วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

นิมิตพิสดาร

นิมิตพิสดาร

กรุงเทพเมืองฟ้าอมร  ชักจะร้อนหนักหนาสาหัสขึ้นทุกที

สาเหตุตามที่เขาว่าก็เพราะโลกร้อน  ส่วนสาเหตุที่โลกร้อนก็เพราะคนช่วยกันทำให้ร้อนด้วยวิธีการต่าง ๆ เลยยิ่งนับวันก็จะยิ่งร้อนขึ้นเรื่อย ๆ
และสาเหตุที่คนยังทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ   ก็เพราะความเห็นแก่ตัว  ความต้องการที่ยิ่งนับวันยิ่งทวีขึ้น  ยั้งไม่หยุด  ฉุดไม่อยู่

เมื่อก่อนนี้  ประเทศไทยมีสามฤดู  และฤดูกาลต่าง ๆ ก็น่าจะคงเส้นคงวา  เพราะยังมีถ้อยคำสำนวนไทย ๆ ที่บ่งบอกฤดูกาลที่เปลี่ยนไป เช่น  ลมโยกข้าวเบา  ลมว่าว  ฝนชะช่อมะม่วง  ฝนเดือนหก หรือ เดิือนสิบเอ็ดน้ำนอง  เดือนสิบสองน้ำทรง  พอเดือนอ้ายเดือนยี่  น้ำก็รี่ไหลลง ฯลฯ

มาถึงสมัยนี้ ดินฟ้าแปรปรวน  บางวันมีสามฤดู  ทั้งร้อน  หนาว  ฝน

ยิ่งไปกว่านั้น  ดีกรีความร้อนยิ่งนับวันยิ่งร้อนหฤโหด  จนมีคนบอกว่าอีกหน่อย  เมืองไทยคงจะมีแค่สองฤดู  คือ  ร้อน  กับร้อนชิบ...

ทำให้ย้อนคิดไปถึงเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา  ที่กล่าวถึง "นิมิตพิสดาร"  คือลางบอกเหตุ  ที่จะเกิดขึ้นก่อนสิ้นพุทธศาสนาว่า
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม
มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น
มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด
จะวิบัติทั่วทั้งสากล


นอกจากนั้น "นิมิตพิสดาร" ก็ยังปรากฏให้เห็นในบรรดาผู้คน  ที่ประพฤติวิปริตผิดแผกไปจากที่เคยเป็น  เช่น

คนชัี่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก
จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ
นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าอันน้อยจะถอยจม

สังคมไทยแต่ดั้งเดิม  เป็นสังคมที่ค่อนข้างจะมีระเบียบแบบแผน  ยกย่องให้เกียรติผู้หลักผู้ใหญ่  นับถือคนที่สูงกว่าด้วยชาติวุฒิ  คุณวุฒิ  และวัยวุฒิ  นับถือคนดีมีศีลธรรม  เมื่ออะไร ๆ เป็นไปตามระเบียบแบบแผน  สังคมก็สงบรุ่มเย็น

แต่ถ้าอะไร ๆ มันวิปริตผิดประหลาดไปจากที่ควรจะเป็น  ไม่ว่าจะเป็นทำชั่วแล้วได้ดี  หยาบหยามคนที่ไม่ควรหยาบหยาม  ยกย่องคนที่ไม่ควรยกย่อง  ก็เชื่อกันว่าเป็นอาเพศ  ซึ่งเป็นลางร้าย  สิ่งที่จะติดตามมาก็คือผลร้ายๆ  ซึ่งในเพลงยาวพยากรณ์  กล่าวถึงเหตุร้ายที่จะตามมา  ก็คือ

กรุงประเทศราชธานี
จะเกิดกาลกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล
จะสาละวนทั่วโลกทั้งหญิงชาย
จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์
จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์มากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย
ฝูงคนจะล้มตายกันเป็นเบือ

"กาลกุลี"  หรือ "ยุคมืด" ที่ว่านี้ ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะล่ม  ว่ากันว่ามีปรากฏให้เห็นอยู่เหมือนกัน

แล้วท้ายที่สุด  กรุงศรีิอยุธยา  ซึ่งเคย "...เกษมสุข  แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์"  ก็กลายเป็น "เมืองแพศยาอาธรรม์  นับวันจะเสื่อมสูญเอยฯ " ไปตามคำพยากรณ์

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา  หลายคนเคยอ่านเคยได้ยิน  แต่มักไม่ค่อยเก็บมาคิดอะไรมาก  นอกจากจดจำบางคำบางตอนเอาไว้ค่อนขอดคนเล่น  เช่น  "กระเบื้องเฟื่องฟูลอย" เพราะเป็นสิ่งที่ชักจะเห็นกันอยู่บ่อย ๆ

ความจริง  ตำราพยากรณ์  หรือตำราหมอดู  หลายต่อหลายตำรามาจากการเก็บสถิติ  ไม่ว่าจะเป็นโหงวเฮ้ง    ฮวงจุ้ย  ตำรานรลักษณ์ ฯลฯ  เหมือนที่ชาวบ้านก็สังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติ  จนสามารถพยากรณ์ได้ว่า  ถ้ามีปรากฏการณ์อย่างนี้อย่างนั้น  ต่อไปจะเป็นอย่างไร  เช่น  ฟ้าแดง  ก็จะเกิดพายุใหญ่  มดขนไข่ฝนจะตก ฯลฯ อะไรทำนองนั้น

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา  แม้จะระบุว่าเป็นการพยากรณ์พระพุทธศาสนา  แต่รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุอาเพศต่าง ๆ ก่อนจะสิ้นพระศาสนา  ก็เข้าเค้ากับความเชื่อเรื่องโชคลาง  เหตุอาเพศ  ที่กล่าวถึงไว้ในตำราอื่น ๆ

ซึ่งถ้าจะว่าไป  ของมันก็เห็น ๆ กันอยู่

ถ้าดินฟ้าอากาศมันวิปริต  พืชพันธุ์ธัญญาหารก็ย่อมเสียหาย

ถ้าผู้คนทำอะไรที่ผิดทำนองคลองธรรม  ประเภทของดีว่าเน่า  ขี้เต่าว่าหอม  กลับผิดให้เป็นถูก ฯลฯ บ้านเมืองก็ย่อมเดือดร้อน

ไม่ว่าจะกรุงศรีฯ หรือกรุงไหน ๆ  จะศักราชห้าพัน  หรือสองพันห้าร้อย
ก็คงไม่พ้น "กาลกุลี" หรือ "ยุคมืด" ตามคำพยากรณ์













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น