วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

ฟังเขาว่า....

ฟังเขาว่า...

สำนวนไทยที่ว่า "ฟังหูไว้หู" หรือ  "พกหินดีกว่าพกนุ่น" นับว่ายังไม่ล้าสมัย  เพราะทุกวันนี้  เรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์เกินจริงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา  มีเพียงสินค้าบางประเภทเท่านั้น  ก็ยังควบคุม  ห้ามโฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริง  แต่ส่วนใหญ่แล้วต้องยอมรับว่า  เกินไปมากกกก...

เช่นเดียวกับการยกย่องยกยอปอปั้นกันสุดฤทธิ์สุดเดช  ก็กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาอีกเหมือนกัน

ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ  จะคิดอะไรยังไง ก็สุดแต่วิจารณญาณของแต่ละคน

มีวรรณคดีเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นมุมกลับของการโฆษณา  คือแทนที่คนฟังจะพลอยหลงใหลได้ปลื้ม  กลับหมั่นไส้เอาเสียอีก  ก็คือเรื่อง กนกนคร

เรื่องกนกนคร  กล่าวถึงพญากมลมิตร ตัวเอกของเรื่อง  ซึ่งเป็นเทวดาขี้โม้  หลงใหลได้ปลื้มศรีภรรยา  คือนางอนุสยินี  เที่ยวคุยฟุ้งให้ใครต่อใครฟังว่า  ภรรยาของตนนั้นสวยเลิศเลอเพอร์เฟ็ค  จนบรรดาเทวดานางฟ้าทั้งหลายพากันหมั่นไส้  แกล้งยุให้ไปยั่วฤาษีให้ตบะแตก

ซึ่งผลก็ปรากฏว่า  ฤาษีตบะไม่แตก  แต่พญากมลมิตร  กับนางอนุสยินี  ถูกสาปให้ลงมาเกิดเป็นมนุษย์  ชดใช้ความอหังการ์เสียหนักหนาสาหัส

ทั้งนี้ทั้งนั้น  ก็เพราะความขี้โอ่ขี้อวดของคุณสามีสุดที่รัก  กับคุณภรรยาสุดเลิฟ

สังคมไทยแต่ดั้งเดิม  ไม่นิยมคนขี้โอ่ขี้อวด  อย่างในสุภาษิตโคลงโลกนิติก็เปรียบเทียบคนโอ้อวดว่า เหมือนแมลงป่อง "ชูแต่หางเองอ้า  อวดอ้างฤทธี"

ส่วนสุภาษิตพระร่วง  ไม่ได้กล่าวถึงคนขี้โม้  แต่ก็มีคำสอนสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับการยกย่องยกยอเอาไว้  ทำนองว่าให้เป็นไปตามฐานานุรูป  คือ
"ยอครูยอต่อหน้า ยอข้าเมื่อแล้วกิจ ยอมิตรเมื่อลับหลัง"

อรรถาธิบายได้ว่า  ถ้าจะยกย่องครู  ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงแค่ครู  แต่รวมความไปถึงบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายก็ควรยกกันต่อหน้านั่นแหละ  เพราะมีแต่ได้กับได้ ผู้ใหญ่ก็ย่อมปลื้ม เกิดความเมตตา  ประเภท "เป็นผู้น้อยค่อยก้มประนมกร  ชเลียร์ไว้ก่อนจะสบายเมือ่ปลายมือ"  อะไรทำนองนั้น

ส่วนข้าคือคนรับใช้  ถ้าอยากชม  ต้องรอให้ทำงานเสร็จ  มีผลงานปรากฏเสียก่อน  เพราะถ้าชมตั้งแต่งานยังไม่เสร็จ  อาจเหลิงได้ใจ แถมงานออกมาไม่เอาไหน น่าเสียดายคำชม

สำหรับเพื่อนเกลอเพื่อนกันนั้น การยอต้องมีเทคนิคกันนิดหน่อย  ยอต่อหน้าอาจหาว่าแกล้งพูดเล่น แต่ถ้าชมลับหลังแล้วเสียงสะท้อนมาจากปากคนอื่นว่าเราชมเขายังงั้นยังงี้ เป็นปลื้มกว่ากันเยอะ

ที่สำคัญคือ  การชมลูกเมีย  คนสนิทชิดใกล้  ยิ่งต้องระมัดระวัง  สุภาษิตพระร่วงสอนว่า
"ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ เยียวสระเทินจะอดสู"

แปลว่า ลูกเมียตัวเองน่ะ จะปลื้มซะขนาดไหนก็เก็บไว้ปลื้มกันเอง อย่าเที่ยวไปสรรเสริญเยินยอยกย่องให้ใครเขาฟังว่าดียังงั้นเก่งอย่างนี้ สวยเหลิอเชื่อ ฉลาดเหลือรับประทาน เพราะคนขี้อิจฉา ขี้หมั่นไส้ก็มีอยู่มากมาย  เขาฟังแล้วอาจไม่ปลื้มด้วย  แถมอิจฉา  หมั่นไส้  เหมือนในเรื่องกนกนครนั่นแหละ

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ   มีการอธิบายแถมไว้ว่า  "เยียวสระเทินจะอดสู" แสดงให้เห็นความรอบคอบ มองการณ์ไกลไปโน่น  ก็คนยังไม่ตาย อะไรๆมันก็ไม่แน่ วันนี้ดูว่าดีเลิศประเสริฐศรี พรุ่งนี้มะรืนนี้อาจไปทำอะไรที่ตรงข้าม ประเภทฉลาดอยู่ดีๆ เผลออีกทีโง่เหลือเชื่อ ทีนี้ก็หน้าแตกเย็บไม่ติด คนก็คงจะสมน้ำมะหน้ากันไปทั่ว

ท่านจึงสอนไว้ว่าถ้าอยากจะสรรเสริญก็อดใจรอเอาไว้ให้ตายเสียก่อน ให้ชัวร์ๆว่าไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าๆโง่ๆ หรือเลวๆ แล้วค่อยสรรเสริญรวบยอด ถึงจะสายไปหน่อย แต่ก็เชื่อถือได้ คนฟังก็คงไม่คิดจะริษยา หรือหมั่นไส้อะไรแล้ว

มาถึงสมัยนี้  อะไร ๆ เปลี่ยนไปเยอะ

นักจิตวิทยาออกมาบอกว่า  ให้ขยันชมกันหน่อย  จะได้มีกำลังใจ  จะดีจริงไม่ดีจริงก็อย่าไปคิดอะไรมาก  แค่คำชมไม่ได้ซื้อหามาแต่ไหน  หรือประเภทรางวี่รางวัล  พอให้กันได้ก็ให้กันไปให้ทั่ว ๆ ใครมีอะไรต้องอวดต้องโชว์  จะเก็บไว้แบบ "คนไม่เห็น  เทวดาน่าจะเห็น"  เอาเข้าจริง  คนก็ไม่เห็น  ส่วนเทวดาเห็นหรือเปล่าก็ไม่รู้

ก็เลยกลายเป็นว่า  ไม่ว่าใคร  ที่ไหน ก็เลยโอ่อวดประกวดประชัน  เรียกได้ว่าเป็นยุคของคนอวดดี  ใครมีดีต้องอวดให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก

ทำอะไรสักนิดสักหน่อย  ก็ต้องป่าวประกาศให้ประชาชาติได้รับรู้  มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานกันเอิกเกริกทุกวงการ ตั้งแต่ระดับประเทศมาจนถึงรถเข็นขายเกี๊ยวบะหมี่ ก็ต้องโฆษณาสรรพคุณเอาไว้ก่อน จริงไม่จริงค่อยพิสูจน์กันทีหลัง

คนรับสารสมัยนี้จึงต้องรู้จักใช้กระชอนกรอง  เลือกว่าอะไรจริงไม่จริง  เชื่อได้มากน้อยแค่ไหน

ไม่อย่างนั้น  อาจจะหลงใหลได้ปลื้ม  ว่าเมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนา  เรามีรัฐบาลที่รักประชาชนมากมายเหลือเชื่อ  มีบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์  อีกหน่อยประเทศเราจะไม่มีคนจนอีกต่อไปแล้ว  แต่จะเหลือคนดีสักกี่คนไม่แน่ใจ  ไม่ว่าสินค้าอะไร  สถานที่ไหน ๆ อะไร ๆ ก็ดูดีไปหมด

รวมทั้งการศึกษาไทย  ก็ช่างก้าวหน้าสถาพร  แต่ละสถาบันก็ยกป้ายประกาศศักดา ล้วนแต่ดีเด่น  ยอดเยี่ยมไร้เทียมทาน  น่าส่งลูกหลานไปเรียนมันเสียทุกแห่ง  เรียนจบออกมาจะได้ดีเกินกว่าจะเป็นคน...  อะไรทำนองนั้น

ก็คงไม่ต้องทำตัวเป็นคนขี้หมั่นไส้ใครต่อใคร  เหมือนบรรดาเทวดาในกนกนคร
เอาเป็นว่า  ถึงตอนนี้  คงต้องใช้วิชาคณิตศาสตร์ให้มาก ๆ หน่อย  ฟังเขาว่า  ก็หารสักห้าสิบ

เหลือแค่ไหน  ก็คงแค่นั้นแหละ









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น