วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

พยาน

พยาน


เพราะซาตานจอมหลอกลวงถูกสาปให้ตามอาดัมกับอีฟมาอยู่ในโลกมนุษย์  เรื่องหลอก ๆ ลวงๆ จึงน่าจะมีอยู่คู่โลกมานมนานนักหนา  และเป็นสาเหตุที่ทำให้การพิสูจน์ความจริง  ต้องมีการอ้างพยานหลักฐาน

แต่พยานหลักฐาน หรือพยานบุคคล  ก็ยังถูกทำให้บิด ๆ เบี้ยว ๆ มาตั้งแต่สมัยไหน ๆ แล้วเหมือนกัน  ในกฏหมายตราสามดวงจึงมีการพิสูจน์อีกแบบหนึ่ง  ในกรณีที่หาหลักฐานพยานไม่ได้  หรือไม่น่าเชื่อถือ ก็คือ  การพิสูจน์ด้วยการดำน้ำลุยไฟ

เพราะความเชื่อแต่โบร่ำโบราณ เชื่อว่าอันกรรมดีชั่วทั้งหลาย  ถึงจะไปแอบทำลับหูลับตา  ไม่มีใครรู้เห็น  แต่เทวดาฟ้าดินย่อมรับรู้  แล้วก็จดบันทึกทำบัญชีเอาไว้เช็คบิลตอนท้่าย

ก็เหมือนที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีมาตั้งเป็นพัน ๆ ชาติ  จนจะบรรลุพระโพธิญาณอยู่แล้ว  แต่พญามารก็ยังตามมาผจญ  พระพุทธเจ้าต้องอ้่างฟ้าดินเป็นพยานเพราะพยานที่รู้เห็นจริง ๆ ในแต่ละชาติ  ตายไปเกิดกันคนละทิศละทางหมดแล้ว

แล้วแม่พระธรณีก็ผุดขึ้นมาบีบน้ำในมวยผมให้พญามารดูให้จะจะว่าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีมาขนาดไหน  เพราะความเชื่อของพราหมณ์  เวลาทำบุญเขาจะหลั่งน้ำลงแผ่นดิน  ซึ่งเป็นที่มาของการกรวดน้ำในปัจจุบันนี้แหละ

ซึ่งน้ำจากมวยผมแม่พระธรณีที่สะสมมาจากการทำบุญของพระพุทธเจ้าก็ไหลพลั่ง ๆ จนกลายเป็นอุทกภัยกวาดพลพรรคพญามารเสียราบเรียบ

ในเรื่องรามเกียรติ์ก็มีการพิสูจน์ด้วยการลุยไฟ  เนื่องจากนางสีดาถูกทศกัณฐ์ลักพาไปอยู่ลงกาเสีย ๑๔ ปี  กว่าพระรามจะทำสงครามเอาชนะทศกัณฐ์ได้  ทำให้คนเม้าท์กันให้แซ่ดทำนองว่าไปอยู่นานขนาดนั้น  มิ่หนำซ้ำทศกัณฐ์ก็มีมือไม้ออกยุ่บยั่บ  แล้วมันจะเหลือเร้อ...

นางสีดาจึงต้องพิสูจน์ด้วยการลุยไฟให้มันรู้กันไปว่า  ยี่ห้อสีดา  ทนไฟ  รับประกันได้

ซึ่งก็ช่วยสยบเสียงเม้าท์ไปได้พักใหญ่  แถมยังเป็นที่ประทับใจผู้ชมจนมีคนเอาตั้งชื่อเมนูเด็ดว่า สีดาลุยไฟ  ก็คือ ผักบุ้งไฟแดง

ส่วนในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน  ก็มีตอนที่นางสร้อยฟ้าทำเสน่ห์พระไวยให้หลงหัวปักหัวปำ  ขนาดขุนแผนเสกกระจกส่องหน้าให้ดูก็ยังไม่ยอมเชื่อ  หาว่าขุนแผนเล่นกล  จนขุนแผนน็อตหลุดจะทุบกระโหลกให้หายเจ็บใจ  แต่นางทองประศรีก็ขวางเอาไว้

ขุนแผนก็เลยหาวิธีล้างแค้นด้วยการออกอุบายปลอมเป็นมอญยกทัพมาเพื่อหลอกให้พระไวยออกไปรบ  จะได้เล่นงานเสียให้น่วม  แต่พระไวยก็อาศัยความเชี่ยวหลุดรอดไปได้  ท้ายสุดก็เลยต้องมาจบที่ศาลพระพันวษา

แต่ก็สอบสวนทวนความไม่ได้  เพราะไม่มีพยานหลักฐาน  เลยต้องโยนไปให้เทวดาฟ้าดินช่วยตัดสินด้วยการให้สร้อยฟ้า กับศรีมาลาลุยไฟ

 ซึ่งก็ปรากฏว่า  นางศรีมาลาก็ทนไฟแบบเดียวกับนางสีดา  ส่วนนางสร้อยฟ้า  ของปลอมแถมไมได้ใช้บัวหิมะทากันไว้ก่อน  ก็เลยโดนไฟเผาเกือบจะกลายเป็นเนื้อย่างน้ำตก


นอกจากลุยไฟ  ยังมีการดำน้ำ  อย่างตอนพระไวยเป็นความกับขุนช้าง  ก็ใช้วิธีดำน้ำพิสูจน์  ซึ่งขุนช้างก็แพ้  อันนี้ดูจะโหดน้อยกว่า  เพราะอย่างมากก็แค่สำลักน้ำ  ไม่ถึงกับดิบ ๆ สุก ๆ แบบลุยไฟ

การตัดสินด้วยการดำน้ำลุยไฟ  ในกฏหมายตราสามดวงมีรายละเอียดเกี่ยวกับพิธีกรรม  พิธีการไว้มากมาย  เช่น ก่อนจะเริ่มพิธีก็ต้องควบคุมตัวไว้ ให้นุ่งขาวห่มขาวรักษาศีล  สงบสติอารมณ์ หรือเพื่อสร้างความเครียดไว้ชั้นหนึ่งก็ไม่รู้ได้


พอถึงเวลาประกอบพิธี  พราหมณ์ก็จะอ่านโองการเชิญเทวดามาเป็นสักขีพยาน  แถมด้วยการสาปแช่งอย่างดุเดือดให้คนผิดต้องพ่ายแพ้พินาศไปทันตาเห็น  เป็นต้นว่า  ลุยไฟก็จะถูกไฟกาฬเผาผลาญ  ดำน้ำก็จะเจอตัวประหลาดน่าขนพองสยองเกล้าฯลฯ   ซึ่งในช่วงเวลาเหล่านี้  คนที่รู้ตัวอยู่ว่าผิด  แถมจิตอ่อน ก็อาจเครียดจนสติแตกได้ง่าย ๆ บางทีไม่ทันดำนำ้ลุยไฟก็ยอมสารภาพออกมาเองด้วยซ้ำไป

เพราะคนสมัยก่อน  จะชั่วดียังไง  ก็ยังเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ

ทุกวันนี้  กฏหมายตราสามดวงก็เลิกใช้ไปแล้ว  ข้าราชการบางเหล่ายังมีการถวายสัตย์  ดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  ซึ่งมีการอ่านโองการแช่งน้ำ  แช่งชักหักกระดูกคนทรยศให้หอกเท่าใบพายแทงหูซ้ายทะลุหูขวา

แต่คนฟังโองการก็ฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาเพราะสมัยนี้เขาเลิกเชื่อเรื่องบาปกรรมไปแล้ว แข่งได้ก้แข่งไป

นอกจากดำน้ำลุยไฟ  ในกฏหมายตราสามดวงก็ยังมีการพิสูจน์อีกหลายวิธี  วิธีหนึ่งก็คือให้สาบาน  ซึ่งเดี่๋ยวนี้  แม้กฏหมายตราสามดวงจะเลิกไปแล้วก็ยังมีคนชอบใช้วิธีนี้เพราะง่ายดี


พระแก้วมรกต กับพระสยามเทวาธิราช  จึงมักถูกอ้างอิงเป็นพยานอยู่บ่อย ๆ ด้านหนึ่งก็คือ หวังจะอาศัยเครดิตทำให้คนเชื่อถือ  แต่อีกด้านหนึ่งก็เหมือนดิสต์เครดิตเทวดา  เพราะหลายเรื่องที่สบถสาบาน  ฟังยังไง ๆ ก็ไม่น่าเชื่อ  เอายี่ห้อเทวดามารับประกันให้เสียสถาบันเปล่าๆ

อย่างไรก็ตาม  เชื่อได้ว่าบรรดาพยานเทวดาเหล่านั้น  ท่านก็คงเก็บข้อมูลไว้...เพียบ

คงต้องรอดูว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาที่เทวดาฟ้าดินจะประมวลผล  เช็คบิล...

ถึงจะช้าไปสักหน่อย  ไม่ทันใจท่านผู้ชม  แต่คิดว่ามาตรฐานเทวดา  น่าจะเชือ่ถือได้































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น