วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ลอยกระทง...อย่าหลงทาง

เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง พอเดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง..

นี่ว่าด้วยพฤติกรรมของน้ำกับวิถีชีวิตชาวไทยมาแต่โบร่ำโบราณ ไม่เกี่ยวกับน้องน้ำที่เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในปัจจุบัน

เพราะน้ำนองมาตั้งแต่เดือนสิบเอ็ด และมาทรงคือยังเต็มเปี่ยมในเดือนสิบสอง ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ท้องฟ้าแจ่มใส มองเห็นดวงจันทร์ส่องสว่าง วันเพ็ญเดือนสิบสองจึงเข้ากั๊นเข้ากันกับประเพณีลอยกระทงเหมือนในเนื้อเพลงรำวง  ที่บรรยายว่า "วันเพ็ญเดือนสิบสอง  น้ำก็นองเต็มตลิ่ง..."




ส่วนความเชื่อเรื่องลอยกระทง  ถ้าไปถามแม่นางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์  สนมเอกพญาลิไท  ซึ่งเป็นลูกสาวพราหมณ์ สมาร์ทเลดี้สมัยสุโขทัยโน่น  เธอก็ว่ามาจากประเพณีพราหมณ์เพราะพราหมณ์เขามีการลอยประทีปลงแม่น้ำคงคา คือฝากแม่คงคาไปบูชาพระอิศวร ก็เพราะพระคงคาเธอไหลผ่านเส้นเกศาพระอิศวรลงมาสู่โลกเพื่อชำระล้างบาปให้มนุษย์นี่แหละ

ประทีปที่ลอยส่วนมากก็แค่วัสดุอะไรก็ได้ที่สามารถใส่น้ำมันลงไปได้นิดหน่อยพอให้จุดไฟได้ ของพราหมณ์เขาใช้เปรียง คือไขมันโคเป็นเชื้อเพลิง  เรียกว่าพิธีจองเปรียง


รวมทั้งการลอยประทีปหรือลอยโคมขึ้นไปบนท้องฟ้า ไปเปิดตำราเก่าก่อนก็คือจุดประสงค์เดียวกัน ต่างกันที่เทคนิค  คือแทนที่จะฝากแม่คงคา  ก็ส่งทางตรงถึงพระอิศวรไปเลย

ส่วนเรื่องที่นิยมทำกระทงเป็นรูปดอกบัวนั้น นางนพมาศเธออรรถาธิบายว่า เป็นไอเดียของเธอเองล้วนๆ เกิดจากแรงบันดาลใจที่เห็นดอกบัวบานรับแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน แต่จะหุบกลีบในเวลากลางคืน เธอก็เลยคิดประดิษฐ์ดอกบัวให้บานรับแสงจันทร์ในเวลากลางคืนขึ้นมา ซึ่งพระสวามีก็เป็นปลื้ม. รับสั่งออกสื่อให้ใครต่อใครดูเป็นตัวอย่าง   ทำให้เกิดกระแสฟีเวอร์ประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวมาตั้งแต่ครั้งกระนั้น



แล้ววันเวลาก็ผ่านไป ประเพณีลอยกระทงที่น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยก็แพร่หลายสืบทอดกันมาเรื่อยๆ
 แต่ความเชื่อความคิดเริ่มบิดเบี้ยวไปจากเดิม ก็เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาพราหมณ์ แต่ก็อยากลอยกระทงง่ะ..มีปัญหาอะไรหรือเปล่า

ก็เลยแปลงเสียนิดเสียหน่อยพอให้ดูเข้าทีเข้าท่าพอรับได้ เป็นต้นว่า

๑.  เป็นการขอบคุณพระแม่คงคาที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิต รวมทั้งขอขมาที่ได้ทำอะไรไม่ดี ทิ้งของโสโครกลงไปในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งหลังจากขอขมาแล้วก็ยังทิ้งกันต่อไป เลยต้องขอโทษกันทุกปี

๒.  เป็นการลอยเคราะห์ ลอยโศก ลอยสิ่งไม่ดี ฝากสายน้ำไป ความเชื่ออันนี้ว่าที่จริงก็สืบเนื่องมาจากพราหมณ์ที่เชื่อว่าแม่คงคาจะชำระบาปผิดทั้งหลายทั้งปวง เกิดเป็นประเพณีที่มีการรดน้ำ ลอยน้ำฯลฯ อีกหลายๆประเพณี คนที่เชื่อแบบนี้ เวลาลอยกระทงก็มักจะตัดเล็บ ตัดผม หรือใส่เศษสตางค์ลงไปในกระทง ทำนองว่าให้ทาน ใครมาเก็บกระทงไปก็ได้เศษเงิน แถมด้วยรับเคราะห์ที่แบ่งไปให้ด้วย ดูเป็นการทำบุญแฝงเจตนายังไงๆอยู่เหมือนกันนะ

๓.  เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ฝั่งแม่น้ำนัมทา ที่ในพุทธประวัติว่าพระพุทธเจ้าเคยประดิษฐานรอยพระบาท คือเหยียบไว้ เมื่อไม่สามารถเดินทางไปไหว้พระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมทาได้ก็เลยสมมติเอาแล้วกัน นี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่า ในกระทงก็เลยมีการใส่ดอกไม้ และปักธูปสามดอกเหมือนบูชาพระ ทั้งๆที่ลอยกระทงหรือลอยประทีปต้นตำรับเขามีแค่ไฟหรือเทียน ธูปไม่เกี่ยว

ความคิดความเชื่อเรื่องการเสดาะเคราะห์  ล้างบาป ฯลฯ มีอยู่ในหลายศาสนาเหมือนกัน  ที่บูชาเทพเจ้าหรือพระเจ้า  ส่วนมากก็จะสวดมนตร์อ้อนวอนขอให้ยกโทษ  บ้างก็มีการทรมานกายเป็นการลงโทษตัวเอง  หรือฆ่าคนหรือสัตว์อื่น  ทำนองว่าไถ่โทษแทนตัว


