วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

นิยามความรัก

นิยามความรัก



วรรณคดี  เป็นคลังปัญญาของบรรดานักปราชญ์ราชกวี  มีเรื่องราวให้เก็บมาคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ได้บานตะเกียง  เป็นต้นว่า  เรื่องมุมมองความรักที่มีอยู่หลากหลาย

อย่างเรื่องเวนิสวาณิช  ตอนที่พระเอกนางเอกพบกัน  ก็มีคำถามถึงนิยามความรักผ่านเสียงดนตรีว่า
"ความเอยความรัก                    
เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน
เริ่มเพาะเหมาะกลางหว่างหัวใจ
หรือเริ่มในสมองตรองจงดี"
แล้วนักดนตรีก็ช่วยเฉลยเสร็จสรรพว่า
"เกิดเมื่อเห็นน้องน้อยอย่างสงสัย
ตาประสบตารักสมัครไซร้"      
 
ก็คือ รักแรกพบ  สบตาปุ๊บก็ปิ๊งทันที  อันนี้เขาตอนแทนพระเอกนางเอกตอนนั้น  คนอื่นไม่เกี่ยว

ส่วนพระอภัยมณี  ผ่านรักมาหลายครั้ง  ทั้งนางผีเสื้อสมุทร  นางเงือก  นางสุวรรณมาลี  แถมด้วยนางวาลี  แต่ก็ยังฝากรักกับนางละเวงเสียหวานเวอร์
"ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร    
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้หล้าสุุธาธาร        
ขอพบพานพิสวาททุกชาติไป"

หรือนางมัทนา  อีตอนกำลังสวีท ก็เปรียบเทียบความรักว่า
"อ้าอรุณแอร่มระเรื่องรุจี            ประดุจมโนภิรมย์รตี...
ณ แรกรัก"

นี่ก็เห็นความรักสวยงาม  สว่างไสว  ราวกับพระอาทิตย์แรกขึ้น  หวานเวอร์เหมือนกัน

ตรงข้ามกับฤาษีกาละทรรศิน  ซึ่งมองความรักของมัทนากับท้าวชัยเสน  อย่างคนที่เห็นโลกจนทะลุปรุโปร่ง  ก็เลยเปรียบเทียบความรักว่า
"ความรักเหมือนโรคา                บันดาลตาให้มืดมน
ไม่ยินและไม่ยล                         อุปสรรคะใดใด
ความรักเหมือนโคถึก                กำลังคึกผิขังไว้
ก็โลดออกจากคอกไป               บ ยอมอยู่ ณ ที่ขัง
ถึงหากจะขังไว้                          ก็ดึงไปด้วยกำลัง
ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง                         บ หวนคิดถึงเจ็บกาย"

คือเปรียบความรักทำให้ตาบอด  ยังแถมพิษวัวบ้าอีกต่างหาก

ทำนองเดียวกับรักของจินตะหรา ในเรื่องอิเหนา ที่เผลอใจไปรักคนมีเจ้าของ  พออิเหนากลับไปดาหา  ก็เลยต้องรำพึงรำพันว่า
"โอ้ว่าอนิจจาความรัก      
เพิ่งประจักษ์ดังสายน้ำไหล
มีแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป
ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา"


ส่วนขุนแผน  ยอดนักรักมืออาชีพ  ที่สมัยหนุ่ม ๆ ใช้ทุกวิถีทางเพื่อแย่งชิงความรัก   เมื่อผ่านทุกข์ผ่านสุข  สมหวังผิดหวัง  มาเป็นคุณพ่อ  ประสบการณ์ก็สอนให้สุขุมคัมภีรภาพขึ้น  เมื่อเห็นลูกชายบ้ารักเหมือนสมัยตัวเองยังหนุ่ม  ก็ยังเตือนพลายงาม  ว่า
"ลูกเอ๋ยเจ้าไม่เคยรู้รสร้าย      
เมื่อความรักกลับกลายแล้วหน่ายหนี
อันเจ็บปวดยวดยิ่งทุกสิ่งมี      
ไม่เท่าที่เจ็บช้ำระกำรัก"
นับว่าขุนแผนนี่  แก่ใช้ได้  ไม่ได้แก่เพราะกินข้าว  เฒ่าเพราะอยู่นาน  อย่างน้อยความคิดก็พัฒนาขึ้นเยอะ

