วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รักมีระดับ

รักมีระดับ


๑๔ กุมภาพันธ์  วันแห่งความรัก  ราคาดอกกุหลาบพุ่งกระฉูด  ช็อกโกแลตขายดิบขายดี  เขตบางรักพลอยโด่งดัง ไม่เว้นแม้แต่โรงแรม  โรงเรียน  ชาวบ้านร้านตลาด ฯลฯ ก็พลอยมีกิจกรรมแจกจ่ายความรักกันให้เอิกเกริก

ก็ไม่รู้ว่าจะมีสักกี่คน  สนใจที่มาของวันแห่งความรัก  และรู้จักตำนานเซนต์วาเลนไทน์

ตำนานวันแห่งความรัก  ไม่ยักใช่เรื่องรักหวานของหนุ่มหล่อสาวสวย  แต่กลับกลายเป็นเรื่องรักของนักบวชกับสาวตาบอด  มิหนำซ้ำเรื่องโรแมนติกที่ว่านี้  เกิดขึ้นในคุก

ตามตำนานกล่าวว่า  นักบวชชื่อวาเลนตินัส  ถูกทรราชย์โรมันจับมาขังคุก  ส่วนความผิดนั้น  บางที่ก็ว่าเพราะขัดคำสั่งที่ห้ามนักบวชประกอบพิธีแต่งงาน  เนื่องจากคนแต่งงานแล้วมักจะห่วงครอบครัว  ไม่ยอมไปรบ  ส่วนบางแห่งก็ว่าเพราะเที่ยวเผยแพร่ศาสนาคริสต์  ซึ่งโรมันไม่ปลื้ม

สรุปว่าวาเลนตินัสก็ถูกจับมาขังไว้  แล้วระหว่างนั้นก็เผอิญได้สนิทชิดเชื้อกับหญิงสาวตาบอดลูกผู้คุม   ซ้ำร้ายท้ายสุด  เรื่องนี้ก็จบแบบเศร้า  คือวาเลนตินัสถูกประหาร

ตอนที่โรแมนติกสุด ๆ เห็นจะเป็นตอนก่อนตาย  คือวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์  วาเลนตินัสได้ฝากดอกไม้กับการ์ดไว้ให้สาวเจ้า  มีข้อความว่า "From  your Valentine"

ตรงนี้แหละ  ที่ทำให้กุหลาบกับการ์ดหวาน ๆ ขายดิบขายดี  ส่วนช็อคโกแลต  รวมทั้งขนมหวานสารพัดสารพัน  นัยว่าไม่เกี่ยวแต่อยากให้เกี่ยว  ก็เลยอ้างเอาความหวานมาเป็นจุดขาย  แถมทำเป็นรูปหัวใจอีกต่างหาก  ก็เลยเหมารวม ๆ กันไปได้

เรื่องวันวาเลนไทน์  สะท้อนมุมมองความรัก  ให้เห็นว่า  ความรักไม่เกี่ยวกับรูปกายภายนอก  เนื่องจากฝ่ายสาวก็ตาบอด  ไม่เคยเห็นว่านักบวชหนุ่มหล่อหรืออัปลักษณ์สักขนาดไหน  ส่วนวาเลนตินัสก็รักสาวเจ้าทั้ง ๆ ที่พิกลพิการ  ตาบอดนั่นแหละ

มันก็เลยซึ้งตรงนี้

ความรักเป็นหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์และสัตว์  และว่าตามทฤษฎีของซิกมัน  ฟรอยด์  ความรักก็เป็นแรงขับให้คนทำอะไรต่อมิอะไรได้สารพัด  ทั้งร้ายทั้งดี


ความรักขั้นต่ำเตี้ยที่สุดที่บรรดาเดรัจฉานก็มี  คือรักตัวเอง  สูงขึ้นมาอีกนิดก็รักพวกพ้อง  มากขึ้นอีกหน่อยก็เผื่อแผ่ความรักให้กับคนรอบข้าง  ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานของปุถุชนคนธรรมดา

แต่ถ้าจะให้สูงขึ้นกว่ามาตรฐานก็คือ  ต้องรักแม้แต่ศัตรู  ตามคติของศาสนาคริสต์

ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งความรักและให้อภัย  เป็นศาสนาที่สอนให้รักแม้แต่ศัตรู  ซึ่งแค่คิดก็ยากแล้ว  เพราะคนบางคนมันก็น่าเกลียดน่าชัง  ร้ายยังกับตัวโกงในละครน้ำเน่า  ใครจะไปรักลง

ยิ่งถ้าจะให้ทำตามคำสอนที่ว่า ถ้าเขาตบแก้มซ้ายให้เอียงแก้มขวาให้ตบอีกที..ละก็  เมินเสียเถอะ  มีแต่แค่เงื้อก็เจอสวน..

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงเป็นเพราะศาสนาคริสต์เกิดขึ้นท่ามกลางความเกลียดชัง  เพราะเป็นช่วงที่ทรราชย์โรมันกำลังบ้าอำนาจและใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงชาวบ้านชาวเมือง  สร้างความเกลียดชังฝังใจไปทั่ว  ก็เลยต้องพยายามลดความเกลียดในหัวใจคนลง  ถ้าสั่งสมแต่ความเกลียดๆๆ  ก็คงบ้าตายกันไปหมด

ส่วนศาสนาพุทธ ไม่ได้เกิดขึ้นท่ามกลางความเกลียด  แต่เป็นความรังเกียจเดียดฉันท์  เพราะเกิดในสังคมซึ่งมีการแบ่งแยกชนชั้นกันอย่างเด่นชัด คนเกิดมาอย่างไรก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น  คนวรรณะสูงก็ถือเนื้อถือตัว  คนวรรณะต่ำก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน  หมดโอกาสคิดทำอะไรให้ชีวิตดีขึ้น

แนวคิดของศาสนาพุทธจึงเน้นเรื่องลดช่องว่าง  สอนว่าสิ่งที่แบ่งแยกคนไม่ใช่ชาติกำเนิด  แต่เป็นการกระทำ หรือกรรม

แถมยังไม่เชียร์ให้รัก  แต่กลับสอนว่า "ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์"  เมื่อไม่อยากทุกข์ก็อย่ารัก

คำสอนในศาสนาพุทธจึังไม่มีรักหวานแหวว  มีแต่เมตตา  กรุณา มุทิตา  กตัญญู  กตเวทิตา

มองเผินๆ ก็เหมือนรัก  แต่เป็นรักที่มีความปรารถนาดี  และที่สำคัญคือ ไม่ยึดมั่นเป็นเจ้าของเจ้าของ  ซึ่งถ้าจะว่าไป  ก็สูงกว่ามาตรฐานปุถุชนคนธรรมดาอีกนั่นแหละ

ลองสังเกตดูให้ดี  เมื่อก่อนนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท  ให้คนไทย "รักสามัคคี"

เวลาผ๋านไป  คนไทยก็ยังไม่ค่อยรักกัน  แถมตีกันเละ  สาเหตุก็เนื่องจากอิทธิพลของความรักระดับเตี้ย  คือ  รักตัว รักพวกพ้อง

ตอนหลัง ๆ พระบรมราโชวาทก็เลยลดระดับลงมา  กลายเป็นว่าให้ "มีเมตตา"  แปลว่า  รักไม่ลงก็ไม่เป็นไร  แค่อย่าเกลียดกันก็พอ

คิดว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยก็อยากสนองพระราชดำรัส  แต่ก็...ยังทำใจยากอยู่ดี

อบ่างเรื่องคนทำผิดคิดร้ายสารพัด  แล้วจะขอนิรโทษกรรมเอาดื้อๆ

ต้องเหนือระดับปุถุชนแล้วละ  ถึงจะเมตตาให้อภัยกันง่าย ๆ

ส่วนระดับปุถุชนคนธรรมดา  มีแต่ภาวนาอยากให้กรรมตามทันเร็วๆ











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น