วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อริยสัจ

อริยสัจ


เมื่อสองพันหกร้อยปีมาแล้ว  เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงศึกษาวิจัย  เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิต  โดยสำรวจแนวทางจากสำนักอาจารย์หลายต่อหลายสำนัก  นำมาวิเคราะห์  สังเคราะห์  รวมทั้งมีการตั้งสมมติฐานและทดสอบด้วยการบำเพ็ญทุกรกิริยา  เมื่อรู้ว่าตั้งสมมุติฐานผิด  ก็หาแนวทางใหม่  จนท้ายที่สุดก็ค้นพบคำตอบ  คือหลักแห่งธรรมชาติ  ธรรมดา  ที่เรียกว่าสัจธรรม

ผลงานวิจัยชิ้นนี้มีค่าความเชื่อมั่นเต็มร้อย  ไม่ใช่เก้าสิบเก้าจุดเก้าเก้า  อย่างงานวิจัยทั่ว ๆ ไปที่ชอบกั๊กไว้เผื่อพลาด  และแม้จะผ่านกาลเวลามาถึงสองพันกว่าปี  ก็ยังไม่มีผลงานวิจัยอื่นใดมาหักล้าง  ไม่เหมือนผลงานวิจัยอีกบานตะเกียงที่ออกมาเผยแพร่กันเอิกเกริก  อีกไม่กี่วันก็มีวิจัยใหม่มาบอกว่าไอ้ที่ว่าไปก่อนหน้านี้  มันไม่ยักกะใช่

ต่างจากหลักของธรรมชาติ  ธรรมดา  ที่เจ้าชายสิทธัตถะค้นคว้าวิจัย  เช่น เรื่อง การเกิด แ่ก่ เจ็บ ตาย  เป็นสิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้  แม้แต่แวมไพร์  หรือคุณยายวรนาถ

ส่วนอริยสัจสี่  ที่ทรงนำมาขยายผลเป็นอันดับแรก  ก็คือแนวทางการวิจัย  ซึ่งว่าด้วยการทำความเข้าใจปัญหา  วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา  หาแนวทางแก้ไข  และลงมือแก้ไขให้สำเร็จ

แนวทางเดียวกันนี้  บรรดานักวิทยาศาสตร์  นักคิด นักประดิษฐ์ ฯลฯ อะไรต่อมิอะไร  ก็ใช้ในการศึกษา  และประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมทั้งหลายแหล่  ส่วนจะเรียกว่า  การวิจัย  หรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็สุดแต่จะเรียกกันไป

ตอนปฏิรูปการศึกษาเมื่อ สิบกว่าปีก่อนโน้น  มีแนวคิดให้ครูทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในชั้นเรียน  เป็นเหตุให้บรรดาคุณครูเกิดวิตกจริตกันไปต่าง ๆ นานา  ถึงขั้นเปลี่ยนเส้นทางชีวิตกันไปเยอะแยะ  ด้วยความคิดว่างานวิจัยนั้นหนักหนาสาหัสเกินกว่าจะแบกร้บไว้ได้

ในตอนนั้น  นักวิจัยมือโปรฯ ต้องพยายามดัดแปลง  ให้ทำวิจัยแผ่นเดียวหน้าตาน่าเอ็นดู  หลอกล่อให้หายกลัว  ก่อนจะค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไปเป็นวิจัยจริงจัง

คุณครูหน้าตาบ้องแบ๊วบางคน  เมื่อถูกเคี่ยวเข็นให้ทำวิจัย  ก็ทำท่าอับจนปัญญา  ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอะไรดี  ทั้ง ๆ ที่ปัญหาก็เจออยู่ทุกวี่ทุกวัน  สมควรไปตัดแว่นตาใหม่เป็นอันดับแรก  เพราะปัญหาสำคัญน่าจะอยู่ตรงสายตาสั้น  จนมองไม่เห็นปัญหาที่อยู่แค่ปลายจมูก

ความจริงอริยสัจ  หรือวิจัย  ก็คือการคิดแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล  และแนวคิดใหญ่ในพุทธศาสนาก็คือ   ทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ  เมื่อเหตุดับ  ทุกสิ่งก็ดับ

การแก้ปัญหาจึงต้องแก้ที่ต้นเหตุ

ชีวิตเป็นทุกข์  ถ้าไม่อยากทุกข์ก็อย่ามีชีวิต  คือไม่ต้องเกิด
ความรักเป็นทุกข์  ไม่อยากทุกข์ก็อย่ารัก  ง่าย ๆ แค่นี้แหละ