นอกจากนั้น  ก็มีอีกสองวิธีที่ออกจะเป็นที่นิยม  คือถ้าไม่ล้างน้ำ  ลอยน้ำ  รดน้ำ ฯลฯ ก็ใช้ไฟเผา  ที่พราหมณ์เรียกว่า  บูชากูณฑ์  คือบูชาไฟ  นั่นแหละ

ถ้าล้างน้ำก็เบาหน่อย  แค่ล้างสิ่งสกปรกผิดบาป  ทำให้สะอาดขึ้น  แต่ถ้าเผาไฟ  ก็คือตัดหมด  ตัดทั้งกิเลสตัณหา  ทั้งตัวตน  เหมือนไปเกิดใหม่  เริ่มต้นใหม่กันอีกที  ทำนองเซ็ตซีโร่  ประพณีเผาศพ  เผาตัวตาย  ในอินเดีย  ก็มาจากความคิดนี้

แต่ในพุทธศาสนา  เป็นคนละความคิด   ความผิดบาปไม่มีอะไรล้างได้  และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม  คือทำอย่างไรก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น

น้ำก็ล้างไม่ได้  ไฟก็เผาไม่หมด  หรือแม้แต่อำนาจล้นเหลือ  เงินล้นฟ้า  ก็ล้างกรรมที่ทำไว้ไม่ได้

กรรมย่อมติดตามไปทุกหนแห่ง  เหมือนเงาที่ติดตามตัวไป  หนีไปไหนก็ไม่พ้น  ต่อให้หนีไปจนสุดโลก  หรือไปเกิดใหม่  กรรมก็ยังตามข้ามภพชาติ

เล่นเกม  พอเซ็ตซีโร่ได้  แต่เรื่องกรรม  ท่านว่า...ไม่สามารถ












วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อะไรอยู่ในครัว

ข้าว เป็นอาหารหลักคู่ครัวคนไทย  ไม่มีอะไรก็ขอแค่ให้มีข้าวสารกรอกหม้อ

ลองมารู้จักครัวแบบไทย ๆ กับวิธีการทำให้ข้าว  กลายเป็นอาหารหลากหลาย ในปริศนาคำทาย  ว่าด้วยเรื่องข้าว

กรรมวิธีหุงข้าว

ตะลุ่มจุ่มจู๋  มีหูที่ปาก (หม้อข้าว)

มีปากไม่มีฟัน  กินข้าวทุกวันได้มากกว่าคน (หม้อข้าว)

นั่งอยู่บนกองฟอน  ถูกไฟร้อน  หัวร่อคลั่ก ๆ (หม้อข้าวเดือดบนเตาไฟ)


คุดคู้อยู่ในดิน  เวลาจะกินต้องเอาไม้สอย (ข้าวในหม้อดิน  ต้องเอาทัพพีตักจากหม้อ)

ไอ้แดงแทงไอ้ดำ  ไอ้ขาวร้องไห้  น้ำลายเป็นฟอง (หม้อข้าวบนเตาไฟ  ไอ้แดงแทงไอ้ดำ คือ กองไฟที่อยู่ใต้ก้นหม้อข้าว  ไอ้ขาวคือข้าวที่กำลังเดือด)

หัวร่อคลั่ก ๆ ในคอ  อยู่บนตอไฟลน (หม้อข้าวเดือดบนเตาไฟ)

โตเท่าแขน  แพ่นเข้าไปใต้ตอ  ชักออกมาดำ  ตำเข้าไปแดง  นอนตะแคงน้ำไหล (ใ่ส่ฟืนในเตา  รินน้ำข้าวจากหม้อ)

นางสองนางเดินทางร่วมกัน  พอมาถึงบ้านแยกทางกันเดิน (หุงข้าวแบบเช็ดน้ำ  พอข้าวเดือดก็รินน้ำข้าวออก)

ล่างหินบนหิน  ชอบกินแต่ข้าว เคี้ยวเอา ๆ จนป้อนไม่ทัน (โม่)


ข้าวหลาม  กรรมวิธีหุงข้าวอีกแบบหนึ่ง

กลม ๆ ปานกลึง  กระแทกสามตึง  เรือนโย้เรือนไหว (ข้าวหลาม)

กลม ๆ ดั่งกลึง  จะกินก็ยาก  กระเทือนปากตึง ๆ (ข้า่วหลาม)

ตัดโคน ทอนปลาย  ใส่ข้่าวเผากิน (กระบอกข้าวหลาม)

ฉีกควาก  ปากบาน (ข้าวหลาม)

มะพร้าวข้าวสารคลุก  เข้าไปสุกในไม้ไผ่ (ข้าวหลาม)

หุงข้าวด้วยกระบอก  ไม่ผ่าออกไม่ได้กิน (ข้าวหลาม)

สารพัดขนม  จากข้าวและแป้ง

ลงน้ำนุ่งผ้า  ขึ้นมาล่อนจ้อน (ข้าวต้มมัด  นุ่งผ้าคือห่อด้วยใบตอง)

ลูกอยู่ข้างใน  ใบอยู่ข้างนอก  จะให้แน่นต้องใช้ตอก (ข้าวต้มมัด  ปกติจะมีใส้กล้วยอยู่ข้างใน  ใบกล้วยหรือใบตองห่อข้างนอก  ใช้เส้นตอก คือไม้ไผ่จักเป็นเส้นบาง ๆ แทนเชือกมัด  ก่อนนำไปต้มให้สุก)

สองพี่น้อง  ประคองกอดกัน  กระโจนลงน้ำ (ข้าวต้มมัด)



คว่ำอันหงายอัน  ดันกันหน้าเละ (ขนมครก)

ชื่อเป็นปลา  ตัวเป็นขนม  นอนจมอยู่ในหม้อ (ขนมปลากริม)


ตลิ่งพัง  ตาหรั่งขุด  น้ำไหลไม่หยุด  จระเข้โผล่ (ขนมจีน  วิธีทำคือเจาะกะลาให้เป็นรู  เอาแป้งผสมน้ำใส่ให้ไหลออกตามรูลงกะทะ  พอสุกเส้นขนมจีนจะลอยขึ้นเปรียบเป็นจระเข้โผล่จากน้ำ ต้องจับรวบขึ้นจากน้ำ  ลักษณนามของขนมจีน  จึงเรียกว่า จับ)




ตัวอยู่ในนา  หน้าอยู่ในน้ำ (ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง)

ตัวอยู่ในนา  หน้าอยู่บนยอดไม้ (ข้าวเหนียวมะม่วง)

ตากแดดสด  รดน้ำเหี่ยว (ข้าวตอก  เวลาตากแห้งจะบาน  แต่พอเอาน้ำใส่จะเหี่ยว)


พระรามลงสรง (ลอดช่องน้ำกระทิ  ลอดช่องส่วนมากใส่น้ำใบเตยให้มีสีเขียว  จึงเปรียบเป็นพระราม)


หัวแหลมท้ายแหลม  ล่องลอยในมหาสมุทร  มนุษย์ชมว่าอร่อย (ลอดช่อง)


มะลิลอยฟ้า  จรกาลงสรง (ข้าวเหนียวถั่วดำ  ข้าวเหนียวสีขาวเหมือนมะลิ  ส่วนถั่วดำ เปรียบว่าดำเหมือนจรกา)

ขึ้นต้นกินได้  ลงท้ายใช้จุด (ขนมเทียน)

ชื่อเหมือนของใช้  จุดไฟสว่าง (ขนมเทียน)

คนก็ไม่ใช่  สัตว์ก็ไม่ใช่  แต่มีไส้อยู่ตรงกลาง (ขนมใส่ใส้)


มีงาตั้งพัน  แทงฟันไม่เข้า (ข้าวเกรียบงา)

มีสองหน้า  มีงาเต็มตัว (ข้าวเกรียบงา)



ไม่ใช่ช้าง  ไม่ใช่ม้า  มีงารอบตัว (ข้าวเกรียบงา)

หุบเท่้าจาน  บานเท่ากระด้ง (ข้าวเกรียบว่าว)

หลายหลากมากชั้น  หวานมันกินดี (ขนมชั้น)

ปริศนาคำทาย  ที่มีคำเฉลยหลายอย่าง

สุกในดินกินได้  สุกในไม้กินอร่อย (ข้าวสวย,ข้าวหลาม  ข้าวสวยสุกในหม้อดิน  ส่วนข้าวหลามสุกในไม้ไผ่)


สุกกินไ้ด้  ไหม้กินดี  สุกสองทีกินอร่อย (ข้าว  ข้าวตัง  นางเล็ด   ข้าวสวยที่เหลือก้นหม้อ  นำมาทำเป็นแผ่นตากแห้ง  เป็นข้าวตัง  นำข้าวตังมาทอด  โรยน้ำตาลเคี่ยวกลายเป็นขนมนางเล็ด  คำว่า เล็ด  ก็คือเมล็ด)

สุกแคะ สุกขัง สุกคารัง สุกคารู (ขนมครก  ขนมถ้วย  ขนมรังผึ้ง  ข้าวหลาม  เป็นปริศนาที่บรรยายกรรมวิธีทำขนมในภาชนะที่ต่างกัน  ขนมครกเวลาสุกต้องแคะจากเต้า  ขนมถ้วยต้องนึ่งในรังถึง หรือ ซึ้ง  ขนมรังผึ้ง  ใช้พิมพ์รูปร่างเหมือนรังผึ้ง  ส่วนข้าวหลามอยู่ในรูไม้ไผ่)

กรรมวิธีปรุงอาหารแบบไทย ๆ คุ้นตาคนไทยในอดีต  จนนำมาเป็นปริศนา  พอเฉลยก็ร้อง อ๋อ...

แต่ปัจจุบัน  ไม่แน่ใจว่าจะมีคนไทยสักกี่คนเคยทำ  หรือแม้แต่  เคยรู้  เคยเห็น  ขนาดเฉลยแล้วก็อาจจะยังงง ๆ เพราะวิถีชีวิตคนไทยวันนี้  คุ้นเคยกับอาหารสำเร็จรูปในห่อ ในซอง  ฯลฯ วางเรียงรายอยู่ในร้าน

ก็เก็บมาเล่า  สืบสานภูมิปัญญาไทยกันไว้สักนิด  ให้รู้ว่า  เมื่อสมัยที่ยังไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า  เตาไมโครเวฟ ฯลฯ ชาวบ้านเขาก็มีปัญญาทำอะไรต่อมิอะไรได้เยอะแยะ


และเตือนใจว่า  ให้ยังไง ๆ คนไทยก็คงยังต้องกินข้าวอยู่ดี  เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าปัญหาเรื่องข้าว  เป็นเรื่องเล็ก  หรือไม่ใช่เรื่องของเรา

เรื่องข้าวนี่  เรื่องของเราเต็ ๆ เลยเชียวละ  จะบอกให้
















วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปริศนา...น่าคิด


อะไรเอ่ย....

การเล่นทาย  อะไรเอ่ย...หรือปริศนาคำทาย  เป็นการฝึกสมองทดลองปัญญา  ช่วยพัฒนาสมอง

ปริศนาคำทายในอดีต  สะท้อนเรื่องราววิถึชีวิตของคนในสังคม  ผ่านภูมิปัญญาทางภาษา  หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยปรากฏในปริศนาคำทาย  กลายเป็นเรื่องไกลตัวเมื่อยุคสมัยเปลี่่ยนไป

ข้าว และวิถีชีวิตชาวนาไทย  ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นเด่นชัดในปริศนาคำทาย

มารู้จักปริศนาคำทายที่สะท้อนเรื่องราวของข้าว  และวิถีชีวิตชาวนาในอดีตกัน

รูปลักษณ์ของข้าว

ต้นเท่าก้อย  ใบย้อยถึงดิน  เก็บเม็ดมากิน  หวาน ๆ มันๆ  (ต้น และเมล็ดข้าว)

หน้าแล้งอยู่ถ้ำ  หน้าน้ำอยู่ทุ่ง  (หน้าแล้งข้าวอยู่ในยุ้ง  หน้าฝนข้าวอยู่ในนา)



สภาพท้องนา  และวิธีการทำนา  ความร่วมมือร่วมแรงของคน กับควาย

คันอะไร  ไม่ต้องเกา  (คันนา)

แปดตีนเดินหน้า  สิบห้าลบรอย (ควายสองตัวลากคราดในนา  รอยคราดลบรอยตีนควาย)

แม่น้อยลูกมาก  พาลูกตกยาก  ลุยน้ำลุยโคลน  (ควายลากคราดในนา  ลูกคือฟันคราด)

สิบตีนยันธรณี  สามหางยาวรี  สี่เขาชี้ฟ้า  (คน กับควายสองตัวไถนา  สิบตีนคือตีนควายสองตัวกับตีนคน  สามหางคือหางควาย  กับหางไถ  สี่เขาก็คือเขาควาย)

เหวีียงหางฟาด  ขี้ราดเต็มทุ่ง (คนไถนา  คนเหวี่ยงหางไถ พลิกดินตามหลังรอยไถเหมือนกองอุจจาระ)

สามเศียร สิบบาทา  โยกย้ายไปมา  ขู่เคี่ยวคำราม (คนไถนา  หัวคนกับหัวควายสองตัวรวมเป็นสาม  เท้าคนกับเท้าควายรวมเป็นสิบ )

ไอ้ใบ้เดินหน้า  ไอ้บ้าตามหลัง  ไอ้ไม่รู้อยู่กลาง (คนไถนา  ไอ้ใบ้คือควาย  ไอ้บ้าคือคน  ไอ้ไม่รู้คือไถ)

จับหางขี้ไหล (คนไถนา  จังหางไถพลิกดินในนา)

ลิงหลังโกง  มาลงกลางนา  ไม่เดินหน้า  แต่เดินถอยหลัง (คนดำนา)

ตาแก่หลังโกง  เดินโทงๆ กินข้าวหมดทุ่ง (เคียวเกี่ยวข้าว  โค้งเหมือนหลังคนแก่)

ยายแก่หลังขด  กินหญ้าหมดทุ่ง (เคียวเกี่ยวข้าว)

ยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม (หุ่นไล่กา)

อ้วนเป็นกระปุก  ลุกไม่ขึ้น ( กองฟาง)

อ้วนกระปุ๊กลุก  มีกระดูกซี่เดียว (กองฟาง  มีไม้ปักเป็นหลักตรงกลาง)


กรรมวิธี  และเครื่องไม้เครื่องมือจากภูมิปัญญาไทย

ยิ่งถากยิ่งกว้าง  (ลานนวดข้าว)

กลมเหมือนพระจันทร์  ดันพุงสาว ๆ (ผู้หญิงฝัดข้าว)

กลมแบนสองแขนดันพุง (กระด้งฝัดข้าว)

วิ่งจี๋ ๆ ขี้ใส่กระจาด (เครื่องสีข้าว)

นั่งขัดสมาธิ  ขี้ราดเต็มตูด (เครื่องสีข้าว)



รูอะไรไม่ใหญ่ไม่เล็ก  ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็ก  ชอบตำหนักหนา (ครกตำข้าว)

นกยางหลา่ยร้อย  มีรอยตีนเดียว (สากตำข้าว )

เจ้าขาวนอนในปลัก  คนไม่ผลักไม่ลุกขึ้น (ข้าวในครกตำข้าว)


สังคมเกษตรกรรมในอดีตที่สะท้อนอยู่ในปริศนาเหล่านี้  คงไม่อาจย้อนกลับคืนมาให้เห็นกันได้อีก  นอกจากบันทึกไว้ในความทรงจำ  ว่า  กาลครั้งหนึ่ง...นานมาแล้ว  เขาทำนากันอย่างนี้แหละ

หลายสิ่งเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ทุกวันนี้ ควาย  หุ่นไล่กา  หมดบทบาทในท้องนา หรือแม้แต่ชาวนาไทย  ก็เปลี่ยนไปเยอะ  ประเภทหลังสู้ฟ้า  หน้าสู้ดิน  ขี่ควายร้องเพลงกลางทุ่ง  คงเหลืออยู่แต่ในหนังละครย้อนยุค

สมัยก่อน  ไม่มีเรื่องการรับจำนำข้าว  การรมยาฆ่าแมลง  และการแข่งขันกันอุตลุดในตลาดโลก  เรื่องเหล่านี้เป็นปริศนาของคนยุคนี้

ปริศนายุคก่อน  มีคำเฉลยที่เข้าทีเข้าท่า  พอเฉลย  คนก็ร้อง  อ๋อ...

แต่ปริศนาเกี่ยวกับข้าวสมัยนี้  ไม่มีคำเฉลย  หรือไม่ก็  เฉลยแล้ว  คนอาจร้อง..ไอ๊หยา...












วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

ชนชั้น

มีคำศัพท์เกี่ยวกับชนชั้นหลายคำ  ที่ตอนนี้ได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ  ลองมาดูกันว่า  ความหมายจริง ๆ ของคำเหล่านี้  คืออะไร  ประมาณไหนกันแน่

ไท  ความหมายคือ  ผู้เป็นใหญ่  ใหญ่จริงไม่จริงไม่รู้  แต่อย่างน้อยก็เป็นใหญ่  หรือเป็นอิสระในตัวเองไม่ตกอยู่ใต้อำนาจใคร  ว่ากันว่า  ชื่อประเทศไทย  ก็มาจากความหมายของไท  คือเป็นใหญ่  หรือเป็นอิสระนี่แหละ

ทาส  ความหมายตรงข้ามกับ ไท  คือหมายถึงผู้ที่ยอมตนให้ตกอยู่ในอำนาจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  เช่น ทาสการพนัน,ทาสยาเสพติด,ทาสเงิน ฯลฯ  ทาสไม่มีอิสระในตัวเอง  แต่มีสถานะเหมือนทรัพย์สิน  หรือสัตว์เลี้ยงที่ผู้เป็นนายมีสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาด  จะเฆี่ยน  จะฆ่า  จะขาย ฯลฯ ก็ได้ทั้งนั้น

ระบบทาสน่าจะมีมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มฉลาดและรู้จักเอาเปรียบ  ใช้แรงงานคนอื่น  ตอนแรก ๆ ก็ใช้แรงงานสัตว์  ประเภทวัว ควาย ช้างม้า  ฯลฯ ต่อมาก็เริ่มขยายอำนาจมาใช้แรงงานคน  ในการทำสงครามก็กวาดต้อนคนมาเป็นทาสใช้แรงงาน  มีมาตั้งแต่สมัยกรีก  โรมัน  มาจนถึงอังกฤษ  อเมริกา ฯลฯ ที่ไล่จับคนผิวดำมาเป็นทาส  ส่วนสังคมไทย  ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง  ก็จารึกไว้ว่า ไปทำสงคราม  "ได้ช้างได้งวงได้ปั่วได้นาง  เอามาเวนแก่พ่อกู"  ปั่วนางที่ว่า  ก็คือทาสชายหญิงนั่นแหละ


ทาสมีหลายประเภท  มีทั้งทาสเชลย  คือพวกที่แพ้สงคราม  ถูกกวาดต้อนมาใช้แรงงาน  ทาสน้ำเงิน  คือประเภทขายตัวแลกเงิน  มีทั้งขายตัวเอง พ่อแม่ขายลูก  หรือผ้ัวขายเมีย ฯลฯ อย่างนางแก้วกิริยา  ในเรื่องขุนช้างขุนแผน  ก็ถูกพ่อขายมาเป็นทาสในเรือนขุนช้าง  เมื่อขุนแผนได้นางแก้วกิริยาเป็นภรรยา  ก็ให้แหวนไปไถ่ตัวเป็นไท  หรือกัณหา  ชาลี  ก็ถูกยกให้เป็นทาสชูชก  มีการตั้งค่าตัว  เผื่อจะมีคนมาไถ่หรือหาเงินไถ่ตัวเอง  ซึ่งตอนหลังพระเจ้ากรุงสญชัยก็ไถ่ตัวสองกุมารจากชูชก  ส่วนทาสเรือนเบี้ย  คือลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาส  จึงมีสถานภาพเป็นทาสไปด้วย

ยุคสมัยทาสหมดไปนานมากแล้ว  กว่าจะเลิกได้ก็ต้องต่อสู้กันหนักหนา  ในประเทศไทยนับว่าละมุนละม่อมที่สุด  ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช  คำว่าทาสจึงน่าจะหมดไปจากแผ่นดินไทย  แต่ไม่ยักหมด  จนทุกวันนี้  ก็ยังเห็นคนตัวเป็นไท  ใจเป็นทาส  สารพัดทาส  ทั้งทาสยาเสพติด, ทาสแฟชั่น,ทาสน้ำเงิน ฯลฯ

ไพร่  ความหมายเดิม  หมายถึง ชาวเมือง,พลเมืองสามัญ  ไพร่พล   หมายถึง  กำลังคน  กำลังทหาร ไพร่ฟ้า  หมายถึงข้าแผ่นดิน,ราษฎร  คำนี้ไม่ได้มีความหมายต่ำต้อย  เลวร้ายอะไร  หน้าตาอย่างเรา ๆ ก็ล้วนแต่เป็นไพร่ฟ้ากันทั้งนั้น

บ่าว คำศัพท์เดิมหมายถึง ชายหนุ่ม  แต่เพี้ยนมาเป็น  คนใช้  ส่วน  บ่าวไพร่  หมายถึงข้าทาสบริวาร  สถานภาพของบ่าวน่าจะดีกว่าทาส  เพราะได้รับค่าจ้างตอบแทน  และยังมีอิสระในตัวเอง  นายจะเอาไปขาย  หรือยกให้ใครไม่ได้

ขี้ข้า  หมายถึง  ทาส  ไพร่  คือ ต่ำกว่า ไพร่ลงไปอีกหน่อย  เพราะมีสภาพกึ่งทาส  การที่บางคนประกาศตัวว่าเป็นขี้ข้า  ก็คือยอมรับสภาพคนรับใช้ กึ่งทาส

ส่วนคำศัพท์เกี่ยวกับชนชั้นสูงในสังคม  ก็มีหลายประเภท  เช่น

อำมาตย์  หมายถึง ข้าราชการ,ข้าเฝ้า,ที่ปรึกษา  ของพระเจ้าแผ่นดิน

ศักดินา  คำว่า ศักดิ์ หมายถึง อำนาจ,ความสามารถ,กำลัง,ฐานะ  ศักดินา หมายถึง อำนาจปกครองที่นา  เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดิน  มีอำนาจเหนือแผ่นดิน  เวลาปูนบำเหน็จรางวัลจึงแบ่งแผ่นดินให้ข้่าราชการที่มีความดีความชอบ  มีความดีมากก็ยกแผ่นดินให้มาก  เช่น  เจ้าพระยานาหมื่น  ก็คือมีอำนาจปกครองที่นาหมื่นไร่  ฯลฯ

เศรษฐี  หมายถึง  คนมั่งมี

กระฎุมพี  คำศัพท์จริง ๆ ก็คือ  คนมั่งมี  แต่ไม่เหมือนเศรษฐี เพราะคำนี้ ในสังคมอินเดีย  หมายถึงชนจำพวกศูทรที่มั่งมีขึ้น คือรวย  แต่วรรณะยังต่ำเหมือนเดิม  พอเอามาใช้รวมกับคำว่าไพร่  เป็นไพร่กฎุมพี  ความหมายเดิมคือทั้งคนจนคนรวย  แต่บางคนก็เข้าใจผิดเพี้ยน กลายเป็นหมายถึงคนชั้นต่ำไป

