วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แม่ศรีเรือน



คนไทยแต่ไหนแต่ไร  มีเอกลักษณ์เรื่องการสรรกินโดดเด่นเป็นพิเศษ  จนมีคำกล่าวล้อเลียนว่า "การกินการอยู่ใครไม่สู้พ่อ  การพายการถ่อพ่อไม่สู้
ใคร"

ผู้หญิงต้องมีเสน่ห์ปลายจวัก  ที่ว่ากันว่าจะทำให้ "ผัวรักจนตาย"

ส่วนผู้ชายที่โชคดีมีภรรยาเป็นแม่ศรีเรือน  ว่ากินดีอยู่ดี  ชนิด "ก้นถึงฟาก  ปากถึงข้าว" คือนั่งลงปุ๊บก็ได้กินปั๊บ

คุณสมบัติแม่ศรีเรือน  เรือนสามน้ำสี่  ได้แก่  เรือนกาย  เรือนผม  เรือนบ้าน  ต้องสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ  ส่วนน้ำสี่  ก็ได้แก่  น้ำมือ  หมายถึงฝีมือปรุงอาหาร   น้ำคำ  คือพูดหวานขานเพราะ  น้ำท่า  คือน้ำดื่มที่ต้องมีไว้พร้อมเสมอ  และน้ำใจเอื้อเฟื้อ  ดูแลห่วงใยคนรอบข้าง

เรื่องของน้ำมือ  ถือว่าเป็นคุณสมบัติเด่น  ใตรจะหาภรรยาหาสะใภ้  ก็ดูกันตรงฝีมือหุงหาอาหาร  ระดับแค่ชาวบ้าน  ก็ยังกล่าวไว้  เช่นในเพลงพื้นบ้านเล่าถึงกระบวนการปรุงอาหารบ้านๆ ว่า

"จะหุงบ้าวไว้เผื่อ  จะต้มมะเขือไว้ท่า  ทำขนมจีนสักสองกระป๋อง  ทำลอดช่องสักสองกะลา..."

นางอมิตดาลูกสาวพราหมณ์ตกยาก  ภรรยาสาวน้อยของชูชกก็มีฝีมือในการหุงหาอาหารหลากหลาย  ตอนที่ชูชกจะเดินทางไปขอสองกุมาร  นางอมิตดาก็ตระเตรียมเสบียงไว้พรักพร้อม  ซึ่งกวีแต่ละถิ่นแต่ละภาคก็บรรยายเสบียงของนางอมิตดาไว้ต่างๆ ทั้งของสดของแห้ง  อะไรกินก่อนก็จัดวางไว้ข้างบน  อันไหนจะเก็บไว้กินทีหลังก็เอาไว้ข้างล่าง

ส่วนระดับชาววังไม่ต้องพูดถึง  อ่านกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานก็รู้ว่าประดิษฐ์ประดอยกันขนาดไหน

แม้แต่นางจันทร์ แม่ของสังข์ทอง  ที่เป็นชาววังตกยากก็ช่างประดิษฐ์ประดอยจนเป็นนิสัย  ตอนที่ระเหเร่ร่อนไปเป็นนางวิเสท  หรือคนครัวอยุ่ในวัง  สงสัยว่าพระสังข์คือลูกชายที่พลัดพรากจากกันไป  ก็อุตสาหะแกะสลักชิ้นฟักเป็นเรื่องราว  ตามที่ว่า "ชิ้นหนึ่งทรงครรภ์กัลยา  คลอดลูกออกมาเป็นหอยสังข์..." แกะเป็นเรื่องเล่าประวัติตั้งแต่พลัดพรากจนเที่ยวติดตามหา  ทำเป็นแกงจืดไปถวาย  พระสังข์เห็นชิ้นฟักแกะสลักก็เลยรู้ว่าเป็นมารดา  เรียกได้ว่าฝีมือแกะสลัก...สุดยอดดด  ขนาดต้มเป็นแกงจืดแล้วยังไม่เละ...


ส่วนที่เน้นรสชาติ  และไม่ได้เก่งคนเดียว  แต่เก่งทั้งตำบล  เห็นจะไม่พ้น "แม่ครัวหัวป่าก์" ซึ่งบรรดาแม่ครัวชาวบ้านทำอาหารถวายรัชกาลที่ ๕ สมัยเสด็จประพาสต้น  ฝีมือต้มแกงแต่ละอย่างล้วนเลิศรส  เป็นที่เล่าลือ  จนภายหลัง  ท่านผู้หญิงเปลี่่ยน  ภาสกรวงศ์  ได้รวบรวมมาพิมพ์เป็นตำราอาหารตำรับแม่ครัวหัวป่าก์  ถ้าเป็นสมัยนี้ก็กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมไปแล้ว

ยุคสมัยเปลี่ยน  ผู้คนก็เปลี่ยน  คนที่ตำบลหัวป่าก์  ไม่รู้ยังทำอาหารอร่อยอยู่หรือเปล่า

แต่ความคิดความนิยมเกี่ยวกับแม่ศรีเรือน  เสน่ห์ปลายจวัก  หายหกตกหล่นไปจากสังคมไทยแทบไม่มีเหลือ  แม่ศรีเรือนหายไป  กลายเป็น "เม่สีเรือน" คือนอนเป็นงานหลัก  คนมีเสน่ห์ปลายจวักกลายเป็นเชฟทั้งชายหญิงที่ร่ำเรียนกันเป็นการเป็นงาน  ประดับประดาข้าวปลาอาหารเป็นงานศิลป์  พร้อมที่จะผลักดันครัวไทยไปครัวโลก

รสนิยมของคนกิน  เปลี่ยนจากการ "ลงครัว" ไปเร่ร่อนเที่ยวชิมอาหารรสเลิศที่โน่นที่นี่  พร้อมกับอัพภาพขึ้นเฟส  อวดเพื่อนฝูงว่าได้ไปกินอาหารอร่อยหรูหรา  ฝีมือคนอื่นทั้งน้านนน..


เรือนสามน้ำสี่  ปัจจุบัน  เรือนกาย  เรือนผม  ดูจะโดดเด่น  ส่วนเรือนบ้านเดาเอาว่าคงไม่ค่อยเวลาดูแลสักเท่าไหร่  ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องทุ่นแรงเยอะแยะแล้วก็เถอะ

ส่วนน้ำสี่  ดูท่าจะแห้งขอด  ทั้งน้ำมือ  น้ำคำ  น้ำท่า  ส่วนน้ำใจไม่รู้ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน

สรุปว่าแม่ศรีเรือนก็กลายเป็นประวัติศาสตร์  ยุคสมัยเปลี่ยน  อะไรๆ ก็เปลี่ยน...


  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น