วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

ธรณีกันแสง

 ธรณีกันแสง

มีหนังอินเดียรุ่นแรก ๆ เรื่องหนึ่ง  ชื่อเป็นภาษาไทยว่า  ธรณีกันแสง  เนื้อเรื่องติดจะเว่อร์ตามสไตล์หนังยุคนั้น  ว่าด้วยเรื่องของครอบครัวชาวนาที่ต้องผจญกับภัยธรรมชาติสารพัดสารพัน  ทั้งนาแล้งนาล่ม  ต้องไปกู้เงินเศรษฐีหน้าเลือดมาต่อทุน  พอทำนาได้  เกี่ยวข้าวเสร็จเจ้าหนี้ก็มาขนข้าวไปจนหมดไม่มีเหลือแม้แต่จะกินเอง  เรียกได้ว่ารันทดสุด ๆ

ใครได้ดูหนังเรื่องนี้  จะต้องเกลียดไอ้เจ้าหนี้หน้าเลือด  สงสารครอบครัวชาวนา  และอาจเกิดความตระหนักกับสภาวะลูกหนี้  ทำให้คิดหลายตลบ  ก่อนจะตัดสินใจก่อหนี้

คนที่มีหนี้สิน  ไม่ว่าจะหนี้เวรหนี้กรรม  หรือหนี้ทรัพย์สินเงินทอง  ถือว่าไม่ได้เป็นไทแก่ตัว  ถึงจะหมดสมัยทาสนานแล้ว  แต่การเป็นหนี้ก็ไม่ต่างจากการเป็นทาส

ไปอ่านกฏหมายตราสามดวงก็จะรู้ว่า  นายทาสก็คือเจ้าหนี้  เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถใช้เงินคืนให้ได้  ก็ต้องเป็นทาสให้เขาใช้แรงงานแทนใช้เงิน  นายทาสจึงเรียกว่า  เจ้าสิน  หรือนายเงิน  ส่วนทาสก็ถูกกำหนดสถานะให้เป็นเหมือนทรัพย์สิน  เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าสินเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  เจ้าสินจะทำอะไร  ร้ายดีอย่างไรก็ได้

ถ้าโชคดี  เจ้าสินมีเมตตาก็ดีไป  แต่ถ้าไปเจอเจ้าสินโหด ๆ ก็ถูกกดขี่ข่มเหงสารพัดสารพัน  ใครก็ไม่อาจยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือได้  จะไปร้องแรกแหกกระเชอขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหน  มูลนิธิอะไร  ก็หมดสิทธิ์  ต้องก้มหน้ารับสภาพไปจนกว่าจะมีปัญญาหาเงินมาไถ่ถอน  หรือจนกว่าจะตาย

ในวรรณคดีไทย  อย่างเรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนที่ขุนไกรพ่อพลายแก้วถูกประหาร  ครอบครัวลูกเมียต้องถูกริบราชบาตรไปเป็นทาสหลวง  นางทองประศรีก็กลัวการตกเป็นทาส  พาลูกหนีหัวซุกหัวซุน  ลำบากอย่างไรก็ขอไปตายเอาดาบหน้า

ส่วนตัวละครที่ชีวิตพลิกผันให้กลายเป็นทาส  เช่น นางอมิตดา  ที่ต้องรับสภาพหนี้แทนพ่อแม่  กลายเป็นภรรยาทาสของชูชกขอทานชราร่างร้าย  ถูกเพื่อนบ้านดูถูกดูหมิ่นต่าง ๆ นานา  หรือนางแก้วกิริยา ลูกสาวเจ้าเมืองสุโขทัยที่ต้องกลายเป็นทาสในเรือนขุนช้าง  เพราะพ่อสร้างหนี้แล้วไม่มีปัญญาใช้  แม้จะไม่รันทดเท่าไหร่  แต่ก็นับเป็นตัวอย่างของคนที่พ่อแม่สร้างหนี้  แล้วลูกต้องมาชดใช้แทน