ส่วนในเรื่องเงาะป่า  ซมพลา  ฮะเนา  ลำหับ  รักสามเส้าที่ตัวละครทั้งสามต้องจบชีวิตสังเวยความรัก  ก็สะท้อนมุมมองความรักแบบปลงอนิจจังไว้ว่า

"ดูดู๋ความรักนักหนาหนอ        
มาลวงล่อคนพาให้อาสัญ
ถึงสามศพสยบเรียงเคียงกัน  
ล้วนทาสรักทั้งนั้นอนาถใจ

นางเอกที่ค่อนข้างจะเป็นนักปรัชญา  และให้นิยามความรักไว้อย่างกิ๊บเก๋เท่กว่าใคร  ได้แก่ วาสิฏฐี  ที่เปรียบเทียบความรักแท้ว่า  รักของเจ้าหล่อนเปรียบได้กับสีดำเหมือนสีศอพระศิวะ  นั่นก็คือ  ความรักแท้ต้องอดทนต่อความทุกข์ยากเพื่อให้คนที่รักมีความสุข  เหมือนพระศิวะที่ยอมดื่มพิษเพื่อรักษาโลกไว้

เพิ่มคำอธิบายภาพ
แสดงให้เห็นว่า  ยายวาสิฏฐีนี่  รักแบบเผื่อใจ  ไม่ประมาท  ท้ายสุดเมื่อรักพลิกล็อค  แกก็เลยรับได้  ตรงข้ามกับกามนิตที่ขนาดฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าตั้งค่อนคืนก็ยังไม่ทะลุ  เพราะใจติดข้องอยู่กับความรักแบบโลก ๆ ต้องต่อให้อีกชาติหนึ่ง  ถึงมองเห็นสัจธรรม

ส่วนเรื่องรักที่ยิ่งใหญ่กว่าแบบหนุ่ม ๆ สาว ๆ รักกัน  เลิกกัน  ก็มีอยู่ในวรรณคดีหลายเรื่องหลายเล่ม  เป็นต้นว่า  พระราชนิพนธ์ของ ร.๖  ซึ่งพยายามปลุกใจให้รักชาติ  ที่คุ้น ๆ กันก็เช่น




"รักชาติยอมสละแม้     ชีวี
รักเกียรติจงเจตน์พลี    ชีพได้"

หรือ
"ชาติใดไร้รักสมัครสมาน          
จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล
แม้นชาติย่อยยับอับจน              
บุคคลจะสุขอยู่อย่างไร"

ส่วนพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ  ก็นิยามความรักที่ยิ่งใหญ่กว่าความรักของหนุ่มสาวไว้ในบทประพันธ์เรื่องเจ้าหญิงแสนหวีว่า



"ความรักอันใด            แม้รักเท่าไหน             ก็ไม่ยั่งยืน
เช่นรักคู่รัก                   แม้รักดังกลืน              ยังอาจขมขื่น              ขึ้นได้ภายหลัง
แต่ความรักชาติ           รักแสนพิสวาท           รักจนสุดกำลัง
ก่อเกิดมานะ                ยอมสละชีวัง              รักจนกระทั่ง                หมดเลือดเนื้อเรา
ชีวิตร่างกาย                เราไม่เสียดาย            ตายแล้วก็เผา
ทุกสิ่งยอมพลาด         เว้นแต่ชาติของเรา     ไม่ให้ใครเข้า               เหยียบย่ำทำลาย"

ความรักเป็นอารมณ์พื้่นฐานของมนุษย์  และก็เหมือนอย่างทฤษฎีของซิกมัน  ฟรอยด์  ที่ว่า  ความรัก  เป็นแรงขับที่ทำให้คนทำอะไรได้หลายต่อหลายอย่าง  ทั้งร้ายและดี

ชาติเราเป็นชาติอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้  ก็เพราะบรรพบุรุษของเรามีหัวใจรัก  และยอมเสียสละเพื่อปกป้องสิ่งที่รักไว้นี่แหละ

ไม่รู้เหมือนกันว่าลูกหลานไทย  จะยังมีหัวใจแบบนี้มากน้อยแค่ไหน



















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น