วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สำนวนชวนคิด


สำนวนไทยที่ว่าด้วยเรื่องปากมีอยู่มากมาย นำมาใช้ได้หลากหลายกรณี  เช่น ปากหวาน ปากไว ปากมาก ปากเสีย ปากจัด ปากแข็ง ปากพล่อย ปากกล้า ปากเปราะฯลฯ ที่เอาไปรวมไว้กับสรรพคุณของบางอย่างให้รู้ความหมายโดยนัยก็มี เช่น ปากตำแย ปากตะไกร  ปากกระโถน ปากปลาร้า ปากตลาด ฯลฯ

ความหมายของสำนวนเกี่ยวกับปาก  ที่ค่อนไปทางดีมีอยู่ไม่กี่สำนวน เช่น ปากหวาน หมายถึงคนพูดหวานขานเพราะ แต่จริงหรือเปล่าไม่รู้  จึงได้มีสำนวนเตือนให้ระวังคนประเภท ปากหวานก้นเปรี้ยว คือ อย่าหลงเชื่อง่าย ๆ เนื้อแท้อาจไม่หวานเหมือนที่ว่า  แถมยังเปรี้ยวจนกินไม่ลง

ส่วนสำนวนเกี่ยวกับปาก  ส่วนใหญ่มักมีความหมายไปในทางไม่ค่อยจะดี  แสดงให้เห็นว่าคนไทยสมัยก่อนไม่ค่อยปลื้มคนช่างพูดสักเท่าไหร่  เป็นต้นว่า

ปากดี กลับมีความหมายไปในทางไม่ค่อยดี  หมายถึงคนกล้าพูด ช่างพูด ซึ่งอาจทำให้คนฟังไม่พอใจ คนปากดีจึงอาจเจอดี  ซึ่งก็หมายถึงเจอไม่ดีเข้าได้

คนปากดี  ไม่เหมือนคน  ดีแต่ปาก  ซึ่งหมายถึงคนช่างพูดแต่ไม่ทำ  หรือทำไม่ได้  นี่ก็น่ารังเกียจไปอีกแบบ  คนรู้ไม่ทัน  หลงเชื่อคนประเภทนี้ก็มีเยอะ


ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ
ประเภทนี้มีเกลื่ิอน ในสังคมทุกยุคสมัย  โดยเฉพาะสังคมที่มีการแก่งแย่งแข่งขัน  ความจริง คนจริง ก็ยิ่งหาได้ยาก

ปลาหมอตายเพราะปาก
ประเภทพูดมากปากพาจน พูดมากเรื่องมาก  ผิดมาก  ยิ่งสมัยนี้มีเทปมีคลิประบาดไปทั่ว  คนประเภทปลาหมอจึงมีสิทธิ์ตายง่าย  เพราะหลักฐานพยานชัดแจ้ง ปฏิเสธยังไงก็ไม่มีใครเชื่อ


ปากว่าตาขยิบ
ประเภทนี้ก็น่ากลัว หมายถึงมีเจตนาหลอกคนฟัง แต่เป็นการหลอกบุคคลที่สาม  เสแสร้งแกล้งเจรจาให้คนอื่นหลงเชื่อว่าเขาว่าอย่างนี้ ตกลงกันอย่างนั้น ส่วนที่เขาแอบโทรฯหากันส่วนตัว เจรจาใต้โต๊ะ แถมบินไปชเลียร์กันที่โน่นที่นี่ อาจเป็นคนละเรื่องไปเลย

การรับสารวันนี้ จึงควรต้องยึดคติ พกหินดีกว่าพกนุ่น ฟังหูไว้หู ฟังเขาว่าให้เอาห้าสิบหาร


แถมด้วยกาลามสูตร  อย่าเชื่อ... ไม่ว่าแหล่งข่าวจะน่าเชื่ิอสักขนาดไหน
ก็เห็นๆกันอยู่ ทั้งคนใหญ่คนโต พระสงฆ์องค์เจ้า ฯลฯ พิสูจน์สัจธรรมให้เห็นเป็นข่าวหน้าหนึ่งกันไม่เว้นแต่ละวัน

แต่ก็อย่าถึงกับ "ปิดตาไม่ดู ปิดหูสองข้าง..."  เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองทุกวันนี้ มัวแต่ปิดหูปิดตา...ไม่ได้แล้ว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น