เรื่องของการเพี้ยนความหมาย  ในภาษาไทยมีอยู่หลายคำ  เช่น

สาธารณ์  หรือ สาธารณะ  ความหมายคือ  ต่ำ  เลว  ทั่ว ๆ ไป

สามัญ  หรือ สามานย,  ความหมายคือ ปกติ  ธรรมดา

สองคำนี้ความหมายเดิมไม่ได้ชั่วร้ายอะไร  แต่หมายถึงอะไรที่มีเยอะ ๆ หาได้ง่าย  ก็มักไม่ใช่ของมีค่าเป็นพิเศษ  ใช้ไปใช้มา  ความหมายของสามานย์  หรือ สาธารณ์  กลายเป็นของต่ำ  แล้วก็เลยเพี้ยนไปเป็นของเลว  เหมือนกับไพร่  ทีใช้กันวันนี้  ความจริงหมายถึงคนธรรมดา ๆ ซึ่งมีอยู่เยอะแยะ  แต่ตอนนี้  ความหมายเพี้ยนเป็นเชิงต่ำต้อยไปแล้ว


คำที่มีความหมายจำแนกคน  ยังมีอีกสองคำที่น่าสนใจ  คือ สกุล  หมายถึง ตระกูล  วงศ์  เชื้่อสาย  เผ่าพันธุ์  คนมีสกุลหรือมีตระกูล  โดยนัยก็คือมีพ่อแม่ปู่ย่ายายสั่งสอนอบรม  จึงมักเรียกรวมว่า  ผู้ดีมีสกุล

ส่วนที่ตรงข้าม  คือ สถุล  หมายถึง  หยาบ  ต่ำช้า  เลวทราม  ซึ่งไม่เกี่ยวกับตระกูล  แต่ก็น่าจะเป็นเพราะไม่ได้รับการสั่งสอนอบรม  หรือสอนแล้วไม่จำก็ไม่รู้  คำนี้จึงค่อนข้างจะเน้นไปที่ความหยาบ  และต่ำช้า  เต็ม ๆ

เรื่องของชนชั้นวรรณะ  ทางศาสนาว่าเป็นกรรมเก่า  ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้หากทำกรรมใหม่ให้ดี

คนเคยรวย  และคนเคยจนมีให้เห็นอยู่บ่อย

ระยะหลัง ๆ นี้  เราก็เห็น  ขี้ข้าได้ดี  ไำพร่กลายเป็นอำมาตย์  ส่วนที่สถุลหรือไม่สถุล  ส่วนมากเป็นลักษณะเฉพาะตัว  บางทีเปลี่ยนสถานภาพจากคนจนเป็นรวย  จากไพร่เป็นอำมาตย์แล้ว  ก็ยังสถุลอยู่

ทำให้นึกถึงอีกสองคำ  คือ กำพืด หมายถึง  เทือกเถาเผ่าพันธุ์   กับ  สันดาน  คือ  อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด  สองคำนี้มักใช้ในทางที่ไม่ดี  คือ เชื้อสายไม่ดี  นิสัยดั้งเดิมหยาบช้า  เปลี่ยนสถานภาพไปอย่างไร  ก็ยังเป็นเหมือนเดิม

่คงต้องจบลงด้วยโคลงสุภาษิต  ร.๖  ที่ว่า
ฝูงชนกำเนิดคล้าย        คลึงกัน
ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ  แผกบ้าง
ความรู้อาจเรียนทัน       กันหมด
เว้นแต่ชั่วดีกระด้าง        ห่อนแก้ฤาไหว

ยุคประชาธิปไตย  ทุกคนเท่าเทียมกัน  แต่ที่แน่ ๆ คือ  คนที่เท่ากัน  ไม่ได้แปลว่า เหมือนกัน  ต่างกันก็ตรง "ชั่วดีกระด้าง..." นั่นแหละ

























วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หญิงงามผู้พลิกแผ่นดิน

โดยทั่วไป เขาว่ากันว่าผู้หญิงสวยมักไม่ฉลาด
แต่ถ้าผู้หญิงทั้งสวยทั้งฉลาดเมื่อไหร่ ก็...เป็นเรื่อง

 ในประวัติศาสตร์ มีเรื่องยอดหญิงงามผู้พลิกแผ่นดินอยู่หลายคน

ที่ทั้งสวยทั้งฉลาดแถมใจถึงสุดๆ เห็นจะต้องยกให้  คลีโอพัตรา นางพญาไอยคุปต์

โฉมงามคลีโอพัตรานี้  ว่ากันว่าทั้งสวยทั้งฉลาด  มีความรอบรู้เป็นเลิศ  พูดได้หลายภาษา  แถมรู้จักใช้ความสวยให้เป็นประโยชน์อย่างคุ้มค่า

มีหลักฐานมากมายที่บ่งบอกว่า  คลีโอพัตราเอาใจใส่เรื่องรูปโฉมสุดๆ สารพัดเครื่องประทินโฉมที่ค้นพบเกี่ยวกับนางพญานางนี้  เล่นเอานักโบราณคดีอึ้งทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นมาสคาร่า อายแชโดว์ น้ำหอม  ฯลฯ รวมทั้งกรรมวิธีประเทืองประทินโฉมตำรับคลีโอพัตรา  แทบไม่น่าเชื่อว่าคุณเธอคิดค้น  ใช้มาแล้วนับพันปี

จึงไม่แปลกที่บรรดาบริษัทเครื่องสำอางทั้งหลายแหล่  เอาชื่อคลีโอพัตรามาตั้งชื่อเครื่องสำอางกันเป็นทิวแถว

นอกจากสวยและฉลาดแล้ว คลีโอพัตรายังใจถึงยากจะหาใครเทียมทาน   เอาแค่วิธีการที่คุณเธอเข้าไปเสนอตัวให้จอมจักรพรรดิ์ซีซาร์ โดยการซ่อนตัวไปในม้วนพรม  ให้ทาสแบกไปถวาย พอทาสคลี่พรมออกกลางท้องพระโรงก็เจอโฉมงามอร่ามตา

วิธีการแบบนี้  ถ้าใจไม่ถึงจริง  ใครจะทำได้ แต่ตะละแม่นางนี้เธอทำได้ เพื่อแลกกับอำนาจ

แล้วเธอก็ได้จริงๆ  ด้วยอำนาจล้นเหลือของซีซาร์  คลีโอพัตราก็กำจัดศัตรูที่แย่งชิงราชบัลลังก์  หวนกลับคืนสู่อาณาจักร  และทำให้อียิปต์แข็งแกร่งจนไม่มีใครกล้าแตะ

แต่แล้วเมื่อจักรพรรดิ์ซีซาร์หมดบุญบารมี  ถูกรุมสังหารเสียที่รัฐสภา  เธอก็มองหาแบ็คใหม่ที่แข็งแกร่งไม่น้อยไปกว่าเดิม  คือจอมทัพหนุ่มมาร์คแอนโทนี  ผู้สำเร็จราชการจากกรุงโรม

การพบกันของคลีโอพัตรา  กับหนุ่มมาร์คแอนโทนี  ก็ไม่ใช่จู่ ๆ ก็บังเอิญเดินมาชนกันข้าวของกระจายเหมือนในละคร

แต่เจ้าหล่อนวางแผน จัดฉากการเดินทางไปพบมาร์คแอนโทนีเสียอลังการงานสร้าง  ด้วยการตบเต่งเรือที่เดินทางให้เป็นแดนสวรรค์  ตัวคลีโอพัตราก็แต่งเป็นเทพีวีนัสประทับท่ามกลางเทวดาน้อยใหญ่  เล่นเอามาร์คแอนโทนีตาค้าง

แล้วทุกอย่างก็เข้าทาง  มาร์คแอนโทนีก็หลงเสน่ห์โฉมงามคลีโอพัตรา  กลายมาเป็นเกราะคุ้มกันราชบัลลังก์อียิปต์ให้พ้นจากการรุกรานของโรมันตามแผน

แต่มาร์คแอนโทนีก็ป้องกันอียิปต์จากโรมไม่ได้ตลอด  เพราะคนอื่นที่อยากครอบครองอียิปต์ก็ยังมี  ท้ายที่สุดอียิปต์ก็ไม่อาจหลีกหนีสงครามได้พ้น

จนวาระสุดท้าย  คลีโอพัตรา  ก็ยังแสดงความใจเด็ดให้โลกต้องจดจำ  เมื่อเห็นทีว่าจะแพ้สงคราม  และมาร์คแอนโทนีก็ทำท่าจะเอาไม่อยู่  คลีโอพัตราก็ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม  ด้วยการให้งูพิษกัด

 ซึ่งก็ว่ากันว่า  ก่อนจะตัดสินใจเลือกวิธีนี้  ก็มีการสรรหาวิธีการตายให้สวยอย่างหลากหลาย  โดยนำนางทาสมาทดลองหมดไปหลายชีวิต  ก่อนจะตัดสินใจเลือกวิธีให้งูพิษกัด  ที่ดูแล้วว่าสวยสุด

คลีโอพัตราไม่ใช่ผู้หญิงคนเดียวในประวัติศาสตร์  ที่สวย  ฉลาด และใจกล้า

ประวัติศาสตร์จีน  ก็จารึกเรื่องของสี่ยอดหญิงงามผู้พลิกแผ่นดิน แต่ละนางล้วนสวยไม่ธรรมดา

ไซซี  ก็ขนาด  มัจฉาจมวารี  คือปลาตะลึงความงามจนลืมว่ายน้ำ
หวังเจาจวิน  ก็  ปักษีตกนภา  คือนกตกจากฟ้าเพราะมัวแต่มอง  จนเสียศูนย์
เตียวเสี้ยน จันทร์หลบโฉมสุดา  แม่คนนี้ขนาดพระจันทร์ไม่กล้าฉายแสงแข่งความงาม
ส่วน หยางกุ้ยเฟย  มวลผกาละอายนาง  คือขนาดดอกไม้ยังเฉาเพราะไม่กล้าประชันโฉม

สี่ยอดหญิงงามนี้ไม่ได้งามอย่างเดียว  แต่ฉลาดและใจกล้า  จึงถูกส่งเข้าไปทำงานใหญ่  ใช้ความงามเอาชนะใจขุนพลขุนศึก  รวมถึงระดับฮ่องเต้  แล้วก็ชักจูงชักใยอยู่เบื้องหลัง  หาทางให้ญาติโกโยติกาเข้ามากุมอำนาจ  ทำการอะไรต่อมิอะไรกันได้สะดวกโยธิน

ในบรรดาสาวงามสามสี่นางนี้  เตียวเสี้ยน ในยุคสามก๊ก  น่าจะโดดเด่นเป็นพิเศษ  เพราะเจ้าหล่อนใช้ความงาม  หลอกล่อให้ลิโป้นายทหารหนุ่มหลงรักจนหัวปักหัวปำ  แล้วกลับหลังหันไปตกลงปลงใจกับตั๋งโต๊ะจอมทรราชย์บิดาบุญธรรมของลิโป้หน้าตาเฉย  ทำเอาลิโป้สติแตก  ถึงกับลงมือสังหารตั๋งโต๊ะ  ซึ่งมีคนพยายามสังหารกันมาหนักหนาแต่ไม่สำเร็จ  เจอฝีมือสาวเจ้า  เรื่องสังหารตั๋งโต๊ะ  กลายเป็นง่าย ๆ ชิว ๆ


หรืออย่างซูสีไทเฮา ก็เป็นหญิงงาม ที่ไต่อันดับจากหญิงชาวบ้านเข้ามาเป็นนางกำนัลหางแถว แล้วก็ใช้ทั้งสติปัญญาและเสน่ห์หญิง. ยกฐานะขึ้นมาจนเป็นสนมเอก  แล้วอัพเกรดขึ้นมาเป็นฮองเฮา

จนมาถึงรุ่นพระโอรสครองราชย์ ก็รวบอำนาจเบ็ดเสร็จเป็นไทเฮาผู้สำเร็จราชการ ว่าราชการหลังม่าน ส่วนฮ่องเต้ก็ประทับหลับสับปะหงกอยู่หน้าม่าน

ส่วนของไทยเรา ก็ไม่น้อยหน้า ถ้าพูดถึงผู้หญิงฉลาด  ใจถึง  ที่มีบทบาทพลิกแผ่นดิน  ก็คงต้องคิดถึงท้่าวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งเทียบชั้นได้ใกล้เคียงซูสีไทเฮาเหมือนกัน

ท้าวศรีสุดาจันทร์  เริ่มจากตำแหน่งสนมเอกของพระไชยราชาธิราช  มีพระโอรสคือพระยอดฟ้า ก็เลยเลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นเจ้าแม่ศรีสุดาจันทร์

พอพระไชยราชาธิราชสิ้นพระชนม์  พระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์  เจ้าแม่ศรีสุดาจันทร์ก็ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ  แล้วก็หนุนขุนวรวงศาธิราชชู้รักขึ้นมาครองราชย์  อ้างว่าแค่ชั่วคราว  เพราะศึกเหนือเสือใต้ก็รุมเร้า   แล้วหลังจากนั้นก็ร่วมมือกับขุนวรวงศาธิราชกำจัดพระยอดฟ้าเสีย  เจ้าแม่ศรีสุดาจันทร์ก็กลายเป็นมเหสีสองแผ่นดิน... เก๋เสียไม่มี

น่าเสียดายที่ภาคสองของท้่าวศรีสุดาจันทร์ไม่ค่อยโสภา เพราะขุนวรวงศาโดนทำรัฐประหาร  ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็เลยต้องจบบทบาทไปด้วย

ว่าที่จริง ผู้หญิงเก่งที่มีบทบาทพลิกแผ่นดินในประวัติศาสตร์มีอีกมากมาย ล้วนแต่สวย เก่งและที่สำคัญคือ เจ้าหล่อนช่างกล้า..อย่างที่คนส่วนมากคิดไม่ถึง

เพราะฉะนั้น อย่าได้ประมาทผู้หญิงสวย และฉลาด โดยเฉพาะผู้หญิงฉลาดที่แกล้งโง่

 ยิ่งแกล้งโง่จนคนหลงเชื่อกันไปครึ่งค่อนเมือง  ยิ่งประมาทไม่ได้เลย

ผู้หญิงแบบนี้แหละ พลิกแผ่นดินมาเสียนักต่อนักแล้ว



วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สำนวนชวนคิด


สำนวนไทยที่ว่าด้วยเรื่องปากมีอยู่มากมาย นำมาใช้ได้หลากหลายกรณี  เช่น ปากหวาน ปากไว ปากมาก ปากเสีย ปากจัด ปากแข็ง ปากพล่อย ปากกล้า ปากเปราะฯลฯ ที่เอาไปรวมไว้กับสรรพคุณของบางอย่างให้รู้ความหมายโดยนัยก็มี เช่น ปากตำแย ปากตะไกร  ปากกระโถน ปากปลาร้า ปากตลาด ฯลฯ

ความหมายของสำนวนเกี่ยวกับปาก  ที่ค่อนไปทางดีมีอยู่ไม่กี่สำนวน เช่น ปากหวาน หมายถึงคนพูดหวานขานเพราะ แต่จริงหรือเปล่าไม่รู้  จึงได้มีสำนวนเตือนให้ระวังคนประเภท ปากหวานก้นเปรี้ยว คือ อย่าหลงเชื่อง่าย ๆ เนื้อแท้อาจไม่หวานเหมือนที่ว่า  แถมยังเปรี้ยวจนกินไม่ลง

ส่วนสำนวนเกี่ยวกับปาก  ส่วนใหญ่มักมีความหมายไปในทางไม่ค่อยจะดี  แสดงให้เห็นว่าคนไทยสมัยก่อนไม่ค่อยปลื้มคนช่างพูดสักเท่าไหร่  เป็นต้นว่า

ปากดี กลับมีความหมายไปในทางไม่ค่อยดี  หมายถึงคนกล้าพูด ช่างพูด ซึ่งอาจทำให้คนฟังไม่พอใจ คนปากดีจึงอาจเจอดี  ซึ่งก็หมายถึงเจอไม่ดีเข้าได้

คนปากดี  ไม่เหมือนคน  ดีแต่ปาก  ซึ่งหมายถึงคนช่างพูดแต่ไม่ทำ  หรือทำไม่ได้  นี่ก็น่ารังเกียจไปอีกแบบ  คนรู้ไม่ทัน  หลงเชื่อคนประเภทนี้ก็มีเยอะ


ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ
ประเภทนี้มีเกลื่ิอน ในสังคมทุกยุคสมัย  โดยเฉพาะสังคมที่มีการแก่งแย่งแข่งขัน  ความจริง คนจริง ก็ยิ่งหาได้ยาก

ปลาหมอตายเพราะปาก
ประเภทพูดมากปากพาจน พูดมากเรื่องมาก  ผิดมาก  ยิ่งสมัยนี้มีเทปมีคลิประบาดไปทั่ว  คนประเภทปลาหมอจึงมีสิทธิ์ตายง่าย  เพราะหลักฐานพยานชัดแจ้ง ปฏิเสธยังไงก็ไม่มีใครเชื่อ


ปากว่าตาขยิบ
ประเภทนี้ก็น่ากลัว หมายถึงมีเจตนาหลอกคนฟัง แต่เป็นการหลอกบุคคลที่สาม  เสแสร้งแกล้งเจรจาให้คนอื่นหลงเชื่อว่าเขาว่าอย่างนี้ ตกลงกันอย่างนั้น ส่วนที่เขาแอบโทรฯหากันส่วนตัว เจรจาใต้โต๊ะ แถมบินไปชเลียร์กันที่โน่นที่นี่ อาจเป็นคนละเรื่องไปเลย

การรับสารวันนี้ จึงควรต้องยึดคติ พกหินดีกว่าพกนุ่น ฟังหูไว้หู ฟังเขาว่าให้เอาห้าสิบหาร


แถมด้วยกาลามสูตร  อย่าเชื่อ... ไม่ว่าแหล่งข่าวจะน่าเชื่ิอสักขนาดไหน
ก็เห็นๆกันอยู่ ทั้งคนใหญ่คนโต พระสงฆ์องค์เจ้า ฯลฯ พิสูจน์สัจธรรมให้เห็นเป็นข่าวหน้าหนึ่งกันไม่เว้นแต่ละวัน

แต่ก็อย่าถึงกับ "ปิดตาไม่ดู ปิดหูสองข้าง..."  เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองทุกวันนี้ มัวแต่ปิดหูปิดตา...ไม่ได้แล้ว