วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สู่อาเซียน

ตื่นเต้นระทึกขวัญกันไม่น้อยสำหรับการเตรียมตัวเตรียมใจ  เตรียมรับการเปิดประตูสู่อาเซียน  ทำเอาคนขวัญอ่อนเริ่มกินไม่ได้นอนไม่หลับ  นึกไม่ออกบอกไม่ถูกว่าถึงเวลาเปิดประตูกันจริง ๆ แล้วจะเป็นยังไง  ไทยจะตั้งรับอย่างไร  สับสนวุ่นวายกันไปทุกวงการ

ลองตั้งสติคิดทบทวนย้อนกลับไปสู่อดีตกาล  ไทย  พม่า  ลาว  เขมร ฯลฯ มีถิ่นฐานใกล้ชิดติดกัน  อยู่ร่วมกันฉันมิตรบ้างศัตรูบ้าง  ก็ถ่ายทอดวัฒนธรรมกันไปมานับเป็นพันปี  จนภาษาไทยมีทั้งคำศัพท์ที่มาจากเขมร  พม่า  ชวา  มลายู ฯลฯ เยอะแยะ  แถมยังไปไกลถึงอินเดีย  จีน ฯลฯ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ยาลี  สันสกฤต  ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อภาษามาตั้งแต่ไหนแต่ไร  ก็ว่ากันว่าพวกพราหมณ์นำมาจากอินเดียโน่น  ราชาศัพท์ทั้งหลายทั้งปวง  ก็เป็นอิทธิพลของเขมรเสียตั้งครึ่งตั้งค่อน


ลองสแกนไปทางวรรณกรรม  ก็อีกนั่นแหละ  ต้นตำรับร้อยกรองประเภทฉันท์ก็มาจากอินเดียอีก  คำศัพท์ที่อ่านยากอ่านเย็นจนคนรุ่นนี้ตัดญาติขาดมิตรไม่ยอมทำความรู้จัก  ย้อนประวัติไปก็มาจากอินเดีย  เขมร  เสียเป็นส่วนใหญ่  ถ้าลำพังภาษาไทยแท้ก็มีแต่คำโดด  ด้วนๆ ห้วน ๆ ไม่วิจิตรบรรจงเหมือนที่ไปขอหยิบขอยืมเขามาหรอก  ใช้ไปใช้มาก็กลายเป็นภาษาไทยไปตั้งนมนานแล้ว  ถือเป็นความงอกงามทางภาษาเสียด้วยซ้ำ


วรรณคดีเรื่องใหญ่ ๆ ก็ของพี่ไทยแท้เสียเมื่อไหร่  รามเกียรติ์น่ะ  อินเตียล้วนๆ ราชาธิราชก็มาจากมอญ  พม่า  สามก๊กก็จีนเต็ม ๆ  ส่วนอิเหนาก็ของชวา  หรืออินโดนีเซียโน่น  ส่วนที่เป็นของไทยแท้ ๆ อย่างขุนช้างขุนแผน  ก็ยังมีหลายตอนที่เชื่อมโยงบ้านใกล้เรือนเคียง  อย่างลาวทองภรรยาขุนแผน  หรือสร้อยฟ้าภรรยาพลายงาม  ก็ล้วนมาจากเชียงใหม่  ถูกกล่าวขานดูถูกดูหมิ่นว่าเป็นลาวเป็นกาวดูต่ำต้อยน้อยหน้าจนกลายเป็นปัญหาใหญ่  แม้แต่พลายชุมพลปลอมตัวยกทัพมารบกับพี่ชายพลายงามก็ปลอมเป็นมอญ


หันมาทางดนตรี  บรรดาเพลงไทยเดิมที่ว่าเป็นมรดกไทยแท้ๆ แต่มีชื่อขึ้นต้นว่า  ลาว  เขมร  แขก  มอญ  จีน ฯลฯ มีอยู่เป็นกระตั้ก  เวลาบรรเลงก็มีสำเนียงออกไปทางชาติโน้นชาตินี้  เรียกว่าออก ๑๒ ภาษา  รวมทั้งเครื่องดนตรีไทย  ที่ชื่อเสียงฟ้องอยู่ชัดว่าเอามาจากชาติอื่น  ทั้งฆ้องมอญ  ปี่ชวา กลองแขก ฯลฯ

รวมทั้งชื่อหย่อมย่านบ้านเมืองในไทย  ก็มีทั้งบ้านมอญ  บ้านญวน  ข้านแขก ฯลฯ


ทั้งหลายทั้งปวงสะท้อนให้เห็นว่า  ถึงไม่เปิดประตูสู่อาเซียน  คนอาเซียนก็ไปมาหาสู่  แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาแล้ว  จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตื่นตระหนกตกใจอะไรไปมากมาย

โดยเฉพาะครูสอนภาษาไทย  ก็ไม่ต้องแตกตื่นโกอินเตอร์  สอนภาษาไทยบูรณาการอาเซียนให้วุ่นวาย

เอาพอสถานประมาณ  พิจารณาเรื่องราวอาเซียนที่สอดแทรกในภาษาไทย  กํบใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือเรียนรู้สู่อาเซียนให้กว้างขวางออกไปได้ก็เหลือกินเหลือใช้  อย่าได้ไปอุตริคาดหวังจะสอนภาษาไทยไปอาเซียน  หรือจะสอนภาษาอาเซียนมาไทย  จะสับสนวุ่นวายขายปลาชุ่อน  หลงทางกู่ไม่กลับ

เปิดประตูสู่อาเซียน  ก็แค่เปิดตา  เปิดใจ  ให้กว้างออกไปอีกหน่อย  แล้วก็จะได้เห็นโลกกว้างขึ้นอีกนิด

ยึดหลัก  ยึดรากความเป็นไทยเอาไว้ให้แน่นหนาสักหน่อยก็แล้วกัน
อย่าปล่อยให้ใครเขากลืนหายไปหมด

เอาอย่างบรรพบุรุษของไทย  ที่ฉลาดรับทุกอย่างมาเป็นของไทยอย่างเนียน ๆ แล้วท้ายที่สุดก็เป็นฝ่ายกลืนได้เรียบร้อย  เป็นมรดกวัฒนธรรมไทยไปหมดแล้ว...จริง ๆ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น