เรื่องของการเป็นหนี้เป็นสิน  ใช้เงินเกินตัว ไม่ใช่ค่านิยมของสังคมไทยแต่ดั้งเดิม

สังคมไทยมีคำสอนคำเตือนเรื่องการประหยัด  เช่น  เก็บเล็กผสมน้อย  เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน  เบี้ยสามบาทอย่าให้ขาดชายพก  รวมทั้งคำกลอนสอนใจ  เช่น  มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท  อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์  มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง  อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน

และไม่ให้หวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  มองไม่เห็น  เช่น  ชี้นกบนปลายไม้  ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก  ไม่เห็นกระรอกก่งหน้าไม้  สร้างวิมานในอากาศ ฯลฯ

มาถึงยุคนักธุรกิจสมัยใหม่  เกิดค่านิยมใหม่  เรื่องการใช้เงินของอนาคต  คือเงินที่ยังไม่มี  และก็ไม่แน่ว่าจะมี  แต่กู้เอามาใช้่ก่อน  มองโลกด้านบวกๆๆๆ ว่าทุกอย่างจะเป็นอย่างที่ฝัน  ลงทุนแล้วจะได้แต่กำไรๆๆๆ กลายเป็นเศรษฐี  หมดหนี้หมดสิน

และไม่ยอมมองด้านลบแม้แต่เพียงสักแว่บเดียวว่า  มันอาจไม่เป็นอย่างที่คิด  สถานการณ์อาจเปลี่ยนไป  ลงทุนแล้ว  อาจต้นทุนหาย  กำไรหด  ดอกเบี้ยบานเบิก  ไม่มีปัญญาผ่ิอนใช้  แล้วเจ้าหนี้หน้าเลือดจะมาทวงถาม  บังคับขู่เข็ญให้ใช้คืน  ไม่มีก็ต้องดิ้นรนขวนขวายตะเกียกตะกายหา  ทำงานเท่าไหร่ก็กลายเป็นของคนอื่นไปจนหมดจนสิ้น  เหมือนชาวนาน่าสงสารในหนังธรณีกันแสง  ยังไงยังงั้น


ผลการสำรวจสภาพหนี้ของคนไทยปัจจุบันจึงพบว่า  คนไทยมีหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นพรวด พราด  ส่วนการออมมีอยู่น้อยนิด

คนไทยเริ่มเคยชินกับการกู้ยืม  ใช้เงินของอนาคต

ตอนเรียน  กู้กองทุนยืมเงินมาเรียน  นั่นก็พอมีเหตุมีผล

เริ่มทำงาน  เริ่มก่อหนี้  สารพัดบัตรเครดิตยั่วให้ใช้เงินเกินตัว  สถาบันเงินกู้ประชาสัมพันธ์แข่งกันให้กู้

ตามมาด้วยนโยบายรถคันแรก  บ้านหลังแรก  ทั้งแจกทั้งแถม  เร่งเร้าให้ก่อหนี้กันเอิกเกริก

ยังไม่สะใจ  ต้องกู้กันทั้งแผ่นดิน  ระดับชาติก็เลยกู้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง  ด้วยจำนวนเงินมากมายมหาศาล  และระยะผ่อนหนี้ยาวนานถึงครี่งศตวรรษ

ช่วยให้คนไทยกลายเป็นทาสน้ำเงินอย่างทั่วถึง  และยาวนานเกือบตลอดชาติ

ไม่ว่าใครก็ย่อมรู้ว่า  ระบบเงินกู้ไม่ว่าที่ไหน  ยิ่งเงินมาก  ระยะเวลานาน  ดอกเบี้ยยิ่งบานสะพรั่งท่วมทับทวีไม่รู้จักกี่เท่าต่อกี่เท่า

ประเทศใหญ่ ๆ ที่ใช้เงินเกินตัวจนไม่มีใครให้กู้  กำลังจะล้มละลายขายประเทศให้เห็นตัวอย่างกันอยู่ตำตา

ยิ่งคิดก็ยิ่งสะท้อนใจ

อนาคตคนไทยยุคทาสน้ำเงิน  ที่ต้องแบกรับสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว  อาจใกล้เคียงธรณีกันแสงภาคสอง








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น