสเงิน ฯลฯ  ทาสไม่มีอิสระในตัวเอง  แต่มีสถานะเหมือนทรัพย์สิน  หรือสัตว์เลี้ยงที่ผู้เป็นนายมีสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาด  จะเฆี่ยน  จะฆ่า  จะขาย ฯลฯ ก็ได้ทั้งนั้น

ระบบทาสน่าจะมีมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มฉลาดและรู้จักเอาเปรียบ  ใช้แรงงานคนอื่น  ตอนแรก ๆ ก็ใช้แรงงานสัตว์  ประเภทวัว ควาย ช้างม้า  ฯลฯ ต่อมาก็เริ่มขยายอำนาจมาใช้แรงงานคน  ในการทำสงครามก็กวาดต้อนคนมาเป็นทาสใช้แรงงาน  มีมาตั้งแต่สมัยกรีก  โรมัน  มาจนถึงอังกฤษ  อเมริกา ฯลฯ ที่ไล่จับคนผิวดำมาเป็นทาส  ส่วนสังคมไทย  ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง  ก็จารึกไว้ว่า ไปทำสงคราม  "ได้ช้างได้งวงได้ปั่วได้นาง  เอามาเวนแก่พ่อกู"  ปั่วนางที่ว่า  ก็คือทาสชายหญิงนั่นแหละ


ทาสมีหลายประเภท  มีทั้งทาสเชลย  คือพวกที่แพ้สงคราม  ถูกกวาดต้อนมาใช้แรงงาน  ทาสน้ำเงิน  คือประเภทขายตัวแลกเงิน  มีทั้งขายตัวเอง พ่อแม่ขายลูก  หรือผ้ัวขายเมีย ฯลฯ อย่างนางแก้วกิริยา  ในเรื่องขุนช้างขุนแผน  ก็ถูกพ่อขายมาเป็นทาสในเรือนขุนช้าง  เมื่อขุนแผนได้นางแก้วกิริยาเป็นภรรยา  ก็ให้แหวนไปไถ่ตัวเป็นไท  หรือกัณหา  ชาลี  ก็ถูกยกให้เป็นทาสชูชก  มีการตั้งค่าตัว  เผื่อจะมีคนมาไถ่หรือหาเงินไถ่ตัวเอง  ซึ่งตอนหลังพระเจ้ากรุงสญชัยก็ไถ่ตัวสองกุมารจากชูชก  ส่วนทาสเรือนเบี้ย  คือลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาส  จึงมีสถานภาพเป็นทาสไปด้วย

ยุคสมัยทาสหมดไปนานมากแล้ว  กว่าจะเลิกได้ก็ต้องต่อสู้กันหนักหนา  ในประเทศไทยนับว่าละมุนละม่อมที่สุด  ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช  คำว่าทาสจึงน่าจะหมดไปจากแผ่นดินไทย  แต่ไม่ยักหมด  จนทุกวันนี้  ก็ยังเห็นคนตัวเป็นไท  ใจเป็นทาส  สารพัดทาส  ทั้งทาสยาเสพติด, ทาสแฟชั่น,ทาสน้ำเงิน ฯลฯ

ไพร่  ความหมายเดิม  หมายถึง ชาวเมือง,พลเมืองสามัญ  ไพร่พล   หมายถึง  กำลังคน  กำลังทหาร ไพร่ฟ้า  หมายถึงข้าแผ่นดิน,ราษฎร  คำนี้ไม่ได้มีความหมายต่ำต้อย  เลวร้ายอะไร  หน้าตาอย่างเรา ๆ ก็ล้วนแต่เป็นไพร่ฟ้ากันทั้งนั้น

บ่าว คำศัพท์เดิมหมายถึง ชายหนุ่ม  แต่เพี้ยนมาเป็น  คนใช้  ส่วน  บ่าวไพร่  หมายถึงข้าทาสบริวาร  สถานภาพของบ่าวน่าจะดีกว่าทาส  เพราะได้รับค่าจ้างตอบแทน  และยังมีอิสระในตัวเอง  นายจะเอาไปขาย  หรือยกให้ใครไม่ได้

ขี้ข้า  หมายถึง  ทาส  ไพร่  คือ ต่ำกว่า ไพร่ลงไปอีกหน่อย  เพราะมีสภาพกึ่งทาส  การที่บางคนประกาศตัวว่าเป็นขี้ข้า  ก็คือยอมรับสภาพคนรับใช้ กึ่งทาส

ส่วนคำศัพท์เกี่ยวกับชนชั้นสูงในสังคม  ก็มีหลายประเภท  เช่น

อำมาตย์  หมายถึง ข้าราชการ,ข้าเฝ้า,ที่ปรึกษา  ของพระเจ้าแผ่นดิน

ศักดินา  คำว่า ศักดิ์ หมายถึง อำนาจ,ความสามารถ,กำลัง,ฐานะ  ศักดินา หมายถึง อำนาจปกครองที่นา  เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดิน  มีอำนาจเหนือแผ่นดิน  เวลาปูนบำเหน็จรางวัลจึงแบ่งแผ่นดินให้ข้่าราชการที่มีความดีความชอบ  มีความดีมากก็ยกแผ่นดินให้มาก  เช่น  เจ้าพระยานาหมื่น  ก็คือมีอำนาจปกครองที่นาหมื่นไร่  ฯลฯ

เศรษฐี  หมายถึง  คนมั่งมี

กระฎุมพี  คำศัพท์จริง ๆ ก็คือ  คนมั่งมี  แต่ไม่เหมือนเศรษฐี เพราะคำนี้ ในสังคมอินเดีย  หมายถึงชนจำพวกศูทรที่มั่งมีขึ้น คือรวย  แต่วรรณะยังต่ำเหมือนเดิม  พอเอามาใช้รวมกับคำว่าไพร่  เป็นไพร่กฎุมพี  ความหมายเดิมคือทั้งคนจนคนรวย  แต่บางคนก็เข้าใจผิดเพี้ยน กลายเป็นหมายถึงคนชั้นต่ำไป

เรื่องของการเพี้ยนความหมาย  ในภาษาไทยมีอยู่หลายคำ  เช่น

สาธารณ์  หรือ สาธารณะ  ความหมายคือ  ต่ำ  เลว  ทั่ว ๆ ไป

สามัญ  หรือ สามานย,  ความหมายคือ ปกติ  ธรรมดา

สองคำนี้ความหมายเดิมไม่ได้ชั่วร้ายอะไร  แต่หมายถึงอะไรที่มีเยอะ ๆ หาได้ง่าย  ก็มักไม่ใช่ของมีค่าเป็นพิเศษ  ใช้ไปใช้มา  ความหมายของสามานย์  หรือ สาธารณ์  กลายเป็นของต่ำ  แล้วก็เลยเพี้ยนไปเป็นของเลว  เหมือนกับไพร่  ทีใช้กันวันนี้  ความจริงหมายถึงคนธรรมดา ๆ ซึ่งมีอยู่เยอะแยะ  แต่ตอนนี้  ความหมายเพี้ยนเป็นเชิงต่ำต้อยไปแล้ว


คำที่มีความหมายจำแนกคน  ยังมีอีกสองคำที่น่าสนใจ  คือ สกุล  หมายถึง ตระกูล  วงศ์  เชื้่อสาย  เผ่าพันธุ์  คนมีสกุลหรือมีตระกูล  โดยนัยก็คือมีพ่อแม่ปู่ย่ายายสั่งสอนอบรม  จึงมักเรียกรวมว่า  ผู้ดีมีสกุล

ส่วนที่ตรงข้าม  คือ สถุล  หมายถึง  หยาบ  ต่ำช้า  เลวทราม  ซึ่งไม่เกี่ยวกับตระกูล  แต่ก็น่าจะเป็นเพราะไม่ได้รับการสั่งสอนอบรม  หรือสอนแล้วไม่จำก็ไม่รู้  คำนี้จึงค่อนข้างจะเน้นไปที่ความหยาบ  และต่ำช้า  เต็ม ๆ

เรื่องของชนชั้นวรรณะ  ทางศาสนาว่าเป็นกรรมเก่า  ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้หากทำกรรมใหม่ให้ดี

คนเคยรวย  และคนเคยจนมีให้เห็นอยู่บ่อย

ระยะหลัง ๆ นี้  เราก็เห็น  ขี้ข้าได้ดี  ไำพร่กลายเป็นอำมาตย์  ส่วนที่สถุลหรือไม่สถุล  ส่วนมากเป็นลักษณะเฉพาะตัว  บางทีเปลี่ยนสถานภาพจากคนจนเป็นรวย  จากไพร่เป็นอำมาตย์แล้ว  ก็ยังสถุลอยู่

ทำให้นึกถึงอีกสองคำ  คือ กำพืด หมายถึง  เทือกเถาเผ่าพันธุ์   กับ  สันดาน  คือ  อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด  สองคำนี้มักใช้ในทางที่ไม่ดี  คือ เชื้อสายไม่ดี  นิสัยดั้งเดิมหยาบช้า  เปลี่ยนสถานภาพไปอย่างไร  ก็ยังเป็นเหมือนเดิม

่คงต้องจบลงด้วยโคลงสุภาษิต  ร.๖  ที่ว่า
ฝูงชนกำเนิดคล้าย        คลึงกัน
ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ  แผกบ้าง
ความรู้อาจเรียนทัน       กันหมด
เว้นแต่ชั่วดีกระด้าง        ห่อนแก้ฤาไหว

ยุคประชาธิปไตย  ทุกคนเท่าเทียมกัน  แต่ที่แน่ ๆ คือ  คนที่เท่ากัน  ไม่ได้แปลว่า เหมือนกัน  ต่างกันก็ตรง "ชั่วดีกระด้าง..." นั่นแหละ