วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แรงเงา??

แรงเงา??


ยั้้งไม่หยุด  ฉุดไม่อยู่ !!!
จะอะไรเสียอีกละ่  ก็เรตติ้้งละครหลังข่่าวน่ะซี

สมัยดอกส้มสีทองก็ส่งเรยาในบทเมียน้อยตัวร้ายให้ดังระเบิดระเบ้อ


พอมาถึงมุนินทร์ในแรงเงา  ก็กลายเป็นประเด็นร้อน ให้บรรดาผู้ห่วงใยสังคมออกมาแสดงความห่วงใยกันยกใหญ่

แต่ก็ยั้งไม่หยุด  ฉุดไม่อยู่  ก็ชาวบ้านเขาชอบของเขาอย่างนั้น ใครจะไปว่าอะไรได้  เหมือนการเมืองไทย  เขาเลือกของเขามาอย่างนั้น  ไม่อยากดูก็อย่าไปทนดู  ไม่ได้มีใครว่าอะไรสักหน่อย

ดูละครสมัยนี้้แล้วคิดถึงหลักการใช้ภาษา  ในการเขียนบทละครแต่ก่อนเก่า  เขาจะสอนว่าให้คำนึงถึงพื้นฐานตัวละคร  ถ้าระดับไฮโซ  คุณหญิงคุณนาย  คนมีการศึกษา  ภาษาก็ต้องระดับหนึ่ง  ถ้าเป็นชนชั้นล่าง  คนพาลสันดานต่ำ  ภาษาก็ต้องอีกระดับหนึ่ง

ตามสำนวนไทยที่ว่า "สำเนียงส่อภาษา  กิริยาส่อสกุล"

ที่ไหนได้  เดี๋ยวนี้กลับกลายเป็นว่า ตัวละครไม่ว่าระดับไหน  ได้รับการศึกษามาแค่ไหน  ก็ล้วนแต่ด่าทอกันไฟแลบ  ไม่พอใจก็กระโดดเข้าตบตีกันเป็นโกลาหล


เหมือนพระราชนิพนธ์ ร.๖ ที่ว่า  "ความรู้อาจเรียนทันกันหมด  เว้นแต่ชั่วดีกระด้าง ห่อนแก้ ฤาไหว"

สะท้อนให้เห็นผลของการศึกษา  ซึ่งสมัยก่อนเขาเรียกว่า  ได้รับการศึกษาอบรม  แต่ปัจจุบัน อบรมมันหายไป  เหลือแต่การศึกษา  ได้ปริญญากันเป็นว่าเล่น  แต่เรื่องกิริยามารยาท  ทำตกหายไปตอนไหนไม่รู้


ว่าที่ำจริง  เรื่องของผู้หญิงด่าทอ  ตบตีแย่งชิงสามี  ก็คงมีกันมาตั้งแต่สมัยไหน ๆ สำนวนไทยก็ยังมีว่า  "เสียทองเท่าหัวไม่ยอมเสียผัวให้ใคร" ทั้งนี้ทั้งนั้น  อาจไม่ใช่เพราะความรัก  แต่เป็นเพราะนิสัยชอบเอาชนะ  ประเภท "ฆ่าได้  หยามไม่ได้"

ไม่ได้รักอะไรนักหนาหรอก  แต่มันเสียหน้า เสียฟอร์ม

วรรณคดีที่สะท้อนเรื่องพวกนี้ก็มีอยู่หลายเรื่อง  แต่ที่โดดเด่นชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง พระอภัยมณี

ว่ากันว่า  สุนทรภู่เขียนเรื่องนี้จากชีวิตจริง  บรรดานางเอกทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็นนางผีเสื้อสมุทร  นางเงือก นางสุวรรณมาลี  นางละเวง  ก็ล้่วนจำลองมาจากบรรดานางๆๆ ทั้งหลายในชีวิตของกวีเอกท่านนี้



คู่เอกในเรื่องพระอภัยมณี  ได้แก่สุวรรณมาลี ราชธิดากรุงผลึก  กับนางละเวงที่โชคชะตาฟ้าลิขิตให้ครองอำนาจ  เป็นราชินีเมืองลังกา

นางละเวงได้ครองเมืองเพราะบังเอิญพ่อและพี่ชายเสียชีวิตในสงคราม  ก็สงครามชิงนางสุวรรณมาลีนั่นแหละ  สร้างรอยแค้นที่ต้องมาทวงคืน

และด้วยความเป็นสาวสวย  เรื่องอะไรจะไปลงมือเองให้เหนื่อย  นางละเวงก็เลยใช้เสน่ห์หญิง  ให้ช่างวาดรูปแถมทำเสน่ห์ใส่  ส่งไปประชาสัมพันธ์ให้บรรดากษัตริย์ทั้งหนุ่มทั้งแก่ไปรบแทน  ใครรบชนะก็จะแต่งงานด้วย  เห็น ๆ ว่าแผนนี้มีแต่ได้กับได้

ผลก็คือ เจ้าละมาน  กษัตริย์ที่หลงรักนางละเวง  อาสาไปรบกับกรุงผลึกจนตัวตาย วิญญาณยังหลอนเข้าสิงรูป  ทำให้พระอภัยเห็นรูปเข้าก็หลงเป็นบ้าไปอีกคน

แล้วในที่สุดนางละเวงโฉมงามก็ใช้เสน่ห์ล่อเอาพระอภัยมณี แถมยังให้หลานสาวใช้เสน่ห์ทำนองเดียวกัน  ล่อศรีสุวรรณ กับสินสมุทร  ให้หลงหัวทิ่มหัวตำ  ทิ้งบ้านเมืองไปอยู่กับฝ่ายเมืองลังกากันหมด

ซึ่งสร้างแรงแค้นให้สุวรรณมาลี  ในฐานะผู้สูญเสียอำนาจ เอ๊ย..สูญเสียสามี  จำต้องรับบทผู้นำหญิง  นำทัพไปอาละวาด  ทั้งปะทะคารม  ปะทะฝีมือ เรียกว่าสะใจคนอ่านสมัยโน้นไม่น้อยไปกว่าละครหลังข่าวสมัยนี้  รบรากันตั้งแต่สมัยยังสาว  ยาวนานไปจนถึงรุ่นลูก

ว่ากันว่าเรื่องนี้เรตติ้งสูงลิบ  มีคนติดตามอ่านกันเพียบ  คนเขียนถึงได้ต้องดึงเรื่องเขียนไปได้ถึงสามแผ่นดิน

บทบาทนางละเวง  ในฐานะผู้นำหญิงที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจแบบจับพลัดจับผลู  แล้วก็โลดเต้นไปตามบทด้วยแรงผีผลัก  คือแรงแค้นแทนวิญญาณพี่ชายนายอุศเรน  บวกกับกุนซือระดับเซียนคือบาทหลวงที่คอยยุยงส่งเสริมแถมวางแผนให้สารพัด  ดูๆ ไปก็คล้ายกับใครบางคนในวันนี้

โดดเข้ามาเล่นแล้วก็ต้องตีบทให้แตก  เล่นให้สมบท สุดฝีมือ  ไม่ต้องสนใจเสียงนกเสียงกา...


ตอนจบเรื่องพระอภัยมณี  หลังจากที่ทำสงครามกันยับเยินไปทั้งสองฝ่าย  หล่อเลี้ยงความแค้นตั้งแต่รุ่นแม่ยันรุ่นลูก  ท้ายที่สุดคนแต่งหาทางจบโดยให้พระฤาษีมากล่อมจนปรองดองกันได้

เรื่องพระอภัยมณีจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง  เพราะคนแต่งบวชเป็นพระมานาน  ก็เลยให้ตัวละครมองเห็นสัจธรรม

แต่คนเขียนบทวันนี้  กระเดียดไปทางมาร!!!  ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะจบยังไง...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น