วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ลอยกระทง...อย่าหลงทาง

เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง พอเดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง..

นี่ว่าด้วยพฤติกรรมของน้ำกับวิถีชีวิตชาวไทยมาแต่โบร่ำโบราณ ไม่เกี่ยวกับน้องน้ำที่เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในปัจจุบัน

เพราะน้ำนองมาตั้งแต่เดือนสิบเอ็ด และมาทรงคือยังเต็มเปี่ยมในเดือนสิบสอง ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ท้องฟ้าแจ่มใส มองเห็นดวงจันทร์ส่องสว่าง วันเพ็ญเดือนสิบสองจึงเข้ากั๊นเข้ากันกับประเพณีลอยกระทงเหมือนในเนื้อเพลงรำวง  ที่บรรยายว่า "วันเพ็ญเดือนสิบสอง  น้ำก็นองเต็มตลิ่ง..."




ส่วนความเชื่อเรื่องลอยกระทง  ถ้าไปถามแม่นางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์  สนมเอกพญาลิไท  ซึ่งเป็นลูกสาวพราหมณ์ สมาร์ทเลดี้สมัยสุโขทัยโน่น  เธอก็ว่ามาจากประเพณีพราหมณ์เพราะพราหมณ์เขามีการลอยประทีปลงแม่น้ำคงคา คือฝากแม่คงคาไปบูชาพระอิศวร ก็เพราะพระคงคาเธอไหลผ่านเส้นเกศาพระอิศวรลงมาสู่โลกเพื่อชำระล้างบาปให้มนุษย์นี่แหละ

ประทีปที่ลอยส่วนมากก็แค่วัสดุอะไรก็ได้ที่สามารถใส่น้ำมันลงไปได้นิดหน่อยพอให้จุดไฟได้ ของพราหมณ์เขาใช้เปรียง คือไขมันโคเป็นเชื้อเพลิง  เรียกว่าพิธีจองเปรียง


รวมทั้งการลอยประทีปหรือลอยโคมขึ้นไปบนท้องฟ้า ไปเปิดตำราเก่าก่อนก็คือจุดประสงค์เดียวกัน ต่างกันที่เทคนิค  คือแทนที่จะฝากแม่คงคา  ก็ส่งทางตรงถึงพระอิศวรไปเลย

ส่วนเรื่องที่นิยมทำกระทงเป็นรูปดอกบัวนั้น นางนพมาศเธออรรถาธิบายว่า เป็นไอเดียของเธอเองล้วนๆ เกิดจากแรงบันดาลใจที่เห็นดอกบัวบานรับแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน แต่จะหุบกลีบในเวลากลางคืน เธอก็เลยคิดประดิษฐ์ดอกบัวให้บานรับแสงจันทร์ในเวลากลางคืนขึ้นมา ซึ่งพระสวามีก็เป็นปลื้ม. รับสั่งออกสื่อให้ใครต่อใครดูเป็นตัวอย่าง   ทำให้เกิดกระแสฟีเวอร์ประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวมาตั้งแต่ครั้งกระนั้น



แล้ววันเวลาก็ผ่านไป ประเพณีลอยกระทงที่น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยก็แพร่หลายสืบทอดกันมาเรื่อยๆ
 แต่ความเชื่อความคิดเริ่มบิดเบี้ยวไปจากเดิม ก็เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาพราหมณ์ แต่ก็อยากลอยกระทงง่ะ..มีปัญหาอะไรหรือเปล่า

ก็เลยแปลงเสียนิดเสียหน่อยพอให้ดูเข้าทีเข้าท่าพอรับได้ เป็นต้นว่า

๑.  เป็นการขอบคุณพระแม่คงคาที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิต รวมทั้งขอขมาที่ได้ทำอะไรไม่ดี ทิ้งของโสโครกลงไปในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งหลังจากขอขมาแล้วก็ยังทิ้งกันต่อไป เลยต้องขอโทษกันทุกปี

๒.  เป็นการลอยเคราะห์ ลอยโศก ลอยสิ่งไม่ดี ฝากสายน้ำไป ความเชื่ออันนี้ว่าที่จริงก็สืบเนื่องมาจากพราหมณ์ที่เชื่อว่าแม่คงคาจะชำระบาปผิดทั้งหลายทั้งปวง เกิดเป็นประเพณีที่มีการรดน้ำ ลอยน้ำฯลฯ อีกหลายๆประเพณี คนที่เชื่อแบบนี้ เวลาลอยกระทงก็มักจะตัดเล็บ ตัดผม หรือใส่เศษสตางค์ลงไปในกระทง ทำนองว่าให้ทาน ใครมาเก็บกระทงไปก็ได้เศษเงิน แถมด้วยรับเคราะห์ที่แบ่งไปให้ด้วย ดูเป็นการทำบุญแฝงเจตนายังไงๆอยู่เหมือนกันนะ

๓.  เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ฝั่งแม่น้ำนัมทา ที่ในพุทธประวัติว่าพระพุทธเจ้าเคยประดิษฐานรอยพระบาท คือเหยียบไว้ เมื่อไม่สามารถเดินทางไปไหว้พระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมทาได้ก็เลยสมมติเอาแล้วกัน นี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่า ในกระทงก็เลยมีการใส่ดอกไม้ และปักธูปสามดอกเหมือนบูชาพระ ทั้งๆที่ลอยกระทงหรือลอยประทีปต้นตำรับเขามีแค่ไฟหรือเทียน ธูปไม่เกี่ยว

ความคิดความเชื่อเรื่องการเสดาะเคราะห์  ล้างบาป ฯลฯ มีอยู่ในหลายศาสนาเหมือนกัน  ที่บูชาเทพเจ้าหรือพระเจ้า  ส่วนมากก็จะสวดมนตร์อ้อนวอนขอให้ยกโทษ  บ้างก็มีการทรมานกายเป็นการลงโทษตัวเอง  หรือฆ่าคนหรือสัตว์อื่น  ทำนองว่าไถ่โทษแทนตัว


นอกจากนั้น  ก็มีอีกสองวิธีที่ออกจะเป็นที่นิยม  คือถ้าไม่ล้างน้ำ  ลอยน้ำ  รดน้ำ ฯลฯ ก็ใช้ไฟเผา  ที่พราหมณ์เรียกว่า  บูชากูณฑ์  คือบูชาไฟ  นั่นแหละ

ถ้าล้างน้ำก็เบาหน่อย  แค่ล้างสิ่งสกปรกผิดบาป  ทำให้สะอาดขึ้น  แต่ถ้าเผาไฟ  ก็คือตัดหมด  ตัดทั้งกิเลสตัณหา  ทั้งตัวตน  เหมือนไปเกิดใหม่  เริ่มต้นใหม่กันอีกที  ทำนองเซ็ตซีโร่  ประพณีเผาศพ  เผาตัวตาย  ในอินเดีย  ก็มาจากความคิดนี้

แต่ในพุทธศาสนา  เป็นคนละความคิด   ความผิดบาปไม่มีอะไรล้างได้  และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม  คือทำอย่างไรก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น

น้ำก็ล้างไม่ได้  ไฟก็เผาไม่หมด  หรือแม้แต่อำนาจล้นเหลือ  เงินล้นฟ้า  ก็ล้างกรรมที่ทำไว้ไม่ได้

กรรมย่อมติดตามไปทุกหนแห่ง  เหมือนเงาที่ติดตามตัวไป  หนีไปไหนก็ไม่พ้น  ต่อให้หนีไปจนสุดโลก  หรือไปเกิดใหม่  กรรมก็ยังตามข้ามภพชาติ

เล่นเกม  พอเซ็ตซีโร่ได้  แต่เรื่องกรรม  ท่านว่า...ไม่สามารถ












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น