ปัญหาอะไรต่อมิอะไรที่มันอิรุงตุงนัง  ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งเหมือนลิงแก้แห   ก็เพราะไม่เข้าใจปัญหา

เป็นต้นว่า ปัญหาการศึกษาไทยที่ตกต่ำย่ำแย่  ผลสำรวจก็ออกมาขัดเจนว่าเป็นเพราะขาดครู  แถมครูที่มีอยู่ก็ไม่ค่อยเก่ง  สมมติฐานที่ควรทดสอบอันดับแรกก็คือ  เพิ่มครูเก่งเข้าไปในระบบ  แล้วดูซิว่า  การศึกษาจะดีขึ้นไหม

ที่ไหนได้  กลับกลายเป็นเพิ่มเทคโนโลยี  เพิ่มเงิน ฯลฯ ผลก็เห็น ๆ ว่า  ครูเงินเดือนเยอะขึ้นก็ไม่ได้เก่งขึ้น  เทคโนโลยีก็แทนครูไม่ได้  ปัญหาการศึกษาไทยก็ยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นทุกวัน

หรือปัญหาภาคใต้  อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้  ยิ่งนับวันคนก็ยิ่งเกลียดชัง  ตั้งหน้าจะฆ่ากันหนักขึ้นทุกที  ตอนแรกก็เจอผู้ยิ่งใหญ่สายตาสั้น  ประเมินว่า "แค่โจรกระจอก"  ซึ่งก็ผิดเต็มประตู  ต่อมาก็ว่า เรื่องแบ่งแยกดินแดน  ขัดแย้งทางศาสนา ฯลฯ  ไป ๆ มา ๆ ที่แท้ก็ไม่ยังไม่รู้  ก็แก้ด้วยเคอร์ฟิวส์บ้าง  จัดชุดคุ้มกันบ้าง ฯลฯ  แล้วก็ออกข่าวว่า  มาถูกทาง???

ก็ยังไม่รู้เลยว่าปัญหาอยู่ตรงไหน  แล้วจะพูดได้ยังไงว่า  มาถูกทาง

ประเภทตาบอดคลำช้าง  จับตรงส่วนไหนก็ไม่รู้  อนุมานเอาเองว่าช้างทั้งตัวมันเป็นอย่างนั้น
ไอ้ที่ว่ามาุถูกทาง  ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นทางหัว  ทางหาง  หรือทางไหนกันแน่

ปัญหานักการเมืองคอร์รัปชั่นยิ่งแล้วใหญ่  ก็เห็นกันชัด ๆ ว่าใครบ้างที่โกงบ้านกินเมือง  กลับไปแก้ที่เด็ก  อบรมกันยกใหญ่ให้โตไปไม่โกง  ทั้งๆ  ที่เด็กก็ยังไม่โต  ยังไม่ได้โกง

เพราะไม่มีปัญญาไปแก้ปัญหาที่สาเหตุ  ได้แต่ปัดเป๋เฉไฉไปเรื่อยๆ

ประเทศไทยก็เลยติดอันดับประเทศที่คอรัปชั่นมากขึ้นๆ  ยั้งไม่หยุด  ฉุดไม่อยู่

ส่วนปัญหาใหญ่มากของเมืองไทย  ที่หลายคนก็เห็นเหมือนกันว่า  เกิดขึ้นเพราะคนบางคนที่ถ้าไม่เกิดมา  ก็คงไม่มีปัญหา

ถ้าจะแก้กันที่ต้นเหตุ  คงต้องอาศัยไทม์แมชีนย้อนเวลาหาอดีต  ไปหาวิธีไม่ให้เกิด  ซึ่งก็คงยากเพราะจะเป็นการก้าวล่วงอำนาจพระพรหมท่านอีก

ก็คงต้องยอมรับกฏแห่งกรรม  เหตุเกิดแล้ว  ผลก็เกิดตามมาเรื่อยๆ  ไม่รู้จักจบจักสิ้น

ได้แต่รอว่า  เมื่อไหร่คนที่เป็นต้นเหตุจะดับไปเอง  ตามธรรมชาติ  ธรรมดา

ผลร้าย ๆ ทั้งหลายทั้งปวงจะได้พลอยดับไปด้วย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น