วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นิราศยุคใหม่

นิราศยุคเก่า  มักจะต้องแฝงอารมณ์โศก  เพราะจะต้องจากบ้านเรือน  จากคนรักไปไกลนานหลายวัน  การเดินทางก็มักทุรกันดาร  ตกระกำลำบาก  เลยเศร้าแล้วเศร้าอีก  ระหว่างทางมองเห็นอะไรก็ให้คิดถึงคนรัก  ความหลัง  รำพึงรำพันกันไปตลอดทาง

เปรียบเทียบกับการเดินทางไปไหนต่อไหนในยุคนี้  ที่สะดวกสบาย  ระยะทางที่เคยใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี  อาจเดินทางได้แค่วันเดียว  แถมสื่อเทคโนโลยีก็ช่วยให้คนรักอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว  กดนิดเดียวก็ได้ยินเสียง  มองเห็นหน้ากันได้  คุยกันไปเม้าท์กันมา  แป๊บเดียว  ได้เวลากลับมาเจอกันอีกแล้ว  เรื่องทำนองนิราศก็เลยตกยุคไปโดยปริยาย

ความที่อะไร ๆ มันสะดวกสบาย  คนยุคใหม่จึงมักเดินทางท่องเที่ยวไปไหนต่อไหนกันมากเท่าที่โอกาสจะอำนวย  ตามแหล่งท่องเที่ยว  ไม่ว่าจะเป็นศูํนย์การค้า  แหล่งบันเทิงเริงรมย์  หรือแหล่งท่องเที่่ยวทางธรรมชาติ  จะเห็นนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยไปเยี่ยมเยือนกันคับคั่ง

ไปเยี่ยมแล้วก็ต้องบันทึกความทรงจำ  ซึ่งก็แสนสะดวกสบาย  ง่ายแค่ปลายนิ้ว  กด...แชะ  ก็ได้ทั้งภาพ สีสัน  หรือเอาเสียง  มีความเคลื่อนไหวด้วยก็ยังได้  อยากบอกเล่าเรื่องราวให้ใครฟังก็กดอีกทีสองที  ทั้งหลายทั้งปวงก็เผยแพร่ไปตามใจฝัน  ไม่ต้องอาศัยความเป็นนักเขียน  เป็นกวี  กลั่นกรองเรื่องราวกันเป็นเดือนเป็นปีเหมือนสมัยก่อน ๆ

เจ้าฟ้ากุ้ง  สุนทรภู่ ฯลฯ  เป็นนักถ่ายทอดเรื่องราวที่ตกยุคไปแล้วจริง ๆ

สมัยก่อน  เรื่องการท่องเที่ยวเดินทางไปไกล ๆ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยุ่งยากลำบาก  จนมีสำนวนเปรียบเทียบ  เช่น  "พลัดที่นา  คลาที่อยู่"  คนที่เดินทางไปในต่างถิ่นต่างที่  เปรียบว่าเป็น "เจ้าไม่มีศาล  สมภารไม่มีวัด"  ต้องตกระกำลำบาก  เพราะห่างไกล "บ้านเคยอยู่  อู่เคยนอน"

ที่มาแนวแปลก  ก็อย่างในนิทานเวตาล  ที่เชียร์ให้เดินทางท่องเที่ยวไปดีกว่า  อย่างข้อความที่พราหมณ์หนุ่มยกมาประชันกัน  บอกว่า

"จงจรเที่ยว    เทียวบทไป
พงพนไพร     ไศละลำเนา
ดุ่มบทเดิน      เพลินจิตเรา
แบ่งทุขะเบา   เชาวนะไว"

มิหนำซ้ำ  ยังกล่าวอีกว่า

"ชายหาญชาญเที่ยวเทียวไป      ทุกแคว้นแดนไพร     และอาจประสบพบสุข
ชายใดอยู่เหย้าเนาทุกข์              ไม่ด้นซนซุก             ก็เชื่อว่าชั่วมัวเมา"
ถึงขนาดว่า  ใครไม่เที่ยวไปถือว่าชั่ว  เอายังงั้นเลย....

ทั้งนี้ทั้งนั้น  เพราะคติพราหมณ์มีเรื่องการออกบวช  ละทิ้งบ้านเรือนเมื่อถึงวัยอันควร  ซึ่งก็คือ  เมื่อมองเห็นเส้นผมเปลี่ยนเป็นสีเทา  และเห็นบุตรของบุตรแห่งตน  นั่นก็คือย่างเข้าวัยชราแล้ว  ก็ควรละทิ้งการครองเรือน  ออกเดินทางแสวงหาความหลุดพ้น

จึงมีเรื่องราวของมหาฤาษีหลายตน  ทั้งที่เคยเป็นกษัตริย์และเศรษฐี  แต่ออกบวช  หรือไม่ก็ออกไปตั้งสำนักสั่งสอนศิษย์เมื่อถึงวัยชรา

การท่องเที่ยวของพราหมณ์กับการท่องเที่ยวสมัยนี้จึงนับว่าเป็นคนละเรื่อง

เคยได้ยินไกด์คนหนึ่งบอกกับนักท่องเที่ยวว่า  "ใครไม่มีบุญไม่ได้มา"  คำว่า "มีบุญ" ของเขา  หมายถึง  มีเงิน  และมีโอกาส  คือมีคนพาไป  ซึ่งก็จริง

สมัยนี้  คนมีบุญเยอะ  การท่องเที่ยวจึงเป็นไปได้  ง่ายกว่าสมัยสุนทรภู่อย่างเทียบกันไม่ติด
และนิราศสไตล์สุนทรภู่ก็ตกยุคไปแล้วจริง ๆ อย่าว่าแต่คนจะเขียนเลย  อ่านยังไม่ค่อยจะอ่านกันแล้ว

สู้ไลน์  ไอจี  เฟสบุ็ค  ไม่ได้  ทันใจดี






1 ความคิดเห